ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 60 เวลา 09.30 น. หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) ระหว่าง นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานให้มีทักษะได้มาตรฐานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เป็นต้น
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรลงาน เปิดเผยหลังจากการลงนามความร่วมมือดังกล่าวว่าจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor--EEC) ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก รองรับการเป็นฐานการผลิต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ แขนกล ปัญญาประดิษฐ์และระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั้น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ได้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็น Brain Power ใน 20 ปีข้างหน้าตามยุทธศาสตร์ 20 ปี กระทรวงแรงงาน ของพลเอกศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และยุทธศาสตร์ชาตินั้น กพร. ได้มีการตอบสนองโครงการดังกล่าวด้วยการขับเคลื่อนกลไกต่างๆ
ล่าสุดได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Manufacturing Automation and Robotics Academy: MARA) ในหน่วยงานสังกัดกพร. สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด 3 แห่ง
นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่าสถาบัน MARA วัตถุประสงค์ก็เพื่อเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานในอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร พลาสติก แม่พิมพ์ เป็นต้น ให้มีทักษะได้มาตรฐานทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงรองรับการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล
โดย แผนการดำเนินงานร่วมกันจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่หนึ่งช่วง 1-3 ปี เน้นพัฒนาทักษะแรงงานในสถานประกอบกิจการในการเพิ่มทักษะการทำงาน การซ่อมบำรุง การเขียนโปรแกรม เพื่อรองรับโรงงาน/สถานประกอบกิจการที่ต้องการปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบ เทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ทดแทนการผลิตแบบเดิม โดยเน้นนำนักศึกษาอาชีวะมาฝึกอบรมในระบบทวิภาคีเพื่อพัฒนาแรงงานใหม่ให้มีทักษะและความรู้ก่อนป้อนสู่ตลาด ระยะที่สองช่วง 3-5 ปี เน้นด้านวางแผนการผลิตวิเคราะห์กระบวนงาน ออกแบบ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และระยะที่สาม ช่วง 5-10 ปี มุ่งสู่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
ทั้งนี้เน้นส่งเสริมการพัฒนากำลังคนเพื่อผลิตหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลระบบ Automation ให้เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และยกระดับแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือชั้นสูง รองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่อุตสาหกรรม 4.0 และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ พร้อมกับร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้กับครูฝึกของ กพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แรงงานต่อไป ณ ห้อง Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ
**********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น