pearleus

วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

จังหวัดนครปฐมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูมะพร้าว ซึ่งในขณะนี้กำลังระบาดในจังหวัดนครปฐมและอีกหลายจังหวัด


จังหวัดนครปฐมจัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ป้องกันกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูมะพร้าว ซึ่งในขณะนี้กำลังระบาดในจังหวัดนครปฐมและอีกหลายจังหวัด ด้วยวิธีการผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน

วันที่ 11 พฤษภาคม 2560 ที่บริเวณศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 8 ตำบลสามพราน อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม นายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายอำเภอสามพราน เกษตรจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ เกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชน ร่วมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โครงการป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำ ศัตรูมะพร้าว ซึ่งในขณะนี้กำลังระบาดในจังหวัดนครปฐมและอีกหลายจังหวัด สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนมาก โดยนายบุญเลี้ยง ข่ายม่าน เกษตรจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ปลูกมะพร้าว จำนวน 7,112 ไร่ มีพื้นที่การระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว จำนวน 121.48 ไร่ ซึ่งศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะหนอนหัวดำ หากไม่ป้องกันและกำจัดที่ดี จะทำให้ผลผลิตมะพร้าวลดลง และรายได้ของเกษตรกรก็ลดลงตามไปด้วย

สำหรับการจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำในครั้งนี้ เป็นการกำจัดด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และท้องถิ่น เพื่อรณรงค์ให้เกษตรกรปฏิบัติตามมาตรการป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน บูรณาการร่วมกับงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี และการบริการเกษตร เพื่อเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ ปี 2560 เพื่อถ่ายทอดความรู้ และให้บริการแก่เกษตรกรในชุมชนให้ได้รับความรู้ เข้าถึงปัจจัยการผลิต ลดความเสี่ยงในการบริหารจัดการ และให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีการจัดสถานีการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกร ได้แก่ การจัดการวัสดุจากมะพร้าวเพื่อการปรับปรุงบำรุงดิน การจัดการหนอนหัวดำโดยชีววิธี การกำจัดหนอนหัวดำโดยใช้สารเคมีและการให้ความรู้ด้านกฎหมาย การผลิตและใช้แตนเบียนบราคอนในการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว โดยศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน นอกจากนี้ ผู้ว่าราชารจังหวัดนครปฐม ได้มอบแตนเบียนบราคอนให้แก่ตัวแทนเกษตรกรทั้ง 7 อำเภอ และร่วมปล่อยแตนเบียนบราคอนบริเวณแปลงเรียนรู้การควบคุมศัตรูพืช ซึ่งเป็นการกำจัดโดยวิธีทางธรรมชาติ โดยแตนเบียนบราคอน จะไปทำลายหนอนหัวดำ และวางไข่ฝังในตัวหนอนหัวดำ และเกิดใหม่เพื่อไปทำลายหนอนหัวดำต่อไป โดยไม่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรแต่อย่างใด


















0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น