เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 60 เวลา 11.00 น. นายไมตรี อินทุสุต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) พร้อมด้วย นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และนางรัตนา สัยยะนิฐี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านสตรี ซึ่งเป็นผู้แทนอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ให้การต้อนรับผู้แทนสภาเด็กและเยาวชน ผู้แทนกลุ่มองค์กรด้านเด็กและสตรี และกลุ่มเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง นำโดย นายปุณณพัทธ์ อรุณิชย์ตระกูล ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และนายอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ อดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเครือข่ายในการทำงานในพื้นที่ร่วมกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) เพื่อเสนอมาตรการตรวจสถานบริการ และพื้นที่เสี่ยงในการป้องกันปัญหาสังคมด้านเด็กและสตรี ณ บริเวณชั้น 5 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ
นายไมตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในทุกเวที เพื่อร่วมเสนอความคิดเห็นและร่วมจัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก สภาเด็กและเยาวชน นับว่าเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ ในการเป็นศูนย์กลางการส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาตนเองชุมชน สังคม ตลอดจนการเฝ้าระวังปัญหาที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน และปัญหาสังคมอื่นๆ ตามแนวคิด “เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน” ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีการปรับแก้พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้เร็วๆ นี้ เพื่อขยายการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนให้ทั่วถึงในระดับพื้นที่
โดยรัฐบาลได้เน้นย้ำให้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสภาเด็กและเยาวชน เป็นกลไกเครือข่ายสนับสนุนทางสังคม โดยให้มีการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนครอบคลุมทุกระดับในพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล เทศบาล อำเภอ จังหวัด เขตกรุงเทพมหานคร และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย
ปลัดพม.กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการค้าประเวณี เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีผลกระทบอย่างยิ่งต่อสังคม โดยเฉพาะเด็กและสตรี กระทรวง พม. ขอชื่นชมสภาเด็กและเยาวชน ที่ได้ร่วมกับเครือข่ายด้านสตรีและเด็ก ออกแถลงการณ์เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ปกป้อง คุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นภารกิจ เป็นขบวนการทางสังคม (Social movement) ร่วมสร้างสรรค์การคุ้มครองทางสังคมในทุก ๆ ประเด็น และกระทรวง พม. อยากจะให้สภาเด็กและเยาวชนเป็นกลไกสร้างความปรองดอง ให้เป็นสังคมสมานฉันท์ ลดความเหลื่อมล้ำต่อไป โดยเป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ร่วมกับ One Home ของกระทรวง พม. ในจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์ สถาน บ้าน นิคม
ทั้งนี้ กระทรวง พม. ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบันที่มีเด็ก สตรีถูกล่อลวง ค้าบริการในพื้นที่ ได้ขอความร่วมมือไปทุกจังหวัด และหน่วยงานในสังกัด พม. ในพื้นที่ ดำเนินการให้บังเกิดผล โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นสำคัญในการบูรณาการ ตามแนวทางประชารัฐ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง ในการหมั่นออกตรวจสถานบริการและพื้นที่เสี่ยง เช่น สถานบริการ บ้านเช่า หอพัก และร่วมกับชุดปฏิบัติการจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการจังหวัด ในการออกตรวจและให้การคุ้มครองเด็ก สตรีในกลุ่มสี่ยง ตามบทบาทหน้าที่ของ พม. โดยให้เพิ่มความถี่ในการปฏิบัติการในแต่ละสัปดาห์ ตลอดจนการส่งเสริมและสร้างการรับรู้แก่เด็กและเยาวชน ครอบครัว และชุมชน และให้ความสำคัญในการคุ้มครองเด็ก และสตรีในครอบครัวกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การช่วยเหลือ ดูแลสวัสดิการต่าง ๆ และเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการถูกล่อลวง
“เราย้ำว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประกอบด้วย 1) การศึกษาที่ทั่วถ้วน เป็นภูมิคุ้มกันที่มีคุณค่า 2) กฎหมาย มีการบังคับใช้กฎหมายที่เสมอภาค เป็นธรรม จริงจัง 3) กลไกของรัฐ ทั้งองค์กรที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ของรับต้องไม่เพิกเฉย จริงจังในการปฏิบัติหน้าที่ 4) กระบวนการบูรณาการ ที่รอบด้าน ร่วมมือกัน เอาเป้าหมายและพื้นที่เป็นที่ตั้ง” นายไมตรี กล่าวในตอนท้าย
##########################
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น