pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

โฆษกมหาดไทยเผยความคืบหน้าการแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแผนปี 60 ย้ำเดินหน้าเข้มข้นทุกมาตรการตามนโยบายรัฐบาล เป้าหมายลดผู้เข้าสู่การกระทำผิดและนำคนออกจากวงจรยาเสพติด


เมื่อ 25 พ.ค.60 นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดปี 2560 ซึ่งได้มีการดำเนินการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยเฉพาะการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การบำบัดรักษา โดยได้มีการบริหารจัดการอย่างบูรณาการตามนโยบายรัฐบาลมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณผู้เข้าสู่การกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และนำคนออกจากวงจรการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เห็นผลอย่างชัดเจนจนไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง
     กระทรวงมหาดไทยขอเรียนให้ทราบถึงผลความคืบหน้าการดำเนินงานในปี 2560 ซึ่งที่ผ่านมาได้เน้นการทำงานเชิงรุก และการเข้าถึงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนปฏิบัติการในระดับพื้นที่ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความเป็นจริง มีกลไกของฝ่ายปกครอง ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ทำหน้าที่อำนวยการในพื้นที่เพื่อสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกันในสังคม และการบำบัดรักษาตามแนวทางสาธารณสุขนำบนฐานคิดที่ว่า ผู้เสพ คือ ผู้ป่วยเพื่อคืนคนดีสู่สังคม สอดคล้องกับนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ของรัฐบาล มีโครงการสำคัญที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้ 1. โครงการเยาวชนอาสารักษาดินแดนต้านภัยยาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยอบรมเยาวชนแกนนำต้านภัยยาเสพติดคัดเลือกจากเยาวชนที่มีอายุ 15 - 25 ปี ที่เห็นว่าจะเป็นผู้สามารถนำมาพัฒนาให้เป็นผู้นำ หรือเป็นแนวร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อป้องกันยาเสพติดในพื้นที่ได้ แล้วนำมาฝึกอบรมในหลักสูตรเพื่อให้กลุ่มเยาวชนเหล่านี้มีความเข้าใจถึงโทษภัยของยาเสพติด นำไปขยายผลและร่วมเฝ้าระวังไม่ให้ปัญหายาเสพติดเข้ามาสู่หมู่บ้าน/ชุมชนของตนเองซึ่งเป็นการลดและป้องกันผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดรายใหม่ ปัจจุบันมีเยาวชนผ่านการฝึกอบรมไปแล้ว จำนวน 15,900 คน ในพื้นที่ทั่วประเทศ 2. การสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติดอย่างยั่งยืน โดยเสริมสร้างพลังสังคมและพลังชุมชนเอาชนะยาเสพติด โดยมีชุดปฏิบัติการประชารัฐทั้งระดับอำเภอ ระดับตำบล ลงพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกับคนในชุมชนตามแผน 9 ขั้นตอน มีเป้าหมายสูงสุด คือ การสร้างชุมชนเข้มแข็งโดยทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนของตนเอง ช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้ยาเสพติดหวนกลับมาอีกซึ่งถือเป็นภูมิคุ้มกันยาเสพติดระยะยาว ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559–ปัจจุบัน มีการดำเนินการรวมทั้งสิ้น จำนวน 59,131 หมู่บ้าน/ชุมชน 3. โครงการติดตามช่วยเหลือสร้างอาชีพและสงเคราะห์ผู้ผ่านการบำบัด เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขและกลับคืนเป็นคนดีของสังคม โดยให้ความช่วยเหลือไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 12,332 คน แบ่งเป็น การฝึกอาชีพ จำนวน 5,440 คน จัดหางานให้ จำนวน 987 คน จัดหาทุนการศึกษา จำนวน 536 คน ให้ทุนประกอบอาชีพ จำนวน 338 คน และช่วยเหลืออื่นๆ จำนวน 4,976 คน  4. โครงการจัดระเบียบสังคมแบบบูรณาการป้องกันยาเสพติด โดยฝ่ายปกครองได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปราม จับกุมผู้กระทำผิดคดียาเสพติดอย่างจริงจังทุกพื้นที่ ควบคู่กับการจัดระเบียบสังคม กวดขันสถานบริการ สถานบันเทิง โรงแรม สถานที่ที่อาจเป็นแหล่งมั่วสุมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งการใช้มาตรการยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งระบบเพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด และ 5. ขับเคลื่อนและขยายผลโครงการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ปัจจุบันมีจำนวนกว่า 15,494 แห่ง ในปีนี้มีเป้าหมายขยายเพิ่มจำนวน 878 แห่ง 

     รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการบำบัดฟื้นฟู กระทรวงมหาดไทยได้นำผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดในระบบสมัครใจ โดย ค่ายศูนย์ขวัญแผ่นดินซึ่งมีกระบวนการตามหลักสูตรและมาตรฐานของสาธารณสุข ในปีนี้มีผู้เข้ารับการบำบัดครบหลักสูตรจำนวน 19,693 คน ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้กำชับให้ชุดปฏิบัติการจัดระเบียบสังคมเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบ การบังคับใช้กฎหมายกับสถานบริการ สถานบันเทิง โดยสนธิกำลังร่วมกันระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ควบคุม กวดขัน ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายของรัฐบาล 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น