pearleus

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงมหาดไทยสั่งการด่วนทุกจังหวัดรับมือภัยแล้ง โดยน้อมนำแนวพระราชดำริบูรณาการบริหารจัดการน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนด้วยกลไกประชารัฐ

 
วันนี้ (7 พ.ค. 60) ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่ในขณะนี้ได้เกิดพายุฤดูร้อนและเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ประกอบกับจากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณฝนตกมากกว่าทุกปี และจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงเดือนมิถุนายน 
     เพื่อเป็นการกักเก็บรักษาน้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงนี้ไว้ใช้ในช่วงที่อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วง หรือขาดแคลนน้ำ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและมีความห่วงใยประชาชนในเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการกำชับให้ทุกจังหวัดนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และประสบการณ์การแก้ปัญหาด้านน้ำในพื้นที่มาทบทวนและเพิ่มความระมัดระวังในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งเร่งสร้างแหล่งกักเก็บน้ำโดยบูรณาการทุกภาคส่วนดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร่งด่วน ดังนี้
     1. ให้น้อมนำแนวทางการบริหารจัดการน้ำตามพระราชดำริและนำความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่นตลอดจนหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำโดยให้ดำเนินการสำรวจและดัดแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่ อาทิเช่น ทางน้ำไหลเดิม หรือเหมืองฝายที่ตื้นเขินหรือที่ราบลุ่มเชิงเขา หรือแอ่งน้ำเดิมมาทำเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใหม่ เช่น เหมืองฝายชะลอน้ำ/หลุมขนมครกหรือแก้มลิง คลองไส้ไก่ เป็นต้น และเร่งสร้าง/ปรับปรุง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำเดิมประจำหมู่บ้าน/ชุมชนให้ใช้การได้ตามปกติหรือการชักน้ำหรือนำน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาใช้ในพื้นที่ และจัดหาภาชนะเก็บน้ำหรือไซโลน้ำเพิ่มเติม ทั้งนี้ ในการก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำดังกล่าว อาจใช้วัสดุตามธรรมชาติในพื้นที่หรือจัดซื้อวัสดุก่อสร้างบางส่วน แล้วมอบหมายให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) ประจำอำเภอ/จังหวัด เป็นกำลังหลักในการก่อสร้าง และเชิญชวนอาสาสมัครภาคประชาชนเข้าร่วมก่อสร้างด้วย เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและปลุกจิตสำนึกความเป็นเจ้าของโครงการร่วมกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
     2. ให้ประสานกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่งซึ่งอยู่ในทุกภูมิภาค และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรภาคประชาสังคมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ รวมถึงผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้หรือภูมิปัญญาเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำมาเป็นวิทยากรในการแนะนำและสอนวิธีการจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำดังกล่าวข้างต้นให้แก่ประชาชนหรือภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ
     3. ให้นำสถานการณ์การขาดแคลนน้ำหรือประสบการณ์ปัญหาการใช้น้ำในปีก่อนๆ มาปรับปรุงแก้ไข แล้วจัดทำเป็นแผนบริหารการใช้น้ำ โดยเชิญผู้รับผิดชอบในพื้นที่ที่เคยมีหรืออาจมีความขัดแย้งในการใช้น้ำมาเป็นกรรมการผู้ใช้น้ำประจำหมู่บ้าน/ชุมชนภายใต้การดูแลของกำนัน/ผู้ใหญ่บ้านหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วร่วมกันหาวิธีหรือมาตรการแบ่งปันน้ำที่ผู้ใช้น้ำในหมู่บ้าน/ชุมชนยอมรับ เพื่อนำมากำหนดเป็นกฎกติกาในการใช้น้ำจากแหล่งกักเก็บน้ำ และรณรงค์ประชาสัมพันธ์การใช้น้ำอย่างประหยัดหรือรณรงค์โครงการปลูกพืชใช้น้ำน้อย โดยให้พิจารณากลุ่มเกษตรกรที่เคยเข้าร่วมโครงการมาแล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการขยายผลหรือเครือข่ายออกไปให้มากขึ้น และวางแผนการแจกจ่ายน้ำของการประปาส่วนภูมิภาคหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ครอบคลุมพื้นที่ขาดแคลนน้ำด้วย 
     4. ให้พิจารณามอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดจังหวัดตามความเหมาะสม เป็นหัวหน้าคณะทำงานบริหารจัดการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ร่วมกับนายอำเภอ ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำในจังหวัด โครงการชลประทาน/โครงการบำรุงรักษาน้ำจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน หรือภาคประชาชน หรือกลุ่มผู้ใช้น้ำ เป็นต้น เพื่อร่วมกันติดตามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำประจำจังหวัด 
     5. ให้พิจารณาขอใช้งบประมาณด้านป้องกันภัยตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดตามแผนพัฒนาจังหวัด งบประมาณเหลือจ่ายจากโครงการแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ หรืองบประมาณของส่วนราชการต่างๆ (Function) รวมทั้งให้ประสานงานกับภาคเอกชนที่มีงบประมาณดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม (CSR) ในการพิจารณาสนับสนุนโครงการจัดทำแหล่งเก็บน้ำข้างต้นในนามโครงการประชารัฐด้วยก็ได้
     สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมแรง ร่วมใจ และร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน กลไกประชารัฐจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การบริการจัดการน้ำมีความเพียงพอ ต่อเนื่อง และเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง โดยกระทรวงมหาดไทยจะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยตรวจติดตามเพื่อเร่งรัดการดำเนินการแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ด้วยอีกทางหนึ่ง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น