pearleus

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พม. จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 3/2559

เมื่อวันที่  23 พ.ย. 59 เวลา 13.30 น. พลเรือเอก ณรงค์  พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) ครั้งที่ 3/2559 ณ ห้องประชุมประยูร ภมรมนตรี ชั้น 3 อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
     พลเรือเอก ณรงค์ กล่าวว่า การประชุม กยส. เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาเสนอนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนชาติเกี่ยวกับการส่งเสริมและประสานงานสตรีต่อคณะรัฐมนตรี และกำหนดแนวทางปฏิบัติตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงติดตามประเมินผลความก้าวหน้าและรายงานผลการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสถานภาพสตรี ตลอดจนเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างกระทรวง และภาคส่วนต่างๆ  ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนงานให้บรรลุผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น
     พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะรองประธานคนที่ 1 กล่าวว่า การประชุม กยส. ครั้งที่ 3/2559 ในวันนี้ มีวาระการประชุมที่สำคัญคือ การพิจารณาร่างแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ซึ่งแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 - 2559) จะหมดวาระลงในปี 2559 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย ประธานกรรมการ กยส. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนพัฒนาสตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) เพื่อดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับที่ 12 โดยมีทีมที่ปรึกษาจากสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการยกร่างแผนพัฒนาสตรีฯ มีการเก็บข้อมูลทบทวนสถานการณ์สตรีจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholder) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานวิจัย และเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงร่างแผนพัฒนาสตรี ฯ ฉบับที่ 12 เป็นฉบับสมบูรณ์นำเสนอต่อคณะกรรมการ กยส. เพื่อพิจารณา และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านสตรี ในช่วงปี 2560 – 2564 และหลังจากนั้นจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับที่ 12 ต่อไป
     โดยร่างแผนพัฒนาสตรีฯ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดวิสัยทัศน์ คือ “สร้างสังคมเสมอภาคปราศจากการเลือกปฏิบัติ สตรีมีคุณภาพชีวิตที่ดีมั่นคงปลอดภัย ร่วมสร้างชาตินำสมัย” ซึ่งมีวัตถุประสงค์โดยสรุปคือ เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัย มีเจตคติที่เคารพความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม มีความยุติธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ โดยกำหนดแนวทางในร่างแผนพัฒนาสตรีไว้ 5 ยุทธศาตร์ เพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศ และความจำเป็นในการดำเนินการ เพื่อสร้างสังคมที่เท่าเทียมกัน และเผชิญกับประเด็นท้าทายต่าง ๆ ดังนี้
     ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับเปลี่ยนเจตคติของสังคมในประเด็นความเสมอภาคเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชาย
     ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมพลัง เพิ่มบทบาท และพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่สตรีทุกกลุ่ม และทุกระดับ
     ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาเงื่อนไขและปัจจัยที่เอื้อต่อการพัฒนาสตรีที่มีประสิทธิผลและเสมอภาค
     ยุทธศาสตร์ที่ 4 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ และเยียวยา
     ยุทธศาสตร์ที่ 5 สร้างความเข้มแข็งของกลไก และกระบวนการพัฒนาสตรี
     ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นแนวทางการขับเคลื่อนในระดับนโยบาย เพื่อให้คนไทยทุกเพศทุกวัยให้มีเจตคติที่เคารพ  ความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย พัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรมืา มีความยุติธรรม และปราศจากการเลือกปฏิบัติ พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวในตอนท้าย



พลเรือเอก ณรงค์  พิพัฒนาศัย 

พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น