pearleus

วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สค.พม. จับมือกมธ.สตรีฯ ยุติความรุนแรงเน้นแก้ปัญหา

 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 59  เวลา 08.45 น. คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ร่วมกับ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดการสัมมนาวิชาการ เรื่อง  รวมพลังยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กโดย นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการสังคมกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส คนที่สอง และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา และประธานในพิธีถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดย นายวิศิษฐ์ เดชเสน รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงานและขอบคุณคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ณ ห้องกรุงธน โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพมหานคร  นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีสากล และในประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายนให้สังคมได้ตระหนักและร่วมกันขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป โดยใช้สัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายจะประดับไว้บนปกเสื้อเพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรีทุกรูปแบบ แต่ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย
                 นายวิศิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลานาน ปัจจุบันสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวได้ขยายวงกว้างขึ้นและมีระดับของความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2559 มีข้อมูลปรากฏชัดเจนว่า กว่า ร้อยละ 80 ของผู้กระทำความรุนแรง เป็นคนใกล้ชิด เป็นคู่สมรสหรือเป็นบุคคลในครอบครัว และมีการกระทำความรุนแรงหลายรูปแบบทั้งทางร่างกาย ทางจิตใจ ทางวาจา และทางเพศ เช่น การทำร้ายร่างกาย การบังคับจิตใจ การข่มขู่ การใช้วาจาด่าว่า การข่มขืนกระทำชำเรา และการกระทำอนาจาร เป็นต้น การกระทำเหล่านี้ล้วนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อความมั่นคงของชีวิต เป็นอุปสรรคในการพัฒนาของผู้หญิง และการสร้างสังคมที่สันติสุข รวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในการดำรงชีวิตที่มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ รองอธิบดีฯสค.กล่าวด้วยว่า ในฐานะที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลการป้องกันแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีและบุคคลในครอบครัวขอขอบคุณคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดย คณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว และได้ดำเนินโครงการสัมมนาวิชาการ เรื่อง รวมพลังยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กในวันนี้ขึ้น เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพลังของบุรุษที่ติดริบบิ้นสีขาว ที่ไม่นิยมการกระทำความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก และพลังของทุกภาคส่วนของสังคม  เพื่อให้หน่วยงานรัฐภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมพลังเพื่อยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ซึ่งตนคิดว่าหากทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าวและร่วมกันขจัดและลดทอนปัญหาความรุนแรงในสตรี  เด็ก และบุคคลในครอบครัว ตนเชื่อว่าจะทำให้ปัญหาดังกล่าวหมดสิ้นไปได้

              สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การเสวนา รวมพลังยุติความรุนแรงต่อสตรีและเด็กโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล  ศาสตราจารย์วันทนีย์ วาสิกะสิน ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี  นักแสดง/ผู้ประกาศข่าว นายสุกิจ นรินทร์ ผู้กำกับภาพยนตร์ดำเนินรายการ โดย นายสุรวัฒน์ ชมภูพงษ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการกิจการสตรี ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน องค์กรภาคประชาชน คนพิการ สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชน จำนวน 200 คน







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น