สภาการศึกษาภูเก็ต เดินหน้าเปลี่ยนค่านิยมครู-ผู้ปกครอง
เปิดทางเลือกการเรียนรู้สู่โลกกว้างการประกอบอาชีพ
สภาการศึกษาจังหวัดภูเก็ต เดินหน้าขยายผลการดำเนินงานเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นสู่โลกการทำงานในสายอาชีพ หลังประสบความสำเร็จจากการจัดมหกรรมเปิดโลกสัมมาชีพ จนทำให้อัตราการเรียนต่อในสายอาชีวะเพิ่มขึ้นถึง 30 % เตรียมระดมพลังคนภูเก็ตจัดมหกรรมฯครั้งที่ 2 ปลายปี
นายบัณฑูร ทองตัน ประธานสภาการศึกษาภูเก็ต เปิดเผยว่าจากการสำรวจความต้องการของตลาดแรงงานของจ. ภูเก็ต พบว่ามีความต้องการแรงงานในสายอาชีพมากกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี ในขณะที่รายได้แทบไม่มีความแตกต่างกัน และมีแนวโน้มว่าผู้ที่จบในสายอาชีพจะมีรายได้ที่สูงกว่าด้วย
พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมาพยายามปรับทัศนคติของผู้ปกครองให้เห็นว่าการเรียนรู้ในยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเรียนแต่สายสามัญ สายอาชีพก็สามารถจบปริญญาได้ ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจกับเครือข่ายผู้ปกครอง ผู้บริหารโรงเรียน มีการพัฒนาครูแนะแนวให้มีความรู้และความเข้าใจเพื่อแนะแนวกับเด็กได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการจัดกิจกรรมเปิดโลกสัมมาชีพ เพื่อให้เด็กและเยาวชนเกิดประสบการณ์ตรง เรียนรู้ในเรื่องอาชีพ รู้จักตนเอง รู้จักต้นทุนของครอบครัว รู้ตลาดแรงงานในท้องถิ่น วางแผนชีวิตในการศึกษาต่อระดับมัธยมปลายหรือในสายอาชีพได้อย่างเหมาะสม
"จากงานนี้ทำให้เด็กได้ข้อมูลสำหรับวางแผนการศึกษาต่อในอนาคตได้มากถึงร้อยละ 81.04 มีความสนใจในเรื่องของอาชีพถึงร้อยละ 78.70 ซึ่งผลลัพธ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนก็คือตัวเลขอัตราการเข้าเรียนต่อในสายอาชีวะของเด็กม.ต้น ที่ภูเก็ต เพิ่มขึ้นถึง30 % ในเทอมการศึกษาที่ผ่านมา"นายบัณฑูร กล่าวและว่า ความสำเร็จนี้เกิดจากการทำงานร่วมกับสมาคมผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา และครูแนะแนว ร่วมกันเปลี่ยนกระบวนทัศน์การแนะแนวอาชีพการศึกษาต่อจากโลกจินตนาการมาสู่โลกของความเป็นจริง
อย่างไรก็ตามขณะนี้สภการศึกษาภูเก็ตอยู่ในระหว่างการจัดทำคู่มือการแนะแนวอาชีพเพื่อมอบให้กับครูแนะแนวทุกสังกัดในพื้นที่ และเตรียมจัดมหกรรมฯครั้งที่ 2 ปลายปีนี้ ขยายผลการดำเนินงาน “โครงการการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต” จากการสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ภายใต้ โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ หรือ Area-Based Education (ABE) ให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติในการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้ปกครองที่มีต่อบุตรหลานให้สอดรับกับตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาของจังหวัด
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น