เมื่อ 22 ก.ย. 59 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1
ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงมหาดไทย จับมือกับ 18 หน่วยงานภาครัฐ ประกอบด้วย
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงสาธารณสุข กรมการจัดหางาน
กรมการปกครอง กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค
การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน)
และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด
ได้ร่วมกันจัดให้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำร่องการดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
ตามนโยบายรัฐบาลและแผนพัฒนาประเทศ
โดยทุกฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกันพัฒนาระบบบริการนำร่องตามแนวทางการบูรณาการฯ
รวมทั้งปรับปรุงระเบียบ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับการดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลจากฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อขอรับบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย
อธิบดีและผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้อง
นางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายชูเกียรติ
รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
และผู้บริหารส่วนราชการ/หน่วยงานภาครัฐ
จะเป็นผู้แทนของหน่วยงานลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการนำร่องการดำเนินการตามแนวทางการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐทั้ง 19 หน่วยงาน ให้เกียรติร่วมในพิธี
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในนามของกระทรวงมหาดไทย
รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โดยพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
และได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกๆ หน่วยงาน ทั้งนี้สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 เห็นชอบแนวทางการดำเนินการบูรณาการฐานข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ
โดยให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้ใช้ประโยชน์จากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้งานบริการของรัฐในด้านต่างๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นให้กับผู้ขอใช้บริการ
และเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในภารกิจการจัดทำบัตรประชาชน
มีความพร้อมและยินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในการใช้ประโยชน์จากเลข
13 หลักดังกล่าว
และเห็นว่าความร่วมมือในการบูรณาการข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐครั้งนี้
ซึ่งจะส่งผลให้ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนและนำไปสู่การใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับสาระสำคัญและแนวทางการดำเนินงานของ MOU ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ทั้ง 19 หน่วยงาน
ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญที่จะร่วมกันพัฒนา และปรับปรุงระบบงานบริการของหน่วยงาน
ตลอดจนผลักดันให้เกิดการพัฒนาของระบบ Digital Government ภายใต้นโยบาย Digital Economy หรือ
เศรษฐกิจดิจิตอลอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อให้ภาคประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น
สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
พ.ศ.2558 ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานบริการของรัฐได้อย่างรวดเร็วขึ้น
โดยจะมีการปรับปรุงการบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้
โดยใช้บัตรประจำตัวประชาชนเพียงใบเดียว และขยายผลไปสู่การให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ
ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือศูนย์บริการร่วมต่างๆ ในอนาคตตามมติคณะรัฐมนตรี
โดยมีการแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลกับกรมการปกครอง เช่น ข้อมูลบริการจัดหางาน ข้อมูลบริการรับสมัครนักเรียนระดับประถมศึกษา
ข้อมูลเกษตรกร เป็นต้น 2.กลุ่มปรับปรุงระบบงานให้รองรับการใช้บัตรประชาชนแบบอเนกประสงค์
(Smart Card) ใบเดียว จากประชาชนที่มาติดต่อ
เช่น การรับแจ้งความเอกสารหาย การให้บริการข้อมูลสภาวะสุขภาพ
และการให้บริการของที่ทำการไปรษณีย์ 3.กลุ่มการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ
(OSS) ผ่านศูนย์บริการร่วม
หรือผ่านระบบออนไลน์ เช่น การให้บริการขอใช้น้ำประปา ไฟฟ้า และโทรศัพท์
ตลอดจนการให้บริการของศูนย์ดำรงธรรม และศูนย์บริการร่วมอื่นๆ
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัด
ซึ่งปัจจุบันมีงานบริการ/งานอนุญาตไม่ต่ำกว่า 800 งาน และมีศูนย์ดำรงธรรมซึ่งได้รับมอบหมายภารกิจตามคำสั่ง
คสช.ที่ 96/2557
ให้มีหน้าที่เป็นทั้งศูนย์บริการร่วมและให้การบริการแบบเบ็ดเสร็จนั้น
กระทรวงมหาดไทยได้มีนโยบายให้เพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ดำรงธรรมให้เป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จอย่างเป็นรูปธรรม
โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมให้ความร่วมมือและยินดีอำนวยความสะดวก
เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน (Focal Point)
เพื่อให้การดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงฯ (MOU)
บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้
เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น