เมื่อ 2 ก.ย.59 นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย
เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระสำคัญแห่งชาติ
และเห็นชอบการขับเคลื่อนนโยบายฯ
โดยมุ่งสร้างความเข้าใจถึงเครือข่ายระดับหมู่บ้าน/ชุมชน
เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามนโยบายรัฐบาล
ตามแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2559–2560 มีเป้าหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน
โดยการสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนให้เข้มแข็ง มั่นคง ผ่านกลไก “ประชารัฐ”
และมี “ชุดปฏิบัติการประจำตำบล” เป็นหน่วยขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ภายใต้การดำเนินงาน 9
ขั้นตอนกระบวนการ ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เพื่อนำไปสู่หมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง
ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 เป็นต้นมา ซึ่งจะเน้นพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชนที่มีสถานการณ์ปัญหายาเสพติดรุนแรงเป็นลำดับแรก
และจะขยายผลให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 81,905
หมู่บ้าน/ชุมชนเป้าหมายทั่วประเทศในปี 2560
ดังนั้น
เพื่อให้การดำเนินการตามแผนประชารัฐร่วมใจฯ
เป็นไปตามเป้าหมายและมีผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย
(ศอ.ปส.มท.) จึงได้สั่งการให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด
(ศอ.ปส.จ.) และ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอำเภอ (ศป.ปส.อ)
เร่งรัดดำเนินการตามแนวทางการขับเคลื่อนแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด
พ.ศ.2559-2560 ดังนี้
1.ให้ใช้โครงสร้างที่มีอยู่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน
2.ให้มอบอำนาจสั่งการให้นายอำเภอในฐานะผู้อำนวยการ
ศป.ปส.อ.สามารถบูรณาการทำงานและอำนวยการปฏิบัติงานในพื้นที่ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่รับผิดชอบด้วย
และ 3.ให้ยึดพื้นที่เป้าหมายดำเนินการ จำนวน 81,905 หมู่บ้าน/ชุมชน
ภายใต้กลยุทธ์ขยายหมู่บ้าน/ชุมชนไม่มีปัญหาเพิ่มขึ้น
และลดหมู่บ้าน/ชุมชนมีปัญหาน้อยลงตามลำดับ นอกจากนี้ ยังได้กำหนดภารกิจของ
ศอ.ปส.จ. และ ศป.ปส.อ.ไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนประชารัฐฯ
มีกระบวนการที่เป็นระบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
กระทรวงมหาดไทยพร้อมนำนโยบายประชารัฐบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ
เพื่อเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่
เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างต่อเนื่อง
และจริงจัง เน้นย้ำให้ทุกจังหวัดแก้ปัญหาเชิงรุกควบคู่การใช้ความ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” รวมทั้งรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ตามแนวทางสันติวิธี
เพื่อให้ทุกหมู่บ้าน/ชุมชนเข้าใจแนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและพร้อมให้ความร่วมมือเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตามกลไก
“ประชารัฐ” เพื่อให้ปัญหายาเสพติดหมดไปจากสังคมไทยอย่างยั่งยืน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น