เมื่อวันที่ 26 -27 ส.ค. 59 กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) โดยการนำของท่านอธิบดีฯสมชาย เจริญอำนวยสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาบุคลากรพบสื่อมวลชน ภายใต้โครงการ" “สัมมนาบุคลากร/สื่อมวลชน เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจภารกิจโครงการ/กิจกรรมของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ” ณ สถานสงเคราะห์เด็กพิการและทุพพลภาพปากเกร็ด (บ้านนนทภูมิ) เยี่ยมชมงานฝีมือของผู้พิการและเยี่ยมชมโรงงานปีคนพิการสากล จากนั้นเดินทางไปยังจ.ชลบุรี เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน,ศึกษาดูงาน ณ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการและที่สถานสงเคราะห์คนพิการการุณยเวศม์
โดยมีผู้บริหารของพก.ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตลอดจนบุคลากรจากส่วนกลางและหน่วยงานในสังกัดจำนวน 22 แห่ง สื่อมวลชนทุกแขนง ทั้งสิ้น 150 คน เข้าร่วม เพื่อมุ่งให้สื่อมวลชนมีความรู้ความเข้าใจในงาน ด้านคนพิการมากยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ได้ร่วมรับรู้การทำงานของ องค์กร หน่วยงาน และสถานสงเคราะห์ ที่ทำงานด้านคนพิการ ทั้งนี้เพื่อ “ให้โอกาส ให้เกียรติ ให้กำลังใจ” และเปลี่ยนคนพิการจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” ของสังคม
โดยในแต่ละแห่งมีผลงานและความสามารถหลากหลายด้านของพี่น้องผู้พิการ ของเรา เช่น ผลงานการวาดภาพที่สวยงาม ฝีมือการตัดเย็บ ผลิตภัณฑ์มากมาย ยังมีโรงผลิตน้ำดื่มขาย ฯและอีกมากมายที่เป็นความสามารถของพวกเขาให้เราได้ทึ่ง
นายสมชาย ให้สัมภาษณ์ช่วงหนึ่งว่า ขอร้องเรียนผ่านสื่อถึงค่าอาหารต่อหัวที่รัฐบาลให้แก่ผู้พิการเพียงวันละ 19 บาทว่า ไม่เพียงพอ แม้จะถูกมองว่าบ้านที่ดูแลผู้พิการจะมีผู้มีใจเมตตมานำอาหารและสิ่งของมามอบให้แต่ก็ไม่ได้เป็นไปอย่าง
สม่ำเสมอหรือมีทุกวันแต่ผู้พิการเขาต้องรับประทานอาหารทุกวันวันละ3มื้อ
พร้อมกันนี้ยังมีเรื่องที่ผู้พิการกังวลกรณีที่มีงานทำและเข้าประกันสังคม เนื่องจากเขารู้สึกว่าบัตรทอง (ท.47)นั้นรักษาทุกโรค แต่บัตรประกันสังคมไม่ใช่ แต่พวกเขาก็ต้องการผลักประกันกรณีชราภาพ ว่างงาน
"คนพิการทั่วไปที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะได้รับบัตรทอง ท.74 ในการรับสิทธิรักษาฟรีทุกโรคในทุกโรงพยาบาล แต่หากคนพิการเข้าทำงานในสถานประกอบการจะต้องเข้าสู่การใช้สิทธิรักษาพยาบาลผ่านระบบประกันสังคม ซึ่งมีข้อจำกัดต้องรักษาตามโรงพยาบาลที่กำหนดและไม่สามารถรักษาฟรีได้ทุกโรค ทำให้คนพิการรู้สึกว่าถูกลดสิทธิ เนื่องจากบางคนต้องรักษาอาการป่วยอยู่ต่อเนื่อง ยังต้องย้ายจากโรงพยาบาลที่เคยรักษามาใช้สิทธิโรงพยาบาลตามหลักประกันสังคมอีก"นายสมชาย กล่าวและว่า เรื่องนี้ผู้พิการร้องเรียนผ่านกรมฯมานานและมีจำนวนมากขึ้น ช่วงต้นปี 59 ตนได้นำเรื่องนี้หารือกับคณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) "ผมเสนอให้คนพิการที่ทำงานในสถานประกอบการสามารถใช้ได้ทั้งสิทธิบัตรทอง ท.74 และหลักประกันสังคม และเสนอเรื่องนี้เข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (กพช.) ที่มีท่าน พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งก็เห็นชอบกับแนวทางนี้ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอครม."
อย่างไรก็ตามนายสมชาย แสดงความคาดหวังว่า เนื่องจากรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลคนพิการ ซึ่งเรื่องนี้ไม่น่าจะใช้งบประมาณมาก เพียงแต่ต้องป้องกันไม่ให้มีการใช้สิทธิซ้ำซ้อนเท่านั้น ในปีนี้น่าจะสามารถดำเนินการได้เพราะพี่น้องผู้พิการรอคอยมานานแล้ว
นอกจากนี้มีหลายอย่างที่อธิบฯพก.ฝากบอกไปยังสังคมว่า การเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพนักร้องและนักดนตรีตาบอดในที่สาธารณะ : จากถนนสู่ดวงดาว (From Street to Stars)นั้นพวกเขาประสบความสำเร็จรวมกลุ่มในชื่อวง S2S ปล่อยเพลงโคฟเวอร์ความหมายดี"สิ่งของ"ทางยูทูบ ผู้คนเข้าไปดูหลักล้าน รับรองว่าได้ดูได้ยินแล้วน้ำตาซึมแน่นอน
ในด้านการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ผู้พิการสามารถเข้าถึง เช่น โครงการชุมชนต้นแบบอารยสถาปัตย์ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เกาะเกร็ด จ.นนทบุรี การนำร่อง 33 จังหวัดปรับปรุงสถานที่สาธารณะ เช่น ศาลาว่าการจังหวัด โรงพยาบาล ให้รองรับและเอื้อต่อคนพิการเข้าถึง ตลอดจนมีมาตรการอายัดทรัพย์สินบริษัทเอกชนที่ไม่จ้างงานคนพิการ และส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้หลายร้อยล้าน จนทำให้เกิดแรงกระตุ้นให้เกิดการจ้างงานคนพิการให้ได้ทั้งภาคราชการและเอกชน
"ผมต้องบอกว่าที่งานด้านคนพิการก้าวหน้าไปมาก เพราะ ท่านนายกรัฐมนตรี สนใจและสั่งการลงมา โดยเฉพาะเรื่องการจ้างงานคนพิการที่บอกว่าต้องทำให้รัฐและเอกชนจ้างงานคนพิการต่อคนทั่วไปสัดส่วน1 ต่อ 100 คน ในปี 2561 ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ส่วนพวกเราพยายามเดินสายพูดคุย ที่ผ่านมาไปหารือกับหน่วยงานใหญ่ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งจากการไปพูดคุยทำความเข้าใจ คิดว่าภายในปีนี้จะสามารถผลักตัวเลขจ้างงานคนพิการในภาครัฐได้ร้อยละ 20 ปี 2560 ร้อยละ 40 และเต็มจำนวนได้ในปี 2561"
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ได้จัดทำเว็บไซต์ตลาดงานคนพิการดอทคอม เพื่อให้ภาคราชการหรือภาคธุรกิจเอกชนที่สนใจมาดูคนพิการที่ประกาศหางานไว้เพื่อรับเข้าทำงาน ขณะนี้มีประกาศหางานไว้ประมาณ 2 พันคน หรือภาคราชการจะให้โควต้าหรือจัดสอบทางพก.ก็พร้อมประสานให้
พร้อมกับระบุว่า ปลายปีนี้จะเห็นอะไรอีกหลายๆ อย่าง เช่น การออกแบบรถแท็กซี่เพื่อคนพิการ ซึ่งได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ออกแบบรถแท็กซี่ต้นแบบที่เอื้อต่อคนพิการใช้บริการ โดยเป็นรุ่นอินโนว่าของโตโยต้า ที่จะมีทางขึ้นสำหรับรถวีลแชร์ ประตูสไลด์ เบื้องต้นกำหนดเสร็จสิ้นช่วงปลายปี จากนั้นจะนำไปคุยกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ทำรถแท็กซี่เพื่อคนพิการ
อีกทั้งยังจะหารือกับกรมการขนส่งทางบก ผู้ประกอบการ เพื่อหามาตรการจูงใจให้เกิดแท็กซี่เพื่อคนพิการ ตั้งเป้าว่าในปี 2560 จะต้องมีแท็กซี่เพื่อคนพิการบริการใน กทม. 200 คัน จะเป็นประโยชน์ทั้งคนพิการและคนทั่วไปที่มีสัมภาระเยอะ
“เป็นความตั้งใจของผมว่า ปี 60 ต้องเกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน โดยเฉพาะการจ้างงานคนพิการ จะส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนอย่างไรให้จ้างงานคนพิการจริงๆ แทนการส่งเงินเข้ากองทุน รวมถึงการทำอารยสถาปัตย์ต้นแบบเพื่อคนทั้งมวลใน 33 จังหวัด ต้องสามารถใช้ได้จริง” อธิบดีกรมฯดูแลผู้พิการกล่าวในตอนท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น