pearleus

วันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2561

งานฉลองแห่งชัยชนะ ท้าวสุรนารี


งานฉลองแห่งชัยชนะ ท้าวสุรนารี
วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2369 ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม ได้รับชัยชนะจากข้าศึก โดยเป็นวันที่เจ้าอนุวงศ์ยกทัพออกจากเมืองนครราชสีมา

ท้าวสุรนารี, คุณหญิงโม (ต้นฉบับว่า คุณหญิงโม) หรือ ย่าโม (พ.ศ. 2314พ.ศ. 2395) บุคคลในประวัติศาสตร์ไทย ในฐานะวีรสตรีผู้มีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2369

ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือ ท้าวมะโหโรง เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก (ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองพนมซร็อก ต่อมามีการอพยพชาวเมืองพนมซร็อกมาอยู่ริมคูเมืองนครราชสีมาด้านใต้ จึงเอาชื่อเมืองพนมซร็อกมาตั้งชื่อ บ้านพนมศรก ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นบ้านสก อยู่หลังสถานีรถไฟชุมทางถนนจิระจนทุกวันนี้)

เมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า แม่ มีผู้มาฝากตัวเป็นลูก-หลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือ นางสาวบุญเหลือ

ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ[1]ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริรวมอายุ 80 ปีเศษ

กบฏเจ้าอนุวงศ์ เป็นการก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่าง พ.ศ. 2369-2371 เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วีรกรรมของท้าวสุรนารีเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง

เบื้องหลัง

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้เจ้านันทเสนไปปกครองเวียงจันทน์ ต่อมาเป็นกบฏ จึงมีรับสั่งประหารชีวิตและทรงให้เจ้าอินทร์ปกครองแทน หลังเจ้าอินทร์ถึงแก่พิราลัย ก็ทรงให้เจ้าอนุวงศ์ปกครองแทน

โอกาสที่เจ้าอนุวงศ์มาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2367 ได้ทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแบ่งชาวเวียงจันทน์เมื่อครั้งถูกกวาดต้อนลงมายังไทยครั้งสงครามสมัยกรุงธนบุรี พระองค์ดำริว่าไม่เหมาะ จึงไม่พระราชทานให้ เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศ เมื่อกลับไปยังเมืองแล้วก็คิดแผนกบฏต่อไทย

เจ้าอนุวงศ์พิจารณาเห็นว่า ไทยเกรงศึกสองด้าน คือ ทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์จึงหันไปฝักใฝ่ญวน ด้วยเห็นว่าหากตั้งตนเป็นอิสระแล้ว ไทยคงไม่กล้ายกทัพมาปราบปรามแน่

พ.ศ. 2369 มีข่าวลือว่าอังกฤษจะนำเรือรบมายึดกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพมายึดหัวเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทัพที่จัดมามี 3 ทัพ ได้แก่ ทัพเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ของเจ้าราชบุตร ยกเข้ามาทางอุบลราชธานี, ทัพของพระอุปราช ยกเข้ามาทางร้อยเอ็ด และทัพหลวงของเจ้าอนุวงศ์ยกมาทางนครราชสีมา

กองทัพเวียงจันทน์ถึงนครราชสีมา

เจ้าอนุวงศ์ออกอุบายแก่เจ้าเมืองตามรายทางว่า อังกฤษกำลังเตรียมนำทัพเรือมายึดกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้เจ้าอนุวงศ์เกณฑ์กองทัพเวียงจันทน์ลงมาช่วยทำศึก เจ้าเมืองตามรายทาง เช่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น สุรินทร์ ขุขันธ์ หลงเชื่อและให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ยอมให้เดินทัพผ่านโดยสะดวก และมอบเสบียงอาหารให้เพิ่มเติมด้วย จนกระทั่งทัพเวียงจันทน์มาถึงนครราชสีมา ขณะนั้นพระยานครราชสีมาและพระยาปลัดไม่อยู่ว่าราชการ เจ้าอนุวงศ์ก็เข้ายึดนครราชสีมาและส่งกองทัพไปกวาดต้อนผู้คนถึงสระบุรี

เจ้าอนุวงศ์แตกทัพ

ทางกรุงเมื่อทราบข่าว ก็มีการแต่งทัพออกไปช่วย โดยให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ยกกองทัพไปยังสระบุรี ครั้นทัพหน้าเวียงจันทน์ทราบข่าวก็ถอยไปยังนครราชสีมา

ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้กวาดต้อนชาวเมืองและยึดทรัพย์สินจากนครราชสีมา คุณหญิงโม ภริยาพระยาปลัดเมืองนครราชสีมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกกวาดต้อนไปด้วย ก็ออกอุบายขอให้ผ่อนให้ควบคุมไปช้า ๆ เพื่อรอให้บรรดาชาวเมืองไปให้ทันกัน ครั้นถึงทุ่งสัมฤทธิ์ คุณหญิงโมก็เลี้ยงสุราแก่ทหารลาว เมื่อเห็นได้โอกาส ชาวเมืองทั้งหลายต่างก็ใช้อาวุธฆ่าฟันทหารลาวตายเป็นจำนวนมาก ทัพลาวได้แตกทัพหนีไป ส่วนชาวเมืองทั้งหลายก็ตั้งค่ายที่ทุ่งสัมฤทธิ์นั้น มีชาวเมืองที่หลบหนีมาเข้าด้วยเป็นจำนวนมาก

เจ้าอนุวงศ์ส่งกองทัพมาตีค่ายก็ถูกตีพ่ายกลับไป ครั้นเมื่อทราบข่าวทางกรุงยกทัพมาช่วยนครราชสีมา ก็นำทัพกลับไปยังเวียงจันทน์ โดยจัดทัพคอยสกัดตามด่านเพื่อเตรียมการต่อสู้

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้พระยาราชสุภาวดีคุมทัพที่สองไปปราบกบฏทางอุบลราชธานีและร้อยเอ็ด แล้วไปบรรจบกับทัพแรกที่เวียงจันทน์ และทรงให้เจ้าพระยาอภัยภูธรคุมทัพที่สามไปปราบเมืองหล่มและหัวเมืองขึ้น แล้วไปบรรจบกันที่เวียงจันทน์อีกทัพหนึ่ง

กองทัพของพระยาราชสุภาวดีตีพวกกบฏตั้งแต่พิมาย ยโสธร ไปจนถึงจำปาศักดิ์ จับได้ตัวเจ้านครจำปาศักดิ์และบุตรหลานของเจ้าอนุวงศ์ เสร็จแล้วก็ผ่านนครพนมไปสมทบกันที่เวียงจันทน์

อีกด้านหนึ่ง ทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ตีด่านหนองบัวลำภู ค่ายทุ่งส้มป่อย ใกล้กับช่องเขาข้ามไปยังเวียงจันทน์ ทหารลาวส่งกองทัพมาล้อม สู้กันเป็นเวลา 7 วัน กองทัพลาวก็ถูกตีพ่ายกลับไป เสร็จแล้วก็ยกทัพเข้าเวียงจันทน์ได้อย่างง่ายดาย ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ที่เห็นว่ากองทัพลาวที่ด่านหนองบัวลำภูแพ้แล้วก็ไม่คิดต่อสู้อีก รีบพาครอบครัวอพยพไปญวน

ครั้นยึดเมืองได้แล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายให้ทำลายนครเวียงจันทน์ให้หมดสิ้น แต่กระทำการยังไม่สำเร็จ ก็นำทัพกลับมายังกรุงเทพมหานครเสียก่อน

ยกไปเวียงจันทน์อีก

เจ้าพระยาราชสุภาวดีกลับไปนครเวียงจันทน์อีก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2371 พอไปถึงก็เห็นว่าเจ้าอนุวงศ์กลับมาแล้ว ข้าหลวงญวนได้มาเจรจาว่า "พระเจ้ากรุงเวียดนามให้พาเจ้าอนุวงศ์มาอ่อนน้อมสารภาพผิด" และ "อนุทำผิดหนีไปหาญวน ญวนเหมือนมารดา กรุงเทพมหานครเหมือนบิดา บิดาโกรธบุตรแล้ว มารดาต้องพามาขโทษ" โดยเจรจาให้นำตัวเจ้าอนุวงศ์พาตัวไปลุแก่โทษที่กรุงเทพมหานคร

พระยาพิไชยสงครามตายใจ ปล่อยให้ไพร่พลพักผ่อน ครั้นตกกลางคืน เจ้าอนุวงศ์ได้นำทหารเข้าจู่โจมทหารไทย ฆ่าตายเกือบหมด รวมทั้งพระยาพิไชยสงครามนั้นด้วย ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีนำกองทัพขึ้นไป เจ้าอนุวงศ์ได้ให้เจ้าราชวงศ์คุมกองทัพจะจับตัว กองทัพทั้งสองปะทะกันที่บ้านบกหวาน กองทัพลาวแพ้ถูกตามตีไปจนถึงเวียงจันทน์

เหตุการณ์สืบเนื่อง

เจ้าอนุวงศ์จะนำครอบครัวหนีไปยังญวนอีก แต่ถูกจับตัวได้ ถูกส่งมายังกรุงเทพมหานครพร้อมครอบครัว เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้รื้อทำลายสถานที่สำคัญในเวียงจันทน์จนหมด และกวาดต้อนผู้คนมายังหัวเมืองชั้นใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระยาที่จงรักภักดีไปปกครองหัวเมืองที่ขึ้นกับเวียงจันทน์ โดยให้ขึ้นกับหลวงพระบางแทน ตั้งแต่นั้น ลาวก็ขึ้นกับไทยเรื่อยมา จนกระทั่งตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส

ครั้นเจ้าอนุวงศ์มาถึงกรุงเทพมหานครแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ทำกรงขังเจ้าอนุวงศ์และครอบครัวเป็นการประจาน ประชาชนไปดูและสาปแช่งทุกวัน เจ้าอนุวงศ์ถูกขังได้ 7-8 วันก็ป่วยตาย

เมื่อพุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป คุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวบรวมครอบครัวชาย หญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด

เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ มีต่อไปนี้

ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ
จอกหมากทองคำ 1 คู่
ตลับทองคำ 3 ใบเถา
เต้าปูนทองคำ 1 ใบ
คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลาบ่าย 2 โมงตรง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า

....ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย
ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน
บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี
รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการ
ความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก
แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง....

อนุสาวรีย์

เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442)

ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ปี พ.ศ. 2510ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2477
ในงานพิธีเปิดนี้ จึงได้มีการสร้างเหรียญไว้เป็นที่ระลึก โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น - พระอาจารย์เสาร์ ร่วมพิธีปลุกเสกที่ วัดสุทธจินดา ชาวเมืองนครราชสีมารัก และหวงแหนเหรียญรุ่นนี้กันมาก เพราะถือกันว่านี่คือ เหรียญแห่งชัยชนะ เพื่อศรีสง่าแห่งบ้านเมือง







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น