pearleus

วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เกษตรสมุทรสาครร่วมกับ อบจ. จัดงานวันสาธิตการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำศัตรูมะพร้าวจังหวัดสมุทรสาคร

นายเศรณี อนิบล เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยว่า จังหวัดสมุทรสาคร มีพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญพืชหนึ่ง คือ มะพร้าวน้ำหอม มีพื้นที่ปลูกประมาณ 18,000 ไร่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท แต่ ณ ช่วงเวลานี้ได้มีศัตรูมะพร้าวที่สำคัญระบาดอยู่ 4 ชนิด คือ หนอนหัวดำมะพร้าว , แมลงดำหนาม, ด้วงแร่ด และด้วงไฟ โดยศัตรูมะพร้าวที่ได้มีระบาดที่สำคัญ คือ หนอนหัวดำมะพร้าว โดยมีพื้นที่การระบาดประมาณ 1,700 ไร่ ทำให้ผลผลิตลดน้อยลง
เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาครได้บูรณาการการทำงานเชิงรุกร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร จัดงานวันสาธิตการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำศัตรูมะพร้าวจังหวัดสมุทรสาคร โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ในวันที่ 4 พฤษภาคม 2559 ณ บริเวณวัดกระโจมทอง ตำบลหลักสอง อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งภายในงานจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว พร้อมทั้งมีการสาธิตและฝึกปฏิบัติ จำนวน 4 ฐานการเรียนรู้ ดังนี้
ฐานที่ 1 การป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวโดยวิธี
-          การตัดทางใบเผาทำลาย
-          การฉีดพ่นทางใบโดยใช้เชื้อแบคทีเรีย (บีที) และ สารเคมี
ฐานที่ 2 การเพาะเลี้ยงแตนเบียนกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว
-          การเพาะเลี้ยงแตนเบียนไข่ตริกโกแกรมม่า
-          การเพาะเลี้ยงแตนเบียนบราคอน
-          การเพาะเลี้ยงแตนเบียนโกนีโอซัส
ฐานที่ 3 การผลิตและการใช้สารชีวภัณฑ์ป้องกันจำกัดศัตรูพืช
-          เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า
-          เชื้อราบิวเวอเรีย
-          เชื้อแบคทีเรีย (บีที)
-          สมุนไพรป้องกันกำจัดแมลง
ฐานที่ 4 การป้องกันกำจัดแมลงวันผลไม้
-          การใช้สารล่อเมทธิลยูจินอล
-          การใช้เหยื่อพิษกำจัดแมลงวันผลไม้

นายเศรณี อนิบล ได้กล่าวย้ำอีกว่า ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าวในจังหวัดสมุทรสาคร จะต้องดำเนินการร่วมกันในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานทางวิชาการ สถานศึกษา และตัวเกษตรกรเอง เพื่อลดปริมาณและการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำโดยใช้การป้องกันกำจัดทุกวิธี เช่น การตัดทางใบ, การใช้สารชีวภัณฑ์, การใช้แตนเบียน และการใช้สารเคมี ตามระดับความรุนแรงในการระบาด หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสาคร โทร 034-426-995 และ 034-423-079 หรือ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น