pearleus

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

วารสารข่าวจังหวัดนครปฐม

วารสารข่าวจังหวัดนครปฐม   ฉบับที่ ๒73 ประจำวันที่ 10-24 ตุลาคม ๒๕๕๔
 หัวข้อข่าว

หน้า ๑  - จ.นฐ.แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท่าจีนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทก
             ภัย ฉบับที่ 2, รอง ผวจ.นฐ.เรียกประชุมศูนย์ฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย แจ้งเตือนประชาชนใน
             พื้นที่ระวังและเร่งช่วยผลักดันน้ำ
หน้า ๒  - ศูนย์ฯป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย นฐ.รายงานผนตกหนักและเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย, 
             กรมการข้าวแนะชาวนาดูแลข้าวหลังน้ำท่วม
หน้า ๓  - ขอเชิญประชาชน และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคทรัพย์ สิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม,  
             ผู้ประกันตนเฮ สปส.ขยายเวลายื่นกู้น้ำท่วม
หน้า ๔  - แรงงานนครปฐมวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย, ประมง นฐ. ให้คำแนะนำเกษตรกรเตรียมรับ
             สถานการณ์เกิดอุทกภัย
หน้า ๕  - กยศ.แถลงผลการดำเนินงานปี 2554
หน้า ๖  - จัดหางาน นฐ.ขานรับนโยบายสร้างรายได้เพื่อประชาชน, การแข่งขันเปปองชิงถ้วยพระราชทานฯ,
            รมว.กระทรวงสาธารณสุขเปิดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนต่อต้านยาเสพติด
หน้า ๗ – แถลงข่าววันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทยและขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ, ที่ปรึกษารัฐมนตรีตรวจเยี่ยม
            นครปฐมเตรียมป้องกันอุทกภัยตลาดบางหลวง รศ. 122,  จ.นฐ.แถลงข่าวเตรียมความพร้อมรับ
            สถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยที่คาดว่าระดับน้ำอาจสูงขึ้นเร็วๆ นี้
หน้า ๘ นฐ.ประชุม VDO Conference  แก้ไขปัญหาน้ำท่วม, องคมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการดาบสสัญจร
หน้า ๙ สรุปสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ของจังหวัดนครปฐม ประจำวันที่ 9 ตุลาคม
            2554 
หน้า 11 - ปฏิทินงาน










ดำรงธรรมนำไทยใสสะอาด
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม    ศูนย์ราชการจังหวัดนครปฐม    โทร.๐-๓๔๓๔-๐๐๑๑-





1
จังหวัดนครปฐมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท่าจีนให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย ฉบับที่ 2
       นายนิมิต  จันทน์วิมล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม  เปิดเผยว่า  กรมอุตินิยมวิทยา  คาดการณ์สถานการณ์ในช่วงวันที่ 26 30 กันยายน 2554  ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย  ทำให้ทุกภาคของประเทศมีฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ประกอบกับปัจจุบันสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก  จำเป็นต้องมีการผันน้ำผ่านระบบส่งน้ำทุ่งฝั่งตะวันตกในปริมาณมากว่าเดิมจาก 353 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 376 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที  โดยผ่านทางประตูคลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง(คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง 353 ลูกบาศก์เมตร/วินาที)  ส่วนที่ประตูระบายน้ำพลเทพ 210 ลูกบาศก์เมตร/วินาที  คลองเล็กอื่นๆ 43 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที   และประกอบกับในช่วงเดือนตุลาคม จะมีน้ำทะเลหนุนทำให้การระบายน้ำลงสู่ทะเลไม่ทันส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณสูงขึ้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรและพื้นที่ทางการเกษตร 
ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์  จังหวัดนครปฐมจึงขอแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำให้ทราบ และระมัดระวัง ดังนี้คือ  ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย เก็บสิ่งของเครื่องใช้ ปลั๊กไฟฟ้าขึ้นที่สูงพ้นระดับที่น้ำอาจจะท่วมถึง  และให้ระมัดระวังสัตว์เลื้อยคลาน มีพิษ ที่อาจหนีน้ำขึ้นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ขบกัดทำร้ายในช่วงนี้  นอกจากนี้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ควรให้การสนับสนุนกระสอบทราย เพื่อทำแนวป้องกันน้ำในเขตชุมชน/พื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น พื้นที่ลุ่มต่ำ พร้อมจัดกำลังอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) ดูแลความเรียบร้อย ป้องกันมิจฉาชีพ ลักขโมยทรัพย์สินของราษฎร ที่อพยพไปยังที่ปลอดภัย  และให้จัดแพทย์ พยาบาลเข้าตรวจเยี่ยมดูแลสุขภาพอนามัยราษฎร ในพื้นที่ประสบอุทกภัยด้วย   สำหรับเกษตรกรในพื้นที่ควรเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต  และหากพบเห็นสิ่งก่อสร้าง วัชพืช/สิ่งที่อาจปิดกั้นหรือกีดขวางทางน้ำไหล  หรือจุดที่เสี่ยงต่อการพังทลายของแนวกระสอบทราบที่คันกั้นน้ำ  ให้แจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น/อำเภอ/จังหวัดทราบเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา   นอกจากนี้หากเกิดสถานการณ์วิกฤต หรือได้รับการร้องขอจากราษฎรในพื้นที่ใด ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่น ผู้อำนวยการอำเภอนั้นๆ เข้าให้การช่วยเหลือราษฎรโดยทันที พร้อมรายงานผู้อำนวยการจังหวัดทราบ  และหากเกิดขีดความสามารถ ในการช่วยเหลือให้แจ้งผู้อำนวยการจังหวัดทราบโดยทันที เพื่อเร่งรัดการช่วยเหลือต่อไป   หรือแจ้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย จังหวัดนครปฐม  โทรศัพท์ 0-3434-0230,  0-3434-0241
 รอง ผวจ.นครปฐมเรียกประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ระวังและเร่งช่วยผลักดันน้ำ
 (9 ตค.54)  นายนิมิต จันทน์วิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ฯ  เรียกประชุมศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยจังหวัดนครปฐม  โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมและชี้แจงสถานการณ์น้ำในขณะนี้   ซึ่งมีผลกระทบมาจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครปฐมติดต่อกันหลายวันทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครปฐม และพื้นที่ตำบลหมู่บ้านต่างๆในเขตอำเภอเมืองนครปฐมขณะนี้ นั้น  จังหวัดได้ประสานกับ สนง.ชลประทานที่ 13  ให้ควบคุมลดปริมาณน้ำในคลองชลประทาน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้กำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างเร่งด่วน    เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและป้องกันน้ำท่วม  ก็จะมีการผลักดันน้ำจากคลองธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมือง  เข้าคลองบึงกุมบึงช้างหรือบึงบางระกำ อำเภอนครชัยศรี   และคลองจินดา อำเภอสามพราน โดยเร็วที่สุด  เพื่อที่จะได้ผลักดันลงสู่ทะเลต่อไป
จังหวัดนครปฐมจึงขอให้ประชาชนอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่และช่วยกันกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ ขุดลอกคูคลอง และเร่งช่วยผลักดันน้ำ  เพื่อเป็นการเปิดทางระบายน้ำให้ไหลไปเร็วที่สุดเพื่อป้องกันน้ำท่วม   ซึ่งจังหวัดนครปฐมจะได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกทุกวันอีกไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ 


2
ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยจังหวัดนครปฐมรายงานสถานการณ์ฝนตกหนักและอุทกภัยพร้อมแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
(8 ตค.54)  นายนิมิต จันทน์วิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ฯแจ้งว่าเนื่องจากภาวะฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครปฐมทำให้เกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครนครปฐม และพื้นที่ตำบลหมู่บ้านต่างๆในเขตอำเภอเมืองนครปฐมขณะนี้ นั้น  ได้ประสานกับ สนง.ชลประทานที่ 13 ให้ควบคุมลดปริมาณน้ำในคลองชลประทานสาย 5 L และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างเร่งด่วนแล้ว  คาดว่าภายใน 12 ชั่วโมงนี้ จะสามารถผันน้ำลงสู่แม่น้ำท่าจีนได้ประมาณ 600,000 ลบ.ม. จะเป็นผลให้ระดับน้ำในคลองสายใหญ่เจดีย์บูชา และสายใหญ่ท่าผา ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงเย็นวันนี้   สถานการณ์น้ำโดยรวมในพื้นที่อำเภอเมืองนครปฐมยังไม่น่าวิตกแต่อย่างใด
สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนวันนี้(8 ต.ค.54) ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำบ้านบางการ้องสูงกว่าตลิ่ง 11 ซม. ที่บางไทรป่าสูงกว่าตลิ่ง 34 ซม. ที่อำเภอนครชัยศรีสูงกว่าตลิ่ง 37 ซม.มีฝนตก 70 %ของพื้นที่   ซึ่งสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และตรวจสอบแนวป้องกัน
กรมการข้าวแนะชาวนาดูแลข้าวหลังน้ำท่วม
นายประเสริฐ  โกศัลวิตร  อธิบดีกรมการข้าว  เปิดเผยว่า  ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนตกซุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่งผลให้บ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อธิบดีกรมการข้าว กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นกรมการข้าวได้เร่งให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ประสบภัย เข้าไปประเมินและสำรวจความเสียหาย ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้ประสบภัย โดยแบ่งเป็นพื้นที่นาที่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง และจะนำข้อมูลที่ได้รายงานไปยังคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด เพื่ออนุมัติเงินงบกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยเกษตรกรจะได้รับชดเชย ไร่ละ 606 บาท ทั้งนี้ กรมการข้าวได้ให้คำแนะนำเกษตรกรในการชะลอความเสียหายของข้าวระยะสุกแก่ในแปลงนา เนื่องจากสภาพฝนตกหรือน้ำท่วม ดังนี้ การเก็บเกี่ยวข้าวระยะที่เหมาะสมก็คือ ระยะพลับพลึง ประมาณ 28-30 วัน หรือ 4 สัปดาห์ หลังข้าวออกดอก 80% จะทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพข้าวดีที่สุด แต่ในสภาวะที่มีฝนตกชุก และมีสภาพน้ำท่วมขัง เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวเร็วขึ้นที่ระยะ 21 วัน หลังข้าวออกดอก 80%
โดยสามารถปฏิบัติได้ 2 ลักษณะ คือ 1. การใช้รถเกี่ยวนวด เมล็ดข้าวที่ได้จะมีความชื้นสูง(มากกว่า 25%) ให้รีบนำไปลดความชื้นทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันความเสียหายจากเชื้อรา และจุลินทรีย์ต่างๆ โดยจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการหรือโรงสี เพื่อดำเนินการลดความชื้นตามวิธีการที่ถูกต้องต่อไป เช่น การใช้เครื่องอบ หรือการตากลาน เพื่อลดความชื้นข้าวให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย(ประมาณ 14 – 15%) หากเกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายได้ทันที หรือภายใน 24 ชั่วโมง ควรนำข้าวที่เก็บเกี่ยวมาผึ่งตากลดความชื้น โดยเกลี่ยให้มีความหนา 5 – 10 เซนติเมตร และพลิกกลับทุกๆ 1 – 2 ชั่วโมง หากพื้นที่ตากมีจำกัด สามารถเพิ่มความหนาของข้าวในการตาก แต่ต้องพลิกกลับให้บ่อยครั้งขึ้น และควรระมัดระวังไม่ให้ข้าวโดนฝนซ้ำอีก 2. การเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคน กรณีข้าวถูกน้ำท่วมขังในระยะสุกแก่ ไม่สามารถใช้รถเกี่ยวนวดได้ ให้เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียว แล้วนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ มัดเป็นฟ่อนนำไปตากแขวนราว การปฏิบัติเช่นนี้จะช่วยชะลอการเสื่อมคุณภาพของข้าวเนื่องจากการตากแบบแขวนราว จะทำให้เกิดการระบายถ่ายเทของอากาศภายในฟ่อนข้าวได้ดี และหากมีฝนตกน้ำฝนจะหยดลงสู่พื้นดิน ไม่ถูกดูดซับหรือขังอยู่ในฟ่อนข้าว ให้ทำการนวดเมื่อสามารถกระทำได้ แล้วลดความชื้นให้อยู่ในระยะที่ปลอดภัยอีกครั้ง หากเกษตรกรที่มีข้อสงสัยในการลดความชื้นข้าว สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว โทร 02-5797892 หรือ E-mail: brrd@brrd.mail.go.th


3
ขอเชิญชวนประชาชน และผู้มีจิตศรัทธา  ร่วมบริจาคทรัพย์  สิ่งของบรรเทาทุกข์ ( เครื่องอุปโภค  บริโภค) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม 
 นายมรกต  คงทน  ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม  ได้รับแจ้งจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดราชบุรีว่า หน่วยงานในจังหวัดราชบุรีได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทภัยในพื้นที่ 27 จังหวัด    ดังนี้    
                1. กรมการทหารช่าง ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยฯ และขอเชิญชวนท่านร่วมบริจาคเงินและสิ่งของบรรเทาทุกข์ โดยสามารถบริจาคได้ที่ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี หรือติดต่อกับพันตรี ชูเกียรติ รักษาวงศ์ หมายเลขโทรศัพท์ 032-337388 ต่อ 53130 ,08-1986-3125 โทรสาร 032-327998 เพื่อที่ กรมการทหารช่างจะได้นำสิ่งของดังกล่าว ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ประสบภัยต่อไป
                2. อำเภอเมืองราชบุรี    นางสาวกฤตยา เปรมปราโมทย์ เลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า จากการเกิดสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ 27 จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จังหวัดราชบุรี ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพื่อช่วยเหลือประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว โดยจัดตั้งศูนย์รับบริจาค ณ หอประชุมอำเภอเมืองราชบุรี   หรือ    ติดต่อบริจาคได้ที่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดราชบุรี หมายเลขโทรศัพท์ 032 -332571-2   และที่อำเภอ  ทุกอำเภอ  ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
         3. กองพลพัฒนาที่ ๑  ค่ายศรีสุริวงศ์   ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเขตภาคกลาง โดยเปิดรับบริจาคสิ่งของบรรเทาทุกข์ ณ กองบัญชาการกองพลพัฒนาที่ ๑ ค่ายศรีสุริยวงศ์ และ ห้างสรรพสินค้า บิ๊กซี สาขาราชบุรี หรือแจ้งความประสงค์ร่วมบริจาคที่ฝ่ายกิจการพลเรือน กองพลพัฒนาที่ ๑ โทร ๐๓๒-๓๒๗๘๐๑ ต่อ ๕๒๔๒๔ และ พันตรี ปราโมทย์ เจริญเชื้อ โทร ๐๘๑-๑๙๐๙๗๒๓ ในวันและเวลาราชการ
ผู้ประกันตนเฮ สปส.ขยายเวลายื่นกู้น้ำท่วม
       สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขยายเวลาการยื่นกู้ โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ออกไปถึง 6 เดือน  สิ้นสุดยื่นกู้วันที่ 31 ตุลาคม 2554  โดยใช้หลักเกณฑ์เงื่อนไขการยื่นกู้เดิม
        นางสุรีย์  มณฑา  รักษาราชการประกันสังคมจังหวัดนครปฐม  กล่าวถึง โครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย ว่าโครงการดังกล่าว ให้สิทธิผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 , 39 และ 40 สามารถยื่นกู้กับธนาคารทั้ง 4 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนของตนเอง หรือของ พ่อ-แม่ ซึ่งบ้านที่จะซ่อมแซมต้องอยู่ในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม โดยเสียดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2.5 ต่อปี คงที่ 2 ปี
สำนักงานประกันสังคม ได้ขยายเวลาการยื่นกู้โครงการดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดยื่นกู้วันที่ 30 เมษายน 2554 โดยผู้ประกันตนที่มีประสงค์จะยื่นกู้ต้องเตรียมหนังสือรับรองความเป็นผู้ประกันตน ซึ่งขอรับได้ที่ สำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ สำนักงานประกันสังคมจังหวัด หรือสาขา   เอกสารการทำงานและสถานะการเงิน เช่น หนังสือรับรองการทำงานระบุรายได้/สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน(ม.30 หรือ ม.40 ใช้สมุดบัญชีรับ-จ่ายเงิน หรือ คนค้ำที่เป็นผู้มีรายได้ประจำเกิน 7,500 บาทขึ้นไป) สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน สมุดเงินฝากแสดงรายได้ย้อนหลัง 3 เดือน รูปถ่ายบ้านที่ถูกน้ำท่วม หรือสิ่งที่สามารถยืนยันและพิสูจน์ได้ว่าบ้านพักที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบจริง ตามที่ธนาคารเห็นสมควร สัญญาจ้างซ่อมแซมบ้าน
นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ยังจัดให้มีโครงการช่วยเหลือสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยสามารถยื่นขอสินเชื่อได้ โดยกำหนดวงเงินรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี คงที่ 3 ปี  ทั้งนี้สามารถยื่นกู้กับธนาคาร 3 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสิน  และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย   หาผู้ประกันตนมีข้อสงสัยสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐม หมายเลขโทรศัพท์ 0-3429-0731-4  หรือสายด่วนประกันสังคม 1506
4
แรงงานนครปฐมวางมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัย
นายธีรพล  ขุนเมือง  แรงงานจังหวัดนครปฐม   เปิดเผยว่า  ตามที่จังหวัดนครปฐม  ได้เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2554 เป็นต้นมา  และในขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยครอบคลุมในพื้นที่ 6 อำเภอ  หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครปฐม ทั้ง 5 หน่วยงาน ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยหลายประการ อาทิ โครงการจ้างงานเร่งด่วน  เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีงานทำชั่วคราวด้วยการจ้างงานให้ทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับสาธารณะประโยชน์ เช่น ดูแลเด็กกำพร้า  คนชรา  คนพิการที่ประสบภัย  ทำความสะอาดหรือบูรณะอาคารที่ที่เสียหาย เป็นต้น   โดยให้ค่าจ้างวันละ 150 บาทต่อวัน ระยะเวลาการจ้างคนละไม่เกิน 20 วัน   โครงการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อการพัฒนาฝีมือแรงงานหรือฝึกอาชีพให้ผู้ประสบภัยในสาขาอาชีพต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่  รวมถึงการปรับปรุง ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย  เครื่องใช้ต่างๆ  โดยมีค่าเบี้ยเลี้ยงแกผู้เข้าฝึกอบรม คนละ 120 บาทต่อวัน ระยะเวลาการฝึกไม่เกิน 30 วัน  นอกจากนี้ยังมีโครงการประกันสังคมเคียงข้างผู้ประกันตนต้านอุทกภัย  โดยสถาบันการเงินให้นายจ้างในสถานประกอบการกู้ปรับปรุงซ่อมแซมสถานประกอบการรายละไม่เกิน 1,000,000 บาท  ดอกเบี้ย 3% ต่อปีผ่อนนาน 3 ปี  และลูกจ้างผู้เป็นผู้ประกันตนได้กู้เงินซ่อมแซมบ้านตนเองหรือพ่อ-แม่ ในจังหวัดที่ถูกน้ำท่วม รายละ 50,000 บาท ดอกเบี้ย 2.5 % ต่อปีผ่อนนาน 2 ปี  การตรวจสุขภาพแก่ผู้ประสบอุทกภัยโดยหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่  การให้คำแนะนำแก่สถานประกอบการและลูกจ้างที่ประสบอุทกภัย  การบริการซ่อมเครื่องมือเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหาย  การแนะแนวอาชีพอิสระ  หาตำแหน่งงานว่าง  เป็นต้น
        นายธีรพลฯ  กล่าวอีกว่า หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครปฐม  ได้จัดให้มีหน่วยแพทย์บริการเคลื่อนที่โดยโรงพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม  ออกไปดูแลรักษาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน  พร้อมมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 561 ราย ในพื้นที่ 3 อำเภอ คืออำเภอบางเลน นครชัยศรี และสามพราน   พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เพื่อช่วยซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นของประชาชน  ตลอดจนขอความร่วมมือสถานประกอบการที่มีความเสี่ยง ประมาณ 30 แห่ง ให้ผ่อนผันลูกจ้างผู้ถูกน้ำท่วมจนเป็นเหตุให้เดินทางไปทำงานไม่ได้สามารถหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลาด้วย  ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับรายละเอียดได้ที่ สำนักงานแรงงานจังหวัดนครปฐม  ศาลากลางจังหวัดฯ ชั้น 4  โทร 0-3434-0045-6  ในวันและเวลาราชการ
ประมงจังหวัดนครปฐม ให้คำแนะนำเกษตรกร เพื่อเตรียมการรับสถานการณ์เกิดอุทกภัย
        นายสมโภชน์  กริบกระโทก  ประมงจังหวัดนครปฐม  แจ้งเตือนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทต่างๆ ให้ปฏิบัติตาม คำแนะนำเกษตรกรประมงเกี่ยวกับการเกิดอุทกภัย   เนื่องจากในช่วงกลางฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาวของทุกปี  พื้นที่ของจังหวัดนครปฐม จะมีฝนตกมากประกอบกับปริมาณน้ำสะสมในแม่น้ำท่าจีนอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้เกิดอุทกภัยได้  ขอให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ประเภทต่างๆ ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่  สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนและถูกต้องตามระเบียบ จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการดำเนินงานตามมาตรการของภาครัฐแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม  แล้วแต่กรณี  เช่น กรณีให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยธรรมชาติ  กรณีสินค้าการเกษตรตกต่ำที่ต้องรับจำนำหรือประกันราคา  การได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นต้น  โดยการขึ้นทะเบียนฯ จะทำให้เราทราบข้อมูลทั้งหมดในสาขาอาชีพการประมง ในเขตพื้นที่ของจังหวัด ด้วยหลักเกณฑ์ของกระทรวงเกษตรฯที่กำหนดไว้ว่าจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้เท่านั้น  และนอกจากนี้การขึ้นทะเบียนยังทำให้สามารถกำหนดทิศทางการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที  เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผู้ประกอบการด้านการประมง สามารถติดต่อยื่นคำขอขึ้นทะเบียนเกษตรกร ณ สถานที่หรือจุดรับขึ้นทะเบียนใกล้บ้านหรือสถานประกอบการของตนเอง  โดยสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดนครปฐม โทร 0-3434-0035-6  ประมงอำเภอกำแพงแสน โทร 08-9530-9174  ประมงอำเภอบางเลน โทร 08-1571-2388  ประมงอำเภอดอนตูม โทร 08-6808-3638  ประมงอำเภอนครชัยศรี โทร 08-6785-5698  ประมงอำเภอสามพราน โทร 08-9837-4636  ผู้ประสานงานประมงอำเภอเมือง โทร 08-1943-3918  และผู้ประสานงานประมงอำเภอพุทธมณฑล โทร 08-2293-5995

5
กยศ. แถลงผลการดำเนินงานปี 2554
          กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แถลงผลการดำเนินงานปีงบประมาณ 2554  นักเรียน นักศึกษาขอกู้ยืม 1 ล้านราย ได้รับสิทธิ์กู้ยืม 8.9 แสนราย  มีผู้มาติดต่อชำระเงินคืน 76.37%  พร้อมสรุปนโยบายสนับสนุนการเรียนสายอาชีพ สายวิทยาศาสตร์ และคุณภาพสถานศึกษา
          เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา นายเสริมเกียรติ  ทัศนสุวรรณ รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ 2554 ว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เริ่มดำเนินการให้กู้ยืมตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 และจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2541 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2541 โดยเป็นทุนหมุนเวียนที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาที่มาจากครอบครัว  ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้กู้ยืมเงินเป็นค่าเล่าเรียน ค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ตั้งแต่ระดับมัธยมปลาย อาชีวศึกษา จนถึงปริญญาตรี โดยให้ผ่อนชำระเงินคืนภายหลังจากสำเร็จหรือเลิกการศึกษาแล้วด้วยดอกเบี้ยอัตราต่ำเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งเงินที่ได้รับชำระคืนดังกล่าวจะนำกลับไปหมุนเวียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษารุ่นต่อๆ ไป
        ผลการกู้ยืม ปัจจุบัน มีนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาโดยการกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและสำเร็จการศึกษาแล้วจำนวนกว่า 3.9 ล้านราย  รวมเป็นงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 คณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติจัดสรรงบประมาณให้กู้ยืมทั้งสิ้น 42,712 ล้านบาท มีเป้าหมายให้กู้ยืมสำหรับนักเรียน นักศึกษา จำนวน 981,712 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ที่ยื่นความประสงค์ขอกู้ยืมผ่านระบบ e-Studentloan จำนวนทั้งสิ้น 1,053,078 ราย โดยสถานศึกษาได้คัดเลือกผู้มีสิทธิกู้ยืมจำนวน 892,159 ราย แบ่งเป็นผู้กู้ยืมรายเก่า 622,354 ราย และผู้กู้ยืม     รายใหม่ 269,805 ราย หรือแบ่งตามระดับการศึกษา ได้แก่ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 187,675 ราย ระดับ ปวช. 114,484 ราย ระดับ ปวท./ปวส. 108,202 ราย และระดับอนุปริญญา/ปริญญาตรี 481,798 ราย โดยในภาคเรียนที่ 1/2554 ได้มีการบันทึกกรอบวงเงินกู้ยืมเพื่อโอนเงินค่าครองชีพและค่าเล่าเรียนให้แก่ผู้กู้ยืมและสถานศึกษาแล้วราว 2 หมื่นล้านบาท
ผลการชำระเงินคืน ขณะนี้ มีผู้กู้ยืมที่สำเร็จการศึกษาและครบกำหนดชำระเงินคืนกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,461,999 ราย  รวมเป็นเงินกู้ยืมทั้งสิ้น 46,617 ล้านบาท ผลปรากฎว่าปัจจุบันมีผู้กู้ยืมมาติดต่อชำระเงินคืนแล้วจำนวน 1,880,483 ราย หรือคิดเป็น 76.37% ของผู้ที่ครบกำหนดชำระเงินคืน แบ่งเป็นผู้กู้ยืมที่ชำระมากกว่าเกณฑ์ 168,468 ราย ชำระตามเกณฑ์ 477,941 ราย  ชำระบางส่วน 1,234,074 ราย และหนี้สูญ (เสียชีวิต) 22,339 ราย รวมเป็นเงินที่ได้รับชำระคืนทั้งสิ้น 24,989.46 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53.7%
ผลการดำเนินงานตามนโยบาย ในปี 2554  กองทุนฯ ได้มีนโยบายสนับสนุนการกู้ยืมในสาขาวิชาที่จบแล้วมีงานทำ หรือสาขาวิชาที่ขาดแคลนซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากตลาดแรงงานมีความต้องการผู้ที่เรียนในสายอาชีพและสายวิทยาศาสตร์ค่อนข้างมาก โดยกองทุนฯ ได้เพิ่มเงินกู้ยืมค่าครองชีพให้แก่ผู้เรียนระดับ ปวช. จากเดิมเดือนละ 1,375 บาท เพิ่มเป็น 2,200 บาท หรือ 26,400 บาทต่อปี และได้เพิ่มเพดานการกู้ยืมค่าเล่าเรียนบางสาขาวิชาของระดับอุดมศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับ ต้นทุนการศึกษาจริง ได้แก่ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ จากเดิม 60,000 บาท เพิ่มเป็น 70,000 บาทต่อปี สาขาสาธารณสุขศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ จากเดิม 80,000 บาท เพิ่มเป็น 90,000 บาทต่อปี สาขาแพทยศาสตร์ สัตวแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ศาสตร์ จากเดิม 150,000 บาท เพิ่มเป็น 200,000 บาทต่อปี
          นอกจากนั้น กองทุนฯ ยังได้มีนโยบายกระตุ้นให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น โดยนำผลประเมินคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษามาเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรจำนวนผู้กู้ยืมรายใหม่ เพื่อให้ได้บัณฑิตที่มีคุณภาพ แทนการเน้นรับนักศึกษาเชิงปริมาณอย่างเดียว ซึ่งกองทุนฯ ได้ปรับเกณฑ์     การจัดสรรสำหรับสถานศึกษาระดับมัธยมปลายและอาชีวศึกษา โดยพิจารณาคุณภาพการจัดการการศึกษาจากเดิม 5% เพิ่มขึ้นเป็น 10%  และในส่วนของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาได้เพิ่มการพิจารณาในเรื่องคุณภาพการจัดการการศึกษาเป็น 20% จากเดิมที่ไม่เคยใช้เกณฑ์คุณภาพการจัดการการศึกษาเลย
กรณีหลักสูตรสาขาวิชาชีพของสถานศึกษาบางแห่งที่ไม่ได้รับการรับรองจากสภาวิชาชีพ  ทำให้นักศึกษาประสบปัญหาไม่ได้สิทธิเข้าสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  กองทุนฯ ยังได้มีมาตรการช่วยเหลือเป็นการทั่วไปแก่กลุ่มนักศึกษาผู้กู้ยืมที่ได้รับความเดือดร้อน โดยขยายโอกาสให้ผู้ที่กู้ยืมเงิน กยศ. เต็มจำนวนตามหลักสูตรปกติแล้ว สามารถกู้ยืมเงินเพื่อศึกษาต่อเพิ่มเติมในสถานศึกษาอื่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากสภาวิชาชีพจนจบหลักสูตร 
6

จัดหางานนครปฐมขานรับนโยบาย เดินหน้ากระจายโอกาส สร้างรายได้เพื่อประชาชนมีงานทำ มีความสุข
นายสุวรรณ์  ดวงตา  จัดหางานจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์  คือการทำงานแบบบูรณาการประสานงานหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานทุกภาคส่วน มุ่งเน้นบริการเข้าถึงประชาชนอันจะส่งผลให้ประชาชนมีความสุข ดูแลผู้ว่างงาน คนหางาน นักศึกษาจบใหม่ ให้มีงานทำ มีรายได้ต่อตนเองและครอบครัว  ยกระดับแรงงานไทยให้เป็นแรงงานฝีมือ รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยที่สอดคล้องกับสมรรถนะในการประกอบอาชีพ ให้มีมาตรฐานฝีมือระดับสากล เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ  การเตรียมความพร้อมของแรงงานไทยเข้าสู่ตลาดแรงงานในภูมิภาคเอเชีย และการเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558  อีกทั้งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการจ้างงานแก่แรงงานกลุ่มพิเศษ คือ ผู้ด้อยโอกาส (พิการ)  ผู้สูงอายุ  ผู้พ้นโทษ เพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างมีศักดิ์ศรี มีรายได้ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวให้มีความสุข
          จัดหางานนครปฐมกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำนักงานจัดหางานจังหวัดนครปฐมจัดระบบการทำงานโดยเน้นการให้บริการประชาชนด้วยรอยยิ้ม เจ้าหน้าที่ทำงานด้วยความโปร่งใส คำนึงถึงประชาชนที่มาใช้บริการว่ามีความเดือดร้อน ต้องช่วยแก้ไขปัญหาและให้บริการที่สะดวกรวดเร็วเป็นธรรมมากที่สุดเพื่อความพอใจของผู้มาใช้บริการ และมีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานในการเพิ่มศักยภาพให้แรงงานเพื่อตรงความต้องการของผู้ประกอบการอีกด้วย
ขอเชิญร่วมการแข่งขันเปปองชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
นายปริวรรธน์  แสงพิทักษ์  ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 4  เปิดเผยว่า  ชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาฯนครปฐม ขอเชิญร่วมการแข่งขันเปปองชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีวันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554  เวลา 08.00 น.  ณ สนามวันกกตาล อ.นครชัยศรี จังหวัดนครปฐม   เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  และเทิดทูนบูชา 84 พรรษามหาราชาภูมิพล  รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการต่อต้านยาเสพติด   นอกจากนี้ยังเป็นการสืบสานและเผยแพร่กีฬาเปตอง  สร้างความสามัคคีและส่งเสริมสุขภาพอนามัย  และสืบสานประเพณีของชุมนุมนิสิตเก่าจุฬาฯ นครปฐม    โดยมีประเภทการแข่งขัน ประกอบด้วยประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ปี และประเภทเยาวชนอายุไม่เกิน 15 ปี  ส่งใบสมัครได้ที่ คุณชนะ สีมารัตน์  มือถือ 08-1844-4521  ภายในวันที่  12  ตุลาคม พ.ศ. 2554
รมว.กระทรวงสาธารณสุขเปิดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนต่อต้านยาเสพติด “กำแพงแสน 79 คัพ
อำเภอกำแพงแสน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริษัทกลุ่ม 79 จำกัด และบริษัทวัสดุภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด  จัดการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนต่อต้านยาเสพติด เพื่อเป็นการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดและสนองตามนโยบายของรัฐบาล 
         วันนี้(8 ตค.54)    สนามกีฬากลางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  นายวิทยา  บุรณศิริ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานการแข่งขันฟุตบอลตามโครงการฟุตบอลเยาวชนต่อต้านยาเสพติด กำแพงแสน 79 คัพ ครั้งที่ 9 ปี 2554  โดยมี  นายเรวัต  อัมพวานนท์  นายอำเภอกำแพงแสน  กล่าวรายงาน  สำหรับการจัดแข่งขันในครั้งนี้ ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดี และเป็นทางเลือกหนึ่งให้กลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเยาวชน บุตรหลาน ได้แสดงออกในกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ และเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างความตื่นตัวให้เยาวชนได้หันมาห่วงใยสุขภาพของตนเอง ทำให้ร่างกายแข็งแรง มีภูมิต้านทานยาเสพติด ห่างไกลจากยาเสพติด เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ และเติบโตเป็นเยาวชนที่ดีและเป็นกำลังสำคัญของต่อต่อไป  นอกจากนี้ยังการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดสนองนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย 


7
แถลงข่าววันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554
หอภาพยนตร์ จัดแถลงข่าววันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554 เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึก/ความรัก/หวงแหน และภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของชาติร่วมกัน
(7 ตค.54) ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา นครปฐม  อำเภอพุทธมณฑล  จังหวัดนครปฐม     นางสุกุมล  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานแถลงข่าววันอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย และขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2554ขึ้น โดยมี นายโดม สุขวงศ์ ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน  เพื่อเป็นการดำเนินการอนุรักษ์ภาพยนตร์ไทย พร้อมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึก/ความรัก/หวงแหน และความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมของชาติร่วมกันอีกด้วย   ซึ่งภายในงานได้มีการพาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย และแนะนำอาคารบริการโสตทัศน์ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พร้อมทั้ง ได้มีพิธีลงนามเพื่อรับรองการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2554  และได้มีการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2554 โดยภาพยนตร์ที่ได้ขึ้นทะเบียนในปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 25  เรื่อง  
ที่ปรึกษารัฐมนตรีตรวจเยี่ยมนครปฐมเตรียมป้องกันอุทกภัยตลาดบางหลวง รศ.122               
จังหวัดนครปฐม ระดมทหารอากาศจากโรงเรียนการบิน กำแพงแสน  ร่วมกับเทศบาลตำบลบางหลวง   ทำคันกระสอบทรายตลอดแนวล้อมรอบตลาดบางหลวง รศ.122  ซึ่งเป็นตลาดเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี  เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้
วันนี้(7 ตค.54)  นายสมนึก สกุลรัตกุลชัย  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขาส่วนตัวของนายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครปฐม  ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจแก่กำลังพลทหารอากาศ จำนวน 50 นาย  นำโดย น.อ.สุทัศน์ แสงเดช เสนาธิการโรงเรียนการบิน   ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ต.ศิวเกียรติ์  ชเยมะ  ผู้อำนวยการโรงเรียนการบิน    ตลาดบางหลวง  อำเภอบางเลน  จังหวัดนครปฐม   ที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มแข็งกับเทศบาลตำบลบางหลวง  ในการบรรจุกระสอบทรายเพื่อทำคันกันน้ำสูงกว่าระดับน้ำ 1.20 เมตร  เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำท่าจีนไหลเข้าสู่ตลาด  ซึ่งคาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีนจะเออล้นตลิ่งภายใน 7 วันนี้อย่างแน่นอน  ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนในเขตพื้นที่อำเภอบางเลน นครชัยศรี และอำเภอพุทธมณฑล
สำหรับเมื่อคืนของวันที่ 6 ตุลาคม 2554  ได้มีฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดนครปฐม  ส่งผลทำให้น้ำท่วมขังถนนเกือบทุกสายในตัวเมืองนครปฐม  รวมทั้งถนนเพชรเกษมที่ผ่านจังหวัดนครปฐมด้วย
จังหวัดนครปฐมจัดแถลงข่าวเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยที่คาดว่าระดับน้ำอาจสูงขึ้นเร็วๆนี้
        ( ๕ ต.ค. ๕๔)  ที่ห้องประชุมชั้น ๔ ศาลากลางจังหวัดนครปฐม นายนิมิต จันทน์วิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัยจังหวัดนครปฐม เพื่อสรุปสถานการณ์อุทกภัยและวาตภัยในพื้นที่จังหวัด พร้อมทั้งรับทราบผลการปฏิบัติงานของหน่วยที่เกี่ยวข้อง โดยหลังการประชุมได้เปิดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงความพร้อมในการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวาตภัย โดยจังหวัดได้สั่งการให้หน่วยงานทุกระดับในพื้นที่ให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยริมแม่น้ำท่าจีนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอบางเลน นครชัยศรี และอำเภอพุทธมณฑล ซึ่งคาดว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีก
สำหรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครปฐม จนถึงขณะนี้ มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น ๖ อำเภอ ๖๓ ตำบล ๔๗๕ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อนประมาณ ๖๕,๐๐๐ คน กว่า ๒๐,๐๐๐ ครัวเรือน แนวโน้มสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก เนื่องจากน้ำที่ท่วมขังพื้นที่เกษตรในอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี กำลังไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ประกอบกับปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามาจากทุ่งผักไห่และทุ่งเจ้าเจ็ด จังหวัดพระนครสรีอยุธยา ทำให้ระดับน้ำในคลองพระยาบันลือสูงขึ้น อาจมีผลกระทบถึงพื้นที่ลุ่มต่ำของจังหวัดนครปฐม

8
จังหวัดนครปฐมประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference)แก้ไขปัญหาน้ำท่วม
(3 ตค.54) นายนิมิต จันทน์วิมล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ (VDO Conference) ที่ ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ(วอร์รูม) ชั้น ศาลากลางจังหวัดนครปฐม  โดยมี นายพระนาย  สุวรรณรัตน์  ปลัดกระทรวงมหาดไทย  เป็นประธานการประชุมและรายงานว่าขณะนี้ยังมี 25 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย ทุกภูมิภาคยังคงมีฝนกระจาย และคาดว่าระหว่างวันที่ 6 - 9 ต.ค.นี้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะได้รับผลกระทบจากพายุนาเกล ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำต่างๆ ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ ผวจ.แต่ละจังหวัดเร่งสำรวจความแข็งแรงของคันกั้นน้ำรองรับสถานการณ์ ปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่คาบเกี่ยวกันของแต่ละจังหวัดให้ ผวจ.หารือ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันป้องกันไม่ให้จังหวัดใดจังหวัดหนึ่งได้รับผลกระทบอยู่ฝ่ายเดียว พร้อมทั้งให้ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนโครงการขุดลอกคลองที่ ผวจ.ที่ประสบอุทกภัย ได้มีการนำเสนอแผนโครงการให้ ศอส.พิจารณาอนุมัติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพื่อเปิดทางระบายน้ำ และโครงการจัดทำเขื่อนและแก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำนั้นขอให้ ศอส.เร่งพิจารณาโครงการ และนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการต่อไป
องคมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการพระดาบสสัญจร
องคมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการพระดาบสสัญจร ครั้งที่ ๖๒ เพื่อออกให้ความรู้แก่ประชาชน และฝึกทักษะในการซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตร
                ( ๒๕ ก.ย. ๕๔)  พลเรือเอกชุมพล ปัจจุสานนท์ องคมนตรี กรรมการมูลวินิธิพระดาบส พร้อมด้วยคณะข้าราชการสำนักราชเลขาธิการ พระราชงวัง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิพระดาบส เดินทางไปยังวัดวังน้ำขาว ตำบลคลองจินดา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม  จัดโครงการพระดาบสสัญจร เพื่อให้ความรู้ และฝึกทักษะในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร รวมทั้งอบรมให้ความรู้หลักสูตร ปุ๋ยสั่งตัดให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ยังมีการให้บริการทางการแพทย์ และสุขภาพแก่ประชาชน โดยมี นางวารุณี พงษ์ศิวาภัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ให้การต้อนรับ พร้อมกันนี้ ได้ร่วมกับจังหวัดนครปฐมมอบถุงพระราชทานแก่ประชาชน ในอำเภอสามพราน จำนวน ๒๐๐ ชุด
            สำหรับโครงการพระดาบสสัญจร เป็นโครงการที่จัดทำขึ้น   เพื่อสนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มุ่งให้บริการความรู้ และเพิ่มทักษะการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องกลการเกษตร อันเป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคม นอกจากนี้ยังเพิ่มพูนความรู้และทักษะให้กับนักเรียนที่เป็นศิษย์พระดาบสในการซ่อมบำรุง โดยมีการจัดในลักษณะศูนย์บริการเคลื่อนที่ให้ความรู้และให้บริการประชาชนในพื้นที่จังหวัดที่ทำการเกษตรทั่วประเทศแบบต่อเนื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในโอกาสนี้ องคมนตรี ได้มอบต้นกล้ายางนาแก่ รองผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน ๘๕ ต้น มอบเก้าอี้รถเข็นแก่คนพิการ จำนวน ๙ คัน มอบไม้เท้าจากโครงการ ก้าวย่างที่มั่นคง”  จำนวน ๒๕ อัน นอกจากนี้บริษัทเทสโก้โลตัสยังได้มอบทนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน ๑๕ ทุนๆละ ๒,๐๐๐ บาท อีกด้วย








9
สรุปสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย ของจังหวัดนครปฐม ประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2554  เวลา 12.00 น.
นายมรกต  คงทน  ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม  ได้รับแจ้งจาก  ร้อยตรีพงศธร  ศิริสาคร  หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครปฐม    เกี่ยวกับสถานการณ์การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยปัจจุบันจังหวัดนครปฐม ว่า จังหวัดนครปฐมเริ่มมีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง มาตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2554 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันทำให้จังหวัดนครปฐมมีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั้งสิ้น จำนวน 6 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอบางเลน, นครชัยศรี, สามพราน, ดอนตูม อำเภอกำแพงแสน  และพุทธมณฑล  มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย 63 ตำบล 475 หมู่บ้าน  และราษฎรได้รับความเดือดร้อน รวม 64,925 คน 21,442 ครัวเรือน    
ซึ่งมีความเสียหายรวมมูลค่าในเบื้องต้นประมาณ 19, 407,657.00 บาท  ประกอบด้วย ด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 4,838 หลัง   และด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ ถนน 145 สาย สะพาน 10 แห่ง วัด 10 แห่ง  โรงเรียน 8 แห่ง  โรงงาน 2 แห่ง   ส่วนด้านการเกษตร ความเสียหายเบื้องต้นของพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบจาก กรณีอุทกภัยในระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 7 ตุลาคม 2554 ในพื้นที่การเกษตรของอำเภอนครชัยศรี บางเลน พุทธมณฑล กำแพงแสน สามพรานและอำเภอดอนตูม  ปรากฏว่า ขณะนี้ มีพื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหายสะสมจำนวน 29,885.50 ไร่  เป็นข้าว 25,877.50 ไร่,  พืชสวน 2,622 ไร่,  พืชไร่ 1,376 ไร่  เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1,990 ราย    
สำหรับการคาดหมายสถานการณ์และการเฝ้าระวังนั้น สถานีอุตุนิยมวิทยานครปฐม รายงานพยากรณ์อากาศบริเวณจังหวัดนครปฐม ท้องฟ้ามีเมฆมาก(8-9 ส่วน/10 ส่วน) กับจะมีฝนและฝนฟ้าคะนองกระจาย 60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 องศาเซลเซียส  ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 -30 กม.ต่อชม.  
        ส่วนสถานการณ์น้ำ ในวันพรุ่งนี้(8 ต.ค.54)  อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งตรวจสอบแนวป้องกัน โดยพิจารณาจากข้อมูลระดับน้ำ ที่สถานีวัดน้ำบ้านบางการ้อง ต.บางเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ระดับน้ำวัดได้ 3.18 เมตร สูงกว่าระดับตลิ่ง 0.18 เมตร (ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 0.07 ม.) และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากน้ำที่ท่วมขังพื้นที่เกษตร ในเขต อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี กำลังไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน   
       สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลบ่ามาจากพื้นที่เกษตรด้านบน (ทุ่งผักไห่และทุ่งเจ้าเจ็ด) ทำให้ระดับน้ำในคลองพระยาบันลือ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ขณะนี้ต่ำกว่าตลิ่งหรือแนวป้องกันที่เสริมใหม่อยู่ 0.35 ม. ระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน(8 ตค.54) 0.08 เมตร  (ระดับตลิ่งใหม่ 3.50 ม.)  และได้มีการเปิดบานระบาย เพื่อรับน้ำเข้าพื้น ที่เกษตรฝั่งซ้ายของแม่น้ำท่าจีน บริเวณตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน ซึ่งจะส่งผลถึงอำเภอนครชัยศรี และอำเภอพุทธมณฑล 
และทางด้าน นายชูชาติ  รักจิตร  ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครปฐม  รายงานว่าสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 9 ตุลาคม 2554 ดังนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำท่าจีน
ที่สถานีวัดน้ำบ้านบางการ้อง(T13) จังหวัดสุพรรณบุรีระดับน้ำท่าจีน 3.18 เมตร จากระดับตลิ่ง 3.00 เมตร  เปรียบเทียบระดับน้ำสูงกว่า 18 เซนติเมตร  เมื่อเปรียบเทียบจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 เพิ่มขึ้น 7 เซนติเมตร  สถานการณ์มีปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ   
สถานีวัดน้ำบางไทรป่า(T15) ระดับน้ำท่าจีน 2.62 เมตรจากระดับตลิ่ง 2.20 เมตร  เปรียบเทียบระดับน้ำสูงกว่า 42 เซนติเมตร  เมื่อเปรียบเทียบจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554 เพิ่มขึ้น 8 เซนติเมตร  สถานการณ์มีปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ    
สถานีวัดน้ำนครชัยศรี(T1) ระดับน้ำท่าจีน 2.07 เมตร จากระดับตลิ่ง 1.70 เมตร  เปรียบเทียบระดับน้ำสูงกว่า 37 เซนติเมตร  เมื่อเปรียบเทียบจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554  ยังเท่าเดิม  สถานการณ์มีปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำ   
10

และสถานีวัดน้ำสามพราน(T14) ระดับน้ำท่าจีน 3.73  เมตร จากระดับตลิ่ง 4.00 เมตร  เปรียบเทียบระดับน้ำต่ำกว่า 27 เซนติเมตร เมื่อเปรียบเทียบจากเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2554  ลดลง 2 เซนติเมตร  สถานการณ์เฝ้าระวังอยู่       
ส่วนสภาพน้ำท่าในคลองสายสำคัญ ได้แก่
คลองพระยาบันลือ ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งที่เสริมใหม่ 35 เซนติเมตร  เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54  เพิ่มขึ้น 8 เซนติเมตร สูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงสู่แม่น้ำท่าจีน ปริมาณน้ำ 14.40 ลบ.ม.ต่อวินาที,  
คลองพระพิมล ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่เสริมใหม่ 32 เซนติเมตร เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54 เพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร  ซึ่งสูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงแม่น้ำท่าจีนปริมาณ 22.25 ลบ.ม.ต่อวินาที,   
คลองมหาสวัสดิ์ ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่เสริมใหม่ 19 เซนติเมตร เมตร เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54  เพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร  สูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงสู่แม่น้ำท่าจีนปริมาณ 13.75 ลบ.ม.ต่อวินาที,   
คลองบางภาษี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 75 เซนติเมตร เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54 เพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตร สูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงแม่น้ำท่าจีนปริมาณ 18.00 ลบ.ม.ต่อวินาที
คลองลำพญา  ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่เสริมใหม่ 72 เซนติเมตร เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54 เพิ่มขึ้น 30 เซนติเมตร   สูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงสู่แม่น้ำท่าจีนปริมาณ 2.00 ลบ.ม.ต่อวินาที   
และคลองประชาศรัย ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งที่เสริมใหม่ 51 เซนติเมตร เปรียบเทียบเมื่อวันที่ 8 ต.ค.54  เพิ่มขึ้น 2 เซนติเมตร  สูบน้ำในพื้นที่เพาะปลูกลงสู่แม่น้ำท่าจีนปริมาณ 2.40 ลบ.ม.ต่อวินาที
        ซึ่งในระยะนี้ จังหวัดนครปฐม โดยศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย จังหวัดนครปฐม  ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครปฐม และพื้นที่ตำบลหมู่บ้านต่างๆในเขตอำเภอเมืองนครปฐมได้ทราบว่า จังหวัดได้ประสานกับ สนง.ชลประทานที่ 13 ให้ควบคุมลดปริมาณน้ำในคลองชลประทานสาย 5 L และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเร่งกำจัดวัชพืชสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างเร่งด่วนแล้ว  นอกจากนี้ยังให้มีการผลักดันน้ำจากคลองธรรมศาลา ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมือง  ไปเข้าคลองบึงกุมบึงช้างหรือบึงบางระกำ อำเภอนครชัยศรี   ลงคลองจินดา อำเภอสามพราน  เพื่อที่จะได้ผลักดันลงสู่ทะเล  ในส่วนของพื้นที่อำเภอต่างๆ จะมีการผลักดันน้ำพร้อมกันที่จุด สะพานวัดเทียนดัด  สะพานอำเภอสามพราน   สะพานโพธิ์แก้ว  และสะพานวัดไร่ขิง
สำหรับการให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานในจังหวัดนครปฐม  ได้เข้ามาดูแลและระดมให้ความช่วยเหลือหลายๆ ด้านในเบื้องต้นเป็นการเร่งด่วนแล้ว  อาทิ ด้านเครื่องอุปโภค/บริโภค  ด้านสาธารณสุข  ด้านอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ  ด้านแรงงาน   และโรงเรียนการบิน กำแพงแสน ได้ตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยโรงเรียนการบินและสนับสนุนกำลังพลช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  สามารถแจ้งเหตุได้ที่โทรศัพท์ 0-3499 6502 และ 0-2155 7206   สำหรับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย จังหวัดนครปฐม แจ้งที่โทรศัพท์ 0-3434-0230, 0-3434-0241  (สุชาดา  พรหมจำรัส/ข่าว)










11
ปฏิทินงาน สนง. ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม

๑๐ ตค. ๕๔          ๐๙.๐๐ น.        -ผู้แทนพระองค์ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนมอบถุงยังชีพ/อ.นครชัยศรี
              ๑๓.๐๐ น.    -ประชุม คกก. รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย จ.นฐ./ชั้น ๓ ศลก.
              ๑๔.๐๐ น.    -ประชุม คกก.ป้องกันยาเสพติด/ชั้น ๓ ศลก.
11 ตค.54            07.00 น. -ออกหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่พระภิกษุสามเณร/ซุ้มพุทธมามกะ  องค์พระฯ
              09.00 น.      -สมเด็จพระเทพฯเปิดงานโครงการวิทยาศาสตร์นักเรียนฯ/รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ พุทธมณฑล
14 ตค.54            13.๐0 น. -พิธีอุปสมบทหมู่เฉลิมพระเกียรติฯ/ซุ้มพุทธมามกะ  องค์พระปฐมเจดีย์
              14.09 น.     -ประกอบพิธีพลีกรรมตักน้ำ ณ สระน้ำจันทร์(สระบัว) ต.สนามจันทร์
20 ตค.54            09.00 น. -งานวันคล้ายวันก่อตั้งสถาบันการประชาสัมพันธ์/กรมประชาสัมพันธ์
๒๔ ตค.๕๔          ๑๔.๐๐ น.        -สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จถวายผ้าพระกฐินหลวง/องค์พระปฐมเจดีย์
 ๖ พย.๕๔                  -เลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น
 ๗ พย. ๕๔          ๑๔.๓๐ น.        -เปิดงานเทศกาลนมัสกาลองค์พระปฐมเจดีย์/องค์พระฯ
28 พย.54            18.09 น. -ประกอบพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์และบรรจุใส่ในโถฯ ณ พระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ฯ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น