pearleus

วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สมุทรสาครร่วมใจสู้ภัยน้ำท่วม

สมุทรสาครร่วมใจสู้ภัยน้ำท่วม
            เหตุการณ์อุทกภัยครั้งประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ปี 2554 สืบเนื่องมาจากพายุโซนร้อน นกเตน” (NOCK-TEN) ที่เกิดขึ้นจากบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ได้พัดเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม ประเทศลาว จนมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย ในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา จนนำไปสู่ความเดือดร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศ รวมกว่า 28 จังหวัด
ขณะที่เดือนสิงหาคมได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำก่าลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศตอนบน ท่าให้มีฝนตกชุกจนเกิดน้ำท่วมต่อเนื่อง จากนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน ไห่ถาง” (HAITANG) ที่อ่อนกำลังลงเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ พร้อมกับที่ไต้ฝุ่น เนสาด” (NESAT) ที่เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนจนมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นระยะๆ จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
มวลน้ำจำนวนมหาศาลจากภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน เมื่อไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์นับล้านลูกบาศก์เมตร ผลกระทบจึงเกิดขึ้นราวกับโดมิโน่ ไล่ตั้งแต่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เรื่อยมาถึงสมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา ก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย ซึ่งความแรงของกระแสน้ำมีอานภาพทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างบนแผ่นดินให้กลายเป็นทะเลสาบในชั่วพริบตา
อุทกภัยครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 350  ราย มีผู้ได้รับผลกระทบรวมกว่าหลายล้านคน พื้นที่การเกษตรโดยเฉพาะนาข้าวและสวนผลไม้ พื้นที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม อาทิ สหรัตนนคร โรจนะ ไฮเทค บางปะอิน แฟคตอรี่แลนด์วังน้อย นวนคร และบางกะดี โรงงานกว่า 1,000 แห่งล้วนจมอยู่ใต้น้ำ และยังมีพื้นที่เฝ้าระวังจำนวนมากซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม
ไม่น่าเชื่อว่า จังหวัดสมุทรสาครแม้จะยังไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมในทันทีเหมือนจังหวัดอื่นๆ แต่ก็มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมวลน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่ทะเลที่อ่าวมหาชัย ซึ่งโดยวิสัยทัศน์ของนายจุลภัทร แสงจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร, นายสุริยะ ปราสาทบัณฑิตย์ และนายอภิชาต โดดิลกเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นับตั้งแต่ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติฉุกเฉินล่วงหน้า ก็ทำให้การเตรียมการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเริ่มต้นจากมาตรการขับเคลื่อนผลักดันน้ำป้องกันท่วมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ซึ่งมีเจ้าของเรือประมงทั้งขนาดเล็กและใหญ่กว่า 1,000 ตัน พร้อมชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบางส่วน ได้ร่วมเตรียมนำเรือออกเดินเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีน เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่และระบายน้ำช่วยจังหวัดอื่นๆ ลงปากอ่าว ทั้งนี้ จำนวนเรือประมงที่ช่วยกันคาดว่าจะใช้ 300-400 แรงม้าขึ้นไปเดินเครื่องผลักดันไปพร้อมๆ กัน เพื่อบรรเทาปริมาณน้ำจากกรุงเทพมหานครด้วย
ด้วยความร่วมมือของจังหวัดสมุทรสาคร ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งนายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ อดีต ส.ส.สมุทรสาคร ในฐานะผู้แทนภาคธุรกิจประมง และนายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร ทุกวันนี้ในแม่น้ำท่าจีนเราจะเห็นเรือประมงเดินเครื่องผลักดันน้ำในช่วงน้ำทะเลลดลง เพื่อให้น้ำที่มาจากทางภาคเหนือ ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีนและสร้างความเสียหายแก่จังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐมไหลลงสู่ทะเลได้รวดเร็ว
เมื่อผลงานเป็นไปอย่างน่าพอใจ รัฐบาลที่นำโดย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกต้องลงมาดูผลงานการรับมือน้ำท่วมด้วยตัวเอง พร้อมกับความช่วยเหลือทั้งการขุดลอกจุดที่แม่น้ำท่าจีนตื้นเขิน 3 จุดเพื่อให้กระแสน้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น รวมทั้งการทำหน้าที่รับน้ำจากกรุงเทพฯ เพื่อคลายความเดือดร้อนของพี่น้องร่วมชาติที่ถูกน้ำท่วมให้เบาบางลงอีกด้วย
ขณะเดียวกัน เทศบาลนครสมุทรสาคร นำโดย นายกุลวัชร หงษ์คู นายกเทศมนตรีนครสมุทรสาคร ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องจุดเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุน การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รวมทั้งการแจกกระสอบทรายแก่ชาวบ้านทั้ง 3 ตำบล คือมหาชัย ท่าฉลอม และโกรกกรากอย่างไม่ขาดสาย ส่วนพื้นที่นอกเขตตัวเมือง อบจ.สมุทรสาครโดย นายอุดร ไกรวัตนุสสรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสาคร ก็แจกจ่ายกระสอบทรายในพื้นที่ อ.เมืองฯ และ อ.กระทุ่มแบน รวมทั้งติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามคลองต่างๆ เช่นกัน ทำให้ประชาชนชาวมหาชัยมีความตื่นตัวที่จะป้องกันตัวเองมากขึ้น
สำหรับอำเภอกระทุ่มแบน นายสมบูรณ์ บุญแสงทิพย์ นายอำเภอกระทุ่มแบน และนายนิวัฒน์ ขวัญบุญ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกระทุ่มแบน ก็รายงานสถานการณ์น้ำท่วมและการเฝ้าระวังในพื้นที่ อ.กระทุ่มแบนอย่างเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ มีทั้งประสานความร่วมมือกับทางค่ายกำแพงเพชรอัครโยธิน อ.กระทุ่มแบน จัดเจ้าหน้าที่ออกเฝ้าระวังระดับน้ำ และประสานไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาภาษีเจริญ สำนักชลประทานที่ 11 กรมชลประทานเป็นระยะเพื่อขอข้อมูลสถานการณ์น้ำแบบวันต่อวัน
ขณะที่ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมยังมีการก่อคดีอาชญากรรมมากมาย ในยามที่เรียกได้ว่าข้าวยากหมากแพงของจริง คงต้องยกหน้าที่และเอาใจช่วยกับให้กับ พ.ต.อ.จำแรง สุดใจ ผกก.สภ.เมืองสมุทรสาคร, พ.ต.อ.พลัฏฐ์ วิเศษสิงห์ ผกก.สภ.กระทุ่มแบน และ พ.ต.อ.ภัคพล เล็กท่าไม้ ผกก.สภ.บ้านแพ้ว ในการปราบปรามคดีอาชญากรรมซ้ำเติมประชาชน เพื่อความสงบสุขในยามที่มีภัยแสนสาหัส    ทั้งหมดนี้คือความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนสมุทรสาคร ในฐานะที่เป็นเลือดน้ำเค็ม ซึ่งเป็นเลือดนักสู้และรู้จักความพยายามมุ่งมั่นและอดทน ด้วยประโยชน์ที่ทุกฝ่ายต่างเสียสละเช่นนี้ ย่อมนำความปกติสุขมาสู่ประชาชนชาวสมุทรสาคร อาจเรียกได้ว่าที่นี่กลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายของคนไทยทั้งประเทศ ที่จะรับมือกับมวลน้ำจำนวนมหาศาลได้เป็นระบบ ก่อนที่มวลน้ำที่พัดพาซึ่งความสูญเสียพร้อมคราบน้ำตาไหลลงสู่ทะเล ให้คนไทยทุกคนได้นับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น