pearleus

วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

TBCSD ระดมภาครัฐ&หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้PM2.5 ชง6มาตรการเสนอรัฐเร่งขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ



 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Thailand  Business Council for Sustainable Development :TBCSD) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จัดงานเสวนา ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” ณ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ณ อาคาร ENCO B กรุงเทพฯ

ทั้งนี้เป็นการระดมภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถกประเด็น “ภาคธุรกิจไทย (TBCSD) กับการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM2.5” พร้อมชง 6 มาตรการ ได้แก่ เสนอรัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม - สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อย PM2.5 - เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล - ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง - พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน - สื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ หวังกระตุ้นการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพอนามัย และสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง
ตลอดจนร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งนำเสนอบทสรุปและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะในระดับนโยบายต่อไป

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) กล่าวในการเปิดงานเสวนา ดังกล่าว ว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5  ที่อยู่ในระดับเกินค่ามาตรฐานได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย และจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในส่วนของ TBCSD ที่มีสมาชิกกว่า 40 องค์กรจากทุกภาคอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน ธนาคาร อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง ค้าปลีก โรงกลั่น ปิโตรเคมี ถือเป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นเครือข่ายภาคเอกชนมารวมตัวกัน ซึ่งแต่ละองค์กรมีระบบการบริหารจัดการในการลดผลกระทบจากปัญหา PM2.5 อาทิ ระบบการผลิต การขนส่ง เป็นต้น นับเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ที่จะมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้ลดลงได้  ซึ่งการจัดงานเสวนาในครั้งนี้จะเป็นนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันหาแนวทางบริหารจัดการแบบบูรณาการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งนำเสนอบทสรุป    และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 จากกลุ่ม TBCSD ที่จะนำไปขับเคลื่อนและเสนอแนะในระดับนโยบายต่อไป

ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่า ในปี 2562 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เท่ากับ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ในช่วงที่มีฝนตกปริมาณฝุ่นก็จะปรับลดลง  ซึ่งในการแก้ไขปัญหาต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยทุกภาคส่วนจะต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แม้ว่ามาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะยังไม่เห็นผลในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า เช่น มาตรการในเรื่องของน้ำมันที่ไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนประเภทรถซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป

นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบเศรษฐกิจพบว่าปัญหา PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะทำให้เสียโอกาสด้านเศรษฐกิจประมาณ  3,200-6,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นด้านสุขภาพประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท การท่องเที่ยว 1,000-2,400 ล้านบาท และด้าน     อื่น ๆ อีก 200-600 ล้านบาท ซึ่งปัญหา PM2.5 จะยังอยู่จนกว่าจะได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ โดยสาเหตุของปัญหา PM2.5 ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่เกิดจากการเผาไหม้ของรถยนต์ การเผาในที่โล่ง เช่น เผาขยะ และการเผาในภาคการเกษตร โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งการแก้ไขปัญหาจะต้องมี Action  Plans ที่ตรงจุด เช่น ภาครัฐสนับสนุนการใช้เครื่องจักรตัดอ้อยแทนการเผา และโครงการรับซื้อรถเก่าเพื่อเปลี่ยนเป็นรถใหม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายและที่สำคัญคือจะต้องครอบคลุมปัญหาทั้งในระยะสั้นหรือปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาในระยะยาว โดยจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายเป็นเฟส และทุกมาตรการมีทั้งผลบวกและผลกระทบทั้งสิ้น และหากปัญหา PM2.5 ยังไม่ได้รับการแก้ไขก็จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ การสูญเสียทรัพยากรด้านแรงงาน รวมถึงการสูญเสียเชิงภาพลักษณ์ในแง่ของการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางการแพทย์อีกด้วย

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา เลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) และผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กล่าวว่าสำหรับในส่วนของ TBCSD  ได้ดำเนินมาตรการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา PM2.5 ใน 3 ส่วนหลักๆ มาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ 1.มาตรการที่บริษัทสมาชิกดำเนินการเองโดยสมัครใจ เช่น การส่งเสริมการตรวจสภาพและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ การบรรทุก-ขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ การมีพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ 2.มาตรการขอความร่วมมือจากบริษัทสมาชิกในช่วงวิกฤต เช่น เลือกใช้น้ำมันที่เป็น Bio-based  (น้ำมัน B ต่าง ๆ) หรือก๊าซธรรมชาติ ลดการใช้รถใช้ถนน  3.สร้างการรับรู้แก่พนักงานขององค์กรและประชาชนทั่วไปให้รับรู้ถึงปัญหาและผลกระทบ วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5  โดยการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและใช้สื่อออนไลน์ให้เป็นประโยชน์

สำหรับการเสวนาในครั้งนี้ TBCSD ได้รวบรวมข้อเสนอแนะ 6  มาตรการแก้ไขปัญหา PM2.5 เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลดังนี้      1. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองและหลักการ 12 มาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 2. สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อย PM2.5 3.เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 4.ส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่วิเคราะห์ต้นทุนในทุกมิติที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้เป็นรูปธรรม 5.พัฒนาเครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 ให้เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน และ 6.การสื่อสารข้อมูล PM2.5 ให้เป็นเอกภาพ พร้อมสร้างแนวร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น