กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ผลักดันการค้าระหว่างประเทศในเชิงรุก จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้ กระตุ้นตลาดส่งออกพืชผลเศรษฐกิจ มีผู้นำเข้า ผู้ซื้อ และตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ 45 บริษัท จาก 13 ประเทศทั่วโลก และผู้ประกอบการ Platform Online 14 ราย มาพบปะเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยกว่า 70 ราย คาดมีมูลค่าการเจรจาซื้อขายกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าเจรจาซื้อขายทันที 400 ล้านบาท พร้อมจัดพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าต่างประเทศ รวมมูลค่ากว่า 1,095 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป และพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อเพิ่ม ขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งผลไม้ไทย เป็นพืชผลเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ในปี 2562 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการส่งออกผลไม้สด 113,124 ล้านบาท (3,648 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป 50,606 ล้านบาท (1,634 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และตลาดมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายของสินค้า และมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ตลาดต้องการ โดยประเทศที่ไทยส่งออกผลไม้สดสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ จีน เวียดนาม ฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย สินค้าที่มียอดส่งออกสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่ ทุเรียน ลำไย และมังคุด และประเทศที่ไทยส่งออกสินค้าผลไม้แปรรูปสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา และเนเธอร์แลนด์ สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ผลไม้กระป๋อง และน้ำผลไม้
เพื่อรองรับผลผลิตที่จะออกมาจำนวนมากในช่วงฤดูกาลผลไม้ในที่จะถึงนี้ กระทรวงพาณิชย์โดย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) วางแผนจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดสินค้าผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป เพื่อผลักดันการค้าระหว่างประเทศในเชิงรุก และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าอย่างต่อเนื่อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญ เน้นการรักษาตลาดเดิม เปิดตลาดใหม่ และฟื้นฟูตลาดเก่าจากสถานการณ์ในต่างประเทศที่เคยเป็นอุปสรรค โดยบูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร รวมถึงทูตพาณิชย์ในต่างประเทศให้ร่วมเป็นทัพหน้าในการรุกตลาดส่งออกผลไม้ไทย
โดยการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปในครั้งนี้ ได้เชิญผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ตัวแทนจำหน่ายจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก 45 บริษัท จาก 13 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ จีน เวียดนาม เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เมียนมาร์ ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร สเปน และฝรั่งเศส รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ อาทิ ทีมอลล์โกลบอล ในเครืออาลีบาบา ประเทศจีน บิ๊กบาสเก็ตดอทคอม ประเทศอินเดีย คลังดอทคอม ประเทศกัมพูชา อเมซอนสิงคโปร์ และอื่นๆ รวม 14 แพลตฟอร์ม มาร่วมเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 70 บริษัท เพื่อผลักดันเร่งระบายสินค้า และเสริมสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือทางการค้ากับต่างประเทศที่มีศักยภาพ ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมพิเศษ พาคณะผู้นำเข้า ผู้ซื้อ ตัวแทนจำหน่าย เข้าเยี่ยมชมสวนผลไม้และโรงงานผลไม้แปรรูป และการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับสินค้าผลไม้ไทย เพื่อตอกย้ำภาพลักษณ์และศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและมาตรฐานส่งออก รวมทั้งแสดงความก้าวหน้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
นอกจากนี้ DITP ยังจัดพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) สร้างโอกาสทางการค้าและ ความร่วมมือระหว่างผู้ส่งออกไทยกับคู่ค้าจากประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ในการซื้อขายสินค้าผลไม้สด (ทุเรียน ส้มโอ มะม่วง ลำไย สละ) ผักสด (มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง กระเจี๊ยบ ข้าวโพดอ่อน พริก) และผลไม้อบแห้งต่างๆ กว่า 10,000 ตัน รวมมูลค่าซื้อขายกว่า 1,095 ล้านบาท ซึ่งคาดหวังผลจากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ จะช่วยเร่งระบายสินค้าผลไม้ พร้อมกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ซื้อ/ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทย ส่งผลให้มีการเจรจาค้าขาย และคาดว่ามียอดเจรจาซื้อขายทันทีอีก 400 ล้านบาท รวมมูลค่าการซื้อขายจากการจัดกิจกรรมนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท
กิจกรรมจับคู่ธุรกิจสินค้าผลไม้ และพิธีลงนามความตกลงทางการค้า (MOU) เป็นเพียงหนึ่งกิจกรรมเชิงรุกที่ DITP จัดทำขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา DITP ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าระหว่างประเทศที่ก้าวสู่ระบบการค้าเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านกิจกรรมผลักดันพืชผลทางการเกษตร สินค้าเกษตรกรรม และสินค้าอาหารไทยสู่ตลาดโลกผ่านช่องทางออนไลน์ โดยแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงพัฒนาและส่งเสริมกลุ่มผู้ให้บริการธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Enables) ที่มีความน่าเชื่อถือในระดับสากลในการผลักดันผู้ประกอบการไทยให้สามารถทำการค้าออนไลน์ได้อย่างเข้มแข็ง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น