ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.)ร่วมเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มมวลชนและปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อความมั่นคงและภาคประชาชนทั่วประเทศ มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต เสริมสร้างอาชีพและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้กอ.รมน.และ วช.ร่วมจัดกิจกรรม Kick-off เปิดตัว “โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลุ่มมวลชน โดยการยกระดับศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 มี.ค.63 ณ ศาลาการเปรียญ วัดมาบแฟบ ตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็งด้วยวิจัยและนวัตกรรม ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน
ในการนี้ ได้รับเกียรติจากนายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม Kick-off ครั้งที่ 2 ร่วมกับ พลตรีกฤษณะ วัชรเทศ รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฎิบัติที่ 1 กอ.รมน. พร้อมผู้บริหารของ กอ.รมน.และจังหวัดพิจิตร คณะนักวิจัย และกลุ่มมวลชนจากจังหวัดพิจิตร และจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมด้วย
โดยศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1(ศปป.1) กอ.รมน. และวช. ได้เดินหน้าแผนระยะแรกเพื่อขยายผลทั่วประเทศ ใน 269 พื้นที่ โดยประมวลผลความต้องการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมและโจทย์การเสริมสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่ตรงความต้องการใช้งานของกลุ่มมวลชน ซึ่งมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปเพิ่มศักยภาพและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ชุมชนใน 5 ผลงาน ได้แก่
1)เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน สู่ชุมชน 6 พื้นที่ ใน 6 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
2)ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ สู่ชุมชน 10 พื้นที่ ใน 8 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
3)ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกหรือพาราโบล่าโดม สู่ชุมชน 4 พื้นที่ ใน 4 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยศิลปากร
4)เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สู่ชุมชน 18 พื้นที่ ใน 13 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
5)เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไม้ สู่ชุมชน 231 พื้นที่ ใน74 จังหวัด โดย มหาวิทยาลัยนเรศวร
โดยมุ่งหวังเมื่อปราชญ์เพื่อความมั่นคงและกลุ่มมวลชนของกอ.รมน.ในพื้นที่นำร่อง ได้รับนวัตกรรมและองค์ความรู้ไปใช้ในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ชุมชนสามารถลดระยะเวลาในกระบวนผลผลิต ลดต้นทุน ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดี รวมทั้งยังสามารถช่วยเสริมรายได้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
ดร.วิภา ให้สัมภาษณ์ว่า ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้งของความร่วมมือกันระหว่าง วช.และกอ.รมน.จังหวัดและชุมชน ในการเดินหน้านำวิจัยและนวัตกรรม มาใช้ในการยกศักยภาพให้ชุมชน โดยพื้นที่นำร่องและจะขยายให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทั้งภาค ของกอ.รมน. ผู้ต่อยอด ซึ่งได้มีการมอบเตาชีวมวลไปแล้ว ซึ่งวช. เข้ามาผนึกกำลังให้เข้มแข็งขึ้น เช่น 1.เครื่องกลั่นน้ำส้มควันไหม้ ที่เป็นงานวิจัยของวช.ช่วยพี่น้องเกษตรกรลดต้นทุน 2.ตู้เพาะเห็ด ที่เพิ่มผลผลิต เสริมรายได้ 1 ตู้ ใช้ก้อนเห็ดถุง 120 ก้อน ไมกี่วันได้ก็ได้ผลผลิต ทั้งปริมาณและคุณภาพเห็ดมากกว่าเมื่อเทียบโรงเห็ดแบบตัวโรงเรือน 3. พาราโดร่า โดม เครื่องอบผลิตผลการเกษตร ไม้ผลเป็นหลัก ระบบน็อคดาว ที่พี่น้องสามารถใช้ร่วมกันได้ ซึ่งเรารับโจทย์มากจากกอ.รมน. 4 เครื่องอบเมล็ดพันธุ์ ลดความชื้น สามารถทำงานได้ชั่่วโมงละ 500 กิโลกรัม ลดเวลา ในการตากข้าวเปลือกโดย 1 ชุด เหมาะกับ วิสาหกิจชุมชน 30-50 ครัวเรือน ซึ่งได้ปูพรมนำร่องที่พิจิตร สำหรับภาพรวมได้มอบงานวิจัยและนวัตกรรมไป 269 พื้นที่ ทั่วประเทศ "กอ.รมน.จะเป็นผู้ชี้โจทย์มาให้เรา หากมีชุมชนหรือพื้นที่อื่นๆ สนใจให้ขอมา วช.เราเป็นผู้สร้างความเชื่อมั่นด้านเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับจังหวัดด้วย"
นายสิริรัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า โครงการนำร่องวันนี้ ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ ที่พี่น้องเกษตร รวมกลุ่มกันบริหารจัดการได้ดี หากกลุ่มอื่นที่มีความประสงค์ หรือมีความพร้อมอยาได้บ้าง ทางจังหวัดก็มีความพร้อมในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อเกษตรกรซึ่งมีอยู่แล้วปีละ 20 กว่าล้านทั้งจังหวัด กลุ่มไหนที่มีความเข้มแข็งขอมาได้เลย "ผมขอเน้นความสำคัญคือต้องเข้มแข็งและพร้อมจริงๆ เราไม่อยากให้ขอไปแล้วบริหารจัดการไม่ได้ทิ้งร้างเป็นอนุสาวรีย์ แบบนั้นไม่เอา คืออยากได้แต่จัดการไม่ดี ซึ่งชุมชนนำร่องนี้ต้องทำให้ดีเพื่อเป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นๆต่อไป"
พลตรีกฤษณะ กล่าวว่า กอ.รมน.มีภารกิจด้านความมั่นคงทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข ลดต้นทุน เสริมรายได้ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน การร่วมมือกันครั้งนี้เพื่อจัดกิจกรรม มอบความสุขแก่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งเราได้ทำร่วมกับวช.และหลายหน่วยงาน ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้น ใหู้ศูนย์ ประสานงานที่มีอยู่ 7,024 ตำบล ได้คัดสรรประชาชนและปราชญ์ชาวบ้าน ช่วยกัน โดยมี การศึกษานอกโรงเรียนทำหน้าที่ประสาน และคัดมาเรื่อยๆ และวช.มีงานวิจัยและนวัตกรรมในการช่วยเสริม ปัจจัยการผลิต ลดต้นทุนเสริมรายได้แก่เกษตรกร
รศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หัวหน้าโครงการ เครื่องอบแห้งอินฟราเรดแบบถังหมุน เปิดเผยว่า อายุการใช้งานของเครื่อง ประมาณ 7 ปี ส่วนความสึกหรอถ้าเกิดขึ้นมีอะไหล่ในประเทศเปลี่ยนได้หมดทุกชิ้น มีประสิทธิภาพการทำงาน ครั้งละ 500 กิโลกรัมต่อขั่วโมง ผลผลิตประเภทกลิ้งได้ เป็นผง สามารถใช้เครื่องอบแห้งนี้ได้ นอกจากข้าวเปลือกแล้ว เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปุ๋ยชีวภาพก็สามารถนำลดความชื้นได้ การทำงานคือการใช้ระบบลมร้อนในการลดความชื้น ขณะนี้ทั่วประเทศมีอยู่ 20 เครื่อง โดยวช.มอบให้กับชุมชน ซึ่งได้มอบให้บริษัทอาทิตย์จักรกล เป็นผู้ผลิต
นายภีเมศร์ปวินธ์ บัวจันทร์ ประธานวิสาหกิจชุมชนแปรรูปข้าวสารบ้านบึงน้อยหมู่ 19 ต.เนินปอ อ.สามง่าม จ.พิจิตร เครื่องอบข้าวอินฟราเรดที่ได้รับมอบมา นี้จะช่วยในการอบแห้งช่วยลดความแตกหักเมื่อสีเป็นข้าวสาร มีกลิ่นหอมมากขึ้น ประชาชนอีก 5-6 หมู่บ้านสามารถมาใช้อบลดความชื้น เช่นกรณีเกี่ยวข้าวจมน้ำ หรือข้าวเจอฝน ไม่มีแดดให้ตาก กลุ่มมีทั้งหมด 30 ครอบครัว ส่วนใหญ่ เน้นให้ทำข้าวเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานที่วางไว้ ซึ่งกลุ่มจะรับซื้อ นำมาแปรรูปจำหน่าย ปัจจุบันตากเอง เก็บใส่ยุ้งฉาง เมื่อมีออเดอร์ ก็สีและบรรจุใส่ถุงขาย แต่หากเจอปัญหา ฝน ไม่มีแดดตาก ข้าวจะเหลือง ประสบปัญหาขาดทุน หน้าฝน เครื่องนี้จึงช่วยได้มาก ทั้งลดเวลาลดพลังงาน
ส่วนการวางแผนการดูแลเครื่องนี้ จะประชุมอีกครั้งว่าจะคิดว่าบริการได้เท่าไหร่ เพราะมีค่าแก๊ส ค่าน้ำค่าไฟ เบื้องต้นอาจมีปัญหาบ้าง แต่จะพยายามเน้น ทำความเข้าใจกับแกนนจะำ เริ่มต้นด้วยความคุมเข้มก่อน และมีผู้ดูแลหลายคนเพื่อสับเปลี่ยนกัน ซึ่งค่าบริการคงจะไม่แพง ขอบพระคุณเจ้าของโครงการ กอ รมน.และทุกภาคส่วนที่ช่วยต่อยอดเกษตรกรที่คิดนอกกรอบได้มีเครื่องมือช่วยเหลือครั้งนี้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น