pearleus

วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

พม. ย้ำ 8 มีนาคม วันสตรีสากล ก้าวที่ไม่เคยหยุดยั้งของสตรี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพม. ย้ำ 8 มีนาคม วันสตรีสากล ก้าวที่ไม่เคยหยุดยั้งของสตรี“25 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง : เสริมพลังสตรีสู่ความเสมอภาคอย่างยั่งยืน”
เมื่อวันที่  8 มีนาคม 2563 แหล่งข่าวระดับสูง เปิดเผยว่า นางสาวอุษณี  กังวารจิตต์  อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เปิดเผยถึงความเป็นมา ความสำคัญ และก้าวต่อไปของการพัฒนาศักยภาพสตรีว่า องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของสหประชาชาติ ได้ร่วมจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของสตรี ให้ได้มาซึ่งความยุติธรรม ความเสมอภาค สันติภาพและการพัฒนา รวมทั้งทบทวนความก้าวหน้าการพัฒนาสตรีทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนการปฏิบัติตามพันธสัญญาต่อเวทีโลก ที่มุ่งเน้นให้ความสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพสตรี การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิ และความเสมอภาคระหว่างเพศ มาโดยตลอด

นางสาวอุษณี กล่าวด้วยว่าประเทศไทยได้ดำเนินการจัดงานวันสตรีสากล มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2532 สำหรับในปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “25 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง : เสริมพลังสตรีสู่ความเสมอภาคอย่างยั่งยืน” เพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 5 “บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน”  โดยมีการคัดเลือก ยกย่องเชิดชูเกียรติ และเสริมสร้างกำลังใจให้แก่สตรี บุคคล หน่วยงาน และองค์กรดีเด่น จำนวน 15 สาขา 46 รางวัล อาทิ สาขาหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม มีการจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ของหน่วยงาน และบูรณาการความร่วมมือเพื่อลดความรุนแรงต่อเด็ก สตรี ที่ถูกคุกคามในทุกรูปแบบ สาขาสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพ เช่น นางพารีดะ อาลีชู อาสาสมัครแกนนำสตรี จังหวัดนราธิวาส มีความมุ่งมั่นการช่วยเหลือ ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพิทักษ์สิทธิสตรีในกระบวนการสันติภาพและยุติธรรมภาคใต้ สาขาสื่อสารมวลชนพิทักษ์สิทธิสตรี เช่น สื่อโซเชียลมีเดีย โดยคุณซินดี้ สิรินยา บิชอฟ ผู้ก่อตั้ง #Don’tTellMeHowToDress รณรงค์ต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ การเคารพสิทธิร่างกายของบุคคลไม่ใช่ด้วยเหตุแห่งการแต่งกาย

พร้อมระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีสตรีจำนวนประมาณ 33 ล้านคน ซึ่งภารกิจของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 – 2565 เพื่อ “สร้างสังคมเสมอภาค ปราศจากการเลือกปฏิบัติ สตรีมีคุณภาพชีวิที่ดี มั่นคงปลอดภัย ร่วมสร้างชาตินำสมัย” โดยมีเป้าหมายการดำเนินงาน ปี 2563 ใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ (1) ด้านการส่งเสริมศักยภาพของสตรี ด้านเศรษฐกิจ โดยศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง ดำเนินการส่งเสริมการรวมกลุ่มอาชีพสตรีและครอบครัวในชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ให้พึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน ด้านการเมือง ส่งเสริมให้สตรีมีความรู้และเป็นผู้แทนสมัครเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งของท้องถิ่น ด้านสังคม ส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรี รวมถึงเครือข่ายด้านสตรี ได้มีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคมอย่างเข้มแข็ง รวมถึงบทบาทผู้นำสตรีที่เป็นต้นแบบความเสมอภาคในสังคม (2) ด้านการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี มุ่งเน้นการลดความรุนแรงต่อสตรี ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศ ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมถึงสนับสนุนศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน การจัดพื้นที่ปลอดภัย และรูปแบบสวัสดิการเพื่อสิทธิที่เหมาะต่อสตรีและเด็ก ตลอดจนแม่เลี้ยงเดี่ยว สตรีหม้าย สตรีในพื้นที่ภาคใต้ และสตรีที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงในสถานการณ์ต่างๆ (3) ด้านความเท่าเทียมระหว่างเพศ ขับเคลื่อนพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อให้บุคคลเพศชาย เพศหญิง และผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ไม่ถูกเลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ โดยมีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่  การปรับทัศนคติและสร้างการยอมรับในสังคม การขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและทุกเพศสภาพ โดยกำหนดแนวทางไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ 6 เรื่อง คือ การแต่งกาย การรับสมัครงาน การแต่งตั้งผู้บริหารหน่วยงาน การจัดพื้นที่ การไม่พูดจาเยียดหยามเพศ  และการไม่คุกคามล่วงละเมิดด้วยเหตุแห่งเพศ  ซึ่งแนวทางดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และประชาชนทุกคนด้วย.

สุดท้ายนี้ ในโอกาสวันสตรีสากลปี 2563 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขอแสดงความชื่นชมยินดีกับ สตรี หน่วยงาน และบุคคล ที่ได้รับรางวัลทั้ง 46 รางวัล และเชื่อมั่นว่ารางวัลดังกล่าว จะเป็นกำลังใจ และพลังสร้างสรรค์ ในการปฎิบัติงานของทุกท่าน รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคต่อไป นางสาวอุษณี กล่าวในตอนท้าย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น