ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 มี.ค 63 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นประธานในพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” พร้อมมอบนโยบายการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม ซึ่งมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 24 หน่วยงาน เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ โดยมี นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน จำนวน 350 คน
นายปรเมธี กล่าวว่า ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of all Forms of Discrimination against Women – CEDAW) ทำให้ต้องปฏิบัติตามข้อผูกพันในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและความเป็นธรรมทางสังคมบนพื้นฐานในเรื่องเพศ ซึ่งสิ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว คือ การผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เสมอภาคทางเพศ และการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์พระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ทุกคนได้รับรู้ สามารถเข้าถึงอย่างสะดวกและรวดเร็ว และการปรับทัศนคติและค่านิยมของคนในสังคมในการยอมรับความเสมอภาคระหว่างเพศและความหลากหลายทางเพศ ซึ่งต้องอาศัยกลไกรัฐที่มีหน้าที่ตามกฎหมาย รวมทั้งภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไป
นายปรเมธี กล่าวต่อไปว่า การประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ เป็นการแสดงถึงความมุ่งมั่นระหว่างภาคีเครือข่ายที่จะร่วมกันสร้างให้สังคมไทยให้ตระหนักถึงความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ นั่นหมายถึงการไม่แบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ เพียงเพราะบุคคลนั้น เป็นเพศชาย เพศหญิง หรือบุคคลที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด โดยขอให้ภาคีเครือข่ายมีแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาค และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ด้านใดด้านหนึ่ง ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การแต่งกายตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศสภาวะของบุคคล 2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสมที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์ตามจำนวนของบุคคล อัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล และข้อจำกัดของบุคคล 3) การประกาศรับสมัครงานและกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงานตามความสามารถของทุกเพศสภาพ และไม่นำลักษณะเฉพาะทางเพศมากำหนดเป็นคุณสมบัติของผู้สมัคร 4) การใช้ถ้อยคำ ภาษา และกิริยาท่าทางที่เหมาะสม ไม่เสียดสี หรือลดคุณค่าของทุกเพศ และไม่ใช้คำศัพท์ที่ไม่เหมาะสมในการใช้เรียกอัตลักษณ์ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคล 5) การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับทุกเพศสภาพ และไม่ควรมีการกีดกันด้วยเหตุแห่งเพศ และ 6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ควรให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการล่วงละเมิด หรือคุกคามทางเพศ และมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายปรเมธี กล่าวต่อไปอีกว่า กระทรวง พม. โดย สค. ในฐานะหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานด้านการพัฒนาสตรี การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 โดยมีภารกิจในการคุ้มครองและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ซึ่งมีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) เป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น และมีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) เป็นกลไกสำคัญในการทำหน้าที่วินิจฉัยคำร้องการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และมีกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้การสนับสนุนกิจกรรม การศึกษาวิจัย การป้องกัน และการชดเชยและเยียวยาผู้เสียหาย จากการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ การประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสถาบันอุดมศึกษา เพื่อรณรงค์ปรับทัศนคติและสร้างการยอมรับของสังคมในเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ การคุ้มครองและป้องกันไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย เพศหญิง หรือผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานได้ตระหนักและร่วมกันดำเนินงานขับเคลื่อนการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลตามเจตนารมณ์ของกฎหมายต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น