นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมว.คมนาคม เปิดเผยเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 60 ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ บอร์ด ขสมก.นัดพิเศษ มีมติอนุมัติโครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ NGV จำนวน 489 คัน ด้วยวิธีคัดเลือกที่กลุ่มกิจการร่วมค้า SCN-CHO ประกอบด้วย บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน), บริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นเอกชนรายเดียวที่เข้ายื่นเสนอราคา โดยคาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาได้ภายในสิ้นปี
แหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารระดับสูงของ ขสมก. กล่าวว่า การประชุมนัดพิเศษที่นายไพรินทร์ และนายณัฐชาติ แถลงต่อสื่อมวลชนว่าบอร์ด ขสมก.มีมติอนุมัติโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGVจำนวน 489 คันนั้น ขอเรียนว่า มติดังกล่าวไม่ได้เป็นมติเอกฉันท์เพราะมีกรรมการบริหารบางท่านไม่เห็นด้วย เนื่องจากการประมูลด้วยวิธีพิเศษครั้งล่าสุดนี้ยังมีอะไรที่เคลือบแคลงอีกหลายอย่าง เช่น 1. กรณีที่บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน) ยังไม่สามารถส่งมอบงานเครื่องหยอดเหรียญ Cash Box ได้ตามสัญญาและมีทีท่าว่าจะไม่สามารถส่งงานให้ ขสมก.มูลค่า 1.6 พันล้านบาทได้ แต่ก็แปลกใจที่ประธานบอร์ด ทำเป็นทองไม่่รู้ร้อน ไม่มีการตรวจสอบทั้งๆที่ เอกชนรายนี้ติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญไม่ตรงตามสเปค ที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ข้อ 4.5.ความเร็วในการตรวจรับเหรียญไทยเครื่องต้องนับได้ 5 เหรียญภายใน 1 วินาที ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมตามสื่อต่างๆกล่าวหาว่า ขสมก.พยายามบ่ายเบี่ยงคุณสมบัติข้อดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เอกชนอยู่นี้
2.การประมูลครั้งล่าสุด ขสมก.ใช้วิธีพิเศษโดยออกหนังสือเชิญเอกชนไม่ครบตามจำนวนและมีเอกชนยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุกจริตแห่งชาติ หรือปปช.กรณีมีเอกชนเพียงรายเดียวยื่นเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง10 เปอร์เซนต์ หรือประมาณ 4,400 ล้านบาท ซึ่งจัดว่าเป็นราคาที่ไม่สมเหตุสมผล ปิดกั้นไม่เป็นธรรมต่อเอกชนรายอื่นๆ
3.กรณีคุณสมบัติของ บริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)ซึ่งอาจมีการรู้เห็นเป็นใจในการตรวจสอบคุณสมบัติเอกชนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติที่กำหนดในทีโออาร์.โดยเฉพาะข้อ 5.7 ต้องมีผลงานการจำหน่ายรถโดยสาร ให้กับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือภาคเอกชนภายในประเทศ หรือต่างประเทศ ต้องมีผลงานการให้บริการซ่อมแซมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่สามารถใช้งานกับก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) กับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชนภายในประเทศหรือต่างประเทศ
โดยปรากฏว่า บริษัท ช.ทวีฯ ได้แสดงผลงานการจำหน่ายโดยมีสัญญาซื้อขายรถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV)จำหน่ายให้กับ บริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ขสมก.พบว่า บริษัท มารัตน์ฯ ไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถโดยสาร จนถึงปัจจุบันบริษัท มารัตน์ฯไม่เคยมีการครอบครองหรือถือครองกรรมสิทธิ์รถโดยสาร
สำหรับผลงานการซ่อมบำรุงทางกลุ่มนิติบุคคลได้แสดงผลงานของ บจก.ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัดที่มีผลงานจาก บริษัท บริการเดินรถสยาม จำกัด ซึ่ง บริษัทบริการเดินรถสยาม จำกัด เป็นบริษัทที่ให้บริการรถร่วม ในเขตกรุงเทพฯ มีอู่และช่างซ่อมเป็นของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นเพราะเหตุใดจำเป็นต้องจ้าง บจก.ช.ทวี ดอลลาเชียน จำกัดเป็นผู้ซ่อมบำรุง จึงสมควรที่จะพิสูจน์ด้วยการให้ บริษัท ช ทวี แสดงใบกำกับภาษีระหว่างกันเพื่อแสดงให้เห็นว่ามีผลงานด้านการซ่อมบำรุงจริง มิฉะนั้นจะเข้าข่ายแสดงผลงานอันเป็นเท็จต่อหน่วยงานราชการ
เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ขสมก.คนดังกล่าว ระบุว่า "เรื่องนี้ผมว่าอาจมีการสร้างเอกสารอันเป็นเท็จโยงใยเป็นขบวนการจึงต้องมีการตรวจสอบว่าก่อนวันประมูลตามผลงานที่อ้างถึงนั้นมีการทำธุรกรรมตามอ้างนั้นจริงหรือไม่ มีการออกใบกำกับภาษีตามสัญญาซื้อขายหรือไม่ หรือมีการแอบอ้างผลงานอันเป็นเท็จแสดงต่อหน่วยงานราชการหรือไม่ และเจ้าหน้าที่ที่ที่ตรวจสอบคุณสมบัติปล่อยผ่านมาได้อย่างไร หากละเลยหน้าที่ก็อาจเข้าข่ายรับรองผลงานอันเป็นเท็จด้วย หากบอร์ดเห็นชอบจะจัดซื้อกับเอกชนรายนี้ให้ได้ ก็ขอเตือนผู้มีอำนาจลงนามทั้งหลายว่า ก่อนจรดปลายปากกาควรคิดให้รอบคอบเสียก่อน เพราะหากตรวจสอบพบความผิดภายหลังต้องมีคนติดคุกตอนแก่แน่นอน"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบริษัท มารัตน์ ทรานต์สปอร์ต จำกัด คือผู้ได้รับสัมปทานเดินรถประจำทาง เส้นทาง R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-รพ.รามาธิบดี (ทางด่วน) ระยะทาง 61 กม. ที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เตรียมเปิดเส้นทางเดินรถมินิบัสใหม่ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชนชาวไทย โดยคาดว่า เส้นทางสายนี้จะสร้างรายได้เฉลี่ย 1.21 แสนบาท/วัน หรือ 3.64 ล้านบาท/เดือน จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทฯ เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2560 ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 1311 ถนนประชาราษฎร์ 1 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร มีกรรมการ 3 คน คือ นายมารัตน์ แซ่ลิ้ม จำนวน 1.2 แสนหุ้น, นายจรูญ ศรีวิภาค จำนวน 4 หมื่นหุ้น และนายณรงค์ อยู่เงิน จำนวน 4 หมื่นหุ้น
ที่น่าสังเกตุคือบริษัทมารัตน์ฯ ยังประกอบกิจการบริการรับจ้าง ผลิต ซ่อมแซม ซ่อมสร้าง ปรับปรุง รถถังขนาดเบาแบบ 21 รถถังที่ใช้ในราชการกองทัพไทย ยานยนต์ล้อ ยานยนต์สายพาน ยานยนต์รบ ยานยนต์ช่วยรบ ชนิดและขนาดต่าง ๆ รวมตลอดทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ เรือ เรือรบ เรือช่วยรบ อากาศยาน อากาศยานรบ อากาศยานช่วยรบ อุปกรณ์ หรือส่วนประกอบของอุปกรณ์สงครามทุกชนิดและทุกประเภทที่ใช้ในราชการทหาร
บริษัทมารัตน์ฯยังได้รับสัมปทานมินิบัสเส้นทางปฏิรูปสายแรก ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมศักด์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคมและรักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.ในขณะนั้น ทั้งๆที่บริษัทนี้ไม่ได้ยื่นแสดงงบการเงินจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลนี้อ้างอิงตามข่าวจากสำนักข่าวอิศรา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 ภายใต้ความสงสัยของสื่อมวลชนจากการให้สัมภาษณ์ของนายสมศักดิ์ ออกหน้ารับรองว่าบริษัทดังกล่าวมีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไขที่ ขบ.กำหนด ทั้งๆที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบการขนส่งรถโดยสาร ไม่มีการครอบครองหรือถือครองกรรมสิทธิ์รถโดยสาร และที่น่าสังเกตุคือบริษัทมารัตน์มีความเชื่อมโยงกับ บมจ. ช.ทวีฯ โดยมีผู้ถือหุ้นคนเดียวกันชื่อนายมารัตน์ แซ่ลิ้ม ซึ่งถือหุ้นอยู่ใน บจก.มารัตน์ฯ 80% และใน บจก. ช.ทวีฯ 28,662,000 หุ้น( ณ วันที่ 3/5/2559)
*************************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น