ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.60 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมจัดรับฟังความเห็นต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ครั้งที่ 4 จากผู้แทนภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ ประชาชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายองค์กรชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาครัฐ รวมจำนวนประมาณ 200 คน ณ โรงแรมเอ็มบูทีค รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย โดย นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม เป็นประธานในการรับฟังความคิดเห็น พร้อมด้วยกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมอีก 4 ท่าน ได้แก่ นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ รองประธานกรรมการฯ นายแพทย์ อำพล จินดาวัฒนะ โฆษกคณะกรรมการฯ นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ ประธานอนุกรรมการที่ทำหน้าที่จัดการรับฟังความคิดเห็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดยมี นายไมตรี อินทุสุต เป็นผู้ดำเนินการรับฟังความเห็น
ทั้งนี้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม โดย จัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจัดไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรก ส่วนกลาง เมื่อวันที่ 15 พ.ย.60 ที่กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 24 พ.ย.60 ณ จ.อุดรธานี และครั้งที่ 3 ภาคใต้ วันที่ 30 พ.ย.60 ณ จ.นครศรีธรรมราช การประชุม 3 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับประเด็นปฏิรูปด้านสังคมที่ได้นำเสนอ โดยที่กรุงเทพฯ เน้นให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเรื่องสังคมสูงวัย การออมเพื่อความมั่นคงหลังเกษียณ การผลักดันกฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง การปฏิรูปการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งเรื่องงบประมาณ การปรับเปลี่ยนบทบาทภาครัฐ การให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน/ภาคประชาสังคม ตลอดจนกลไกในการขับเคลื่อนประเด็นการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติ ส่วนภาคใต้ ให้ความสำคัญกับการสร้างสวัสดิการทางสังคมของภาคประชาชน การพัฒนาชุมชนที่ควรเริ่มที่ระดับหมู่บ้าน/การใช้เวทีประชาเข้าใจ การปรับบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนการทำงานในพื้นที่ การพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม ตลอดจนการยกระดับรายได้ของประชาชน และเวที ที่จังหวัดเชียงราย เป็นการจัดครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย
นายอโณทัย ฤทธิปัญญาวงศ์ กล่าวว่าการจัดเวทีรับฟังความเห็นจากประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ใน 4 ภูมิภาค เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้มีความครอบคลุม ครบถ้วน และสามารถบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ไปสู่ “สังคมคุณภาพ” ด้วยการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม (Socio-economic Security) การสร้างโอกาสที่เป็นธรรมโดยไม่แบ่งแยก (Social Inclusion) การเสริมสร้างพลังทางสังคม (Social Empowerment) และการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสังคม (Social Cohesion) ไปพร้อม ๆ กัน จากนั้น นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ได้นำเสนอประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคมที่สำคัญภายใต้กรอบแนวคิด 3
ประการ ได้แก่ แผนการปฏิรูปที่เป็นเรื่อง ๆ (Agenda base) แผนการพัฒนาเป็นพื้นที่ (Area base) และแผนการจัดกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social movement) แผนการปฏิรูปที่เป็นเรื่องๆ (Agenda base) ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การปรับปรุงการออม สวัสดิการสังคม และการลงทุนทางสังคม โดยการเพิ่มประสิทธิภาพกองทุนการออมแห่งชาติ สร้างระบบให้คนไทยมีบำเหน็จบำนาญที่พอเพียง ปรับปรุงระบบสวัสดิการด้านต่าง ๆ ผลักดันการดำเนินการด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม ก่อตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนด้านสังคม ขอให้วัดช่วยเหลือกิจการทางสังคม และปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี
(2) การช่วยเหลือและเพิ่มขีดความสามารถกลุ่มผู้เสียเปรียบในสังคม อาทิ เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส โดยการปฏิรูประบบขนส่งสาธารณะเพื่อประโยชน์ของทุกกลุ่มปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุ ปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค และปฏิรูปแนวทางการให้สัญชาติไทยแก่ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ (3) การจัดการข้อมูลและองค์ความรู้ด้านสังคม โดยมอบหมายภารกิจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้เก็บข้อมูลและบริหารข้อมูลด้านสังคมโดยเน้นข้อมูลเป็นรายบุคคลและข้อมูลเชิงคุณภาพ จัดการข้อมูลภาครัฐเพื่อให้มีการเปิดเผยและเชื่อมโยงระบบข้อมูลที่ภาคประชาชนกลุ่มเป้าหมายหรือชุมชนต้องการทราบหรือต้องการรับบริการรวมอยู่ในระบบ Big Data ของรัฐบาล โดยเน้นข้อมูลด้านการจัดสรรทรัพยากร และการเข้าถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาภาครัฐเป็นเบื้องต้น และการจัดการองค์ความรู้ภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการจัดการองค์ความรู้แผนการพัฒนาที่เป็นพื้นที่ (Area base) เป็นเรื่องระบบสร้างเสริมชุมชนเข้มแข็ง
โดยการกำหนดตำบลเป็นพื้นที่การพัฒนาอย่างบูรณาการ ส่งเสริมสิทธิและบทบาทชุมชน อำนาจการจัดการทรัพยากรและทุนชุมชน ปรับปรุงสวัสดิการชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนส่วนแผนการจัดกระบวนการเพื่อขับเคลื่อนสังคม (Social movement) เป็นเรื่องการมีส่วนร่วม การเรียนรู้ การรับรู้ และการส่งเสริมกิจกรรมทางสังคม โดย สร้างเสริมพลังคุณธรรมและทุนทางสังคม พลังสร้างสรรค์ และพลังสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งแผนการจัดการองค์กร
ทั้งนี้เรื่องแรงงาน ศาสนา วัฒนธรรม การจัดการที่ดิน ได้เสนอให้มีคณะพิเศษในการดำเนินการประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคม นอกจากจะเป็นการต่อยอดจากข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องการมากที่สุดคือ การมีส่วนร่วม ทั้งร่วมคิด ร่วมใจ ร่วมทำจากประชาชน
นายปีติพงศ์ กล่าวว่า ทุกความคิดเห็นของประชาชนมีคุณค่าอย่างยิ่งในการจัดทำแผนฯ ครั้งนี้ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคมจะนำประเด็นที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนมาใช้ประกอบการจัดทำ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมให้มีความครอบคลุม ครบถ้วน เป็นที่ยอมรับหรือพอยอมรับได้จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และสามารถเชื่อมโยงกับการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ อย่างสอดคล้องและเป็นพลังหนุนเสริมซึ่งกันและกันในแต่ละด้านเพื่อให้การปฏิรูปประเทศในทุกมิติดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดสัมฤทธิผลที่พึงประสงค์ โดยมีกำหนดให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศทั้ง 11 ด้าน จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 24 ธ.ค.60 เพื่อนำเสนอที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ และคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามลำดับ ภายในเดือนเมษายน 2561 หลังจากนั้นให้รายงานต่อรัฐสภารับทราบ ประกาศร่างแผนการปฏิรูปประเทศใช้ในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับต่อไป
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ (1) เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) www.nesdb.go.th (2) เฟซบุ๊ก “ร่วมปฏิรูปประเทศ” (3) อีเมล Socialreform.opinion@gmail.com (4) โทรสาร หมายเลข 0 2282 9149 (5) จดหมาย ส่งมาที่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 962 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดโสมนัส เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพฯ 10100 วงเล็บมุมซองว่า “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม”
*******************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น