pearleus

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

การรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์


10 ธ.ค. พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รรท.รอง ผบ.ตร / โฆษก ตร. เปิดเผยข้อมูลรายงานผลการจับเท็จผู้เกี่ยวข้องในการร้องขอให้มีการรื้อฟื้นคดีครูจอมทรัพย์ โดยโฆษก ตร. ได้ให้รายละเอียดว่า

เมื่อวันที่ 5  ธันวาคม 2560  DSI  ได้ส่งหนังสือรายงานผลการจับเท็จของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ มายัง ตร. ใจความว่า เมื่อวันที่ 14  กุมภาพันธ์ 2560 DSI  ได้มีหนังสือถึง  ยธ รายงานผลการตรวจพิสูจน์ด้วยเครื่องจับเท็จจำนวน 3 ราย
   1. นางจอมทรัพย์  แสนเมืองโคตร 
   2. นายสับ  วาปี
   3. นายสุริยา  นวนเจริญ
เพื่อนำผลการจับเท็จประกอบการพิจารณารื้อฟื้อคดีอาญา  โดยรายงานดังกล่าวระบุผลดังนี้
1. นางจอมทรัพย์ ฯ ยินยอมเข้ารับการจับเท็จด้วยความสมัครใจของตนเอง และเป็นผู้มีร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพปกติ  และให้การยืนยันว่า ตนเองไม่ได้เป็นคนขับรถชนจักรยาน ทำให้นายเหลือ คนขี่จักรยานเสียชีวิต     ที่ อ.เรณูนคร  จ.นครพนม  เมื่อปี พ.ศ.2548  โดยในขณะนั้นตนเองอยู่ที่บ้านกับครอบครัว ที่ จ. สกลนคร  ไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุ  
   ผลการจับเท็จระบุว่า  ไม่สามารถสรุปผลได้  เนื่องจากการตรวจวัดความต้านทานของกระแสไฟฟ้าของผิวหนังหรือการทำงานระบบเหงื่อของผู้รับการจับเท็จ  ไม่สมบูรณ์เพียงพอ  จึงไม่สามารถนำข้อมูลการตรวจวัดในส่วนดังกล่าว  มาใช้ในการวิเคราะห์ และอ่านแปรผลกราฟ ในภาพรวมได้  จึงไม่สามารถมีความเห็นและสรุปผลการจับเท็จในครั้งนี้ได้

2. นายสับ ฯ  ยินยอมเข้ารับการจับเท็จด้วยความสมัครใจของตนเอง และเป็นผู้มีร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพปกติ  โดยนายสับ ฯ ให้การยืนยันเกี่ยวกับประเด็น  ที่จะทำการตรวจพิสูจน์ มีใจความสำคัญว่า  เรื่องที่ตนเองออกมารับสารภาพว่าเป็นผู้ขับรถยนต์ชนนายเหลือ  เสียชีวิต  นั้น   เป็นความจริงทุกประการ  ตนเองไม่ได้พูดโกหก  และไม่ได้มีผู้ใดว่าจ้างให้ออกมารับสารภาพ แต่อย่างใด  
   ผลการจับเท็จระบุว่า  พบปฏิกิริยาตอบสนองทางสรีระวิทยาที่สำคัญ  ซึ่งบ่งชี้ว่าคำตอบเป็นเท็จ
   จึงทำให้นายสับรับสารภาพความจริงดังนี้
   - ยืนยันว่า รถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน  บค 56 มุกดาหาร  เดิมอยู่ในความครอบครองของตนจริง  แต่ก่อนเกิดเหตุ ได้ขายรถคันดังกล่าวไปให้กับ นายนิรันดร์  โทนแก้ว  อดีตผู้ใหญ่บ้านนันทวัน ซึ่งเป็นญาติฝ่ายภริยาของนายสับ  ไปแล้วในราคา 50,000 บาท  โดยไม่ได้จดทะเบียนโอนรถกัน  ต่อมาภายหลังทราบว่านายนิรันดร์ ได้ขายรถดังกล่าวไปแล้ว
   - เกี่ยวกับคดีของนางจอมทรัพย์   นายสับไม่เคยรู้เรื่องมาก่อน  แต่ต่อมาประมาณ ปี พ.ศ.2556  ได้มีนายวิจิตร  หรือนายเพื่อน  คำลือไชย  ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ ของนายสับ มาสอบถามเกี่ยวกับคดีดังกล่าว  และแจ้งว่า ฝ่ายครูจอมทรัพย์ได้ไปสืบค้นข้อมูลจากสำนักงานขนส่ง เกี่ยวกับรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน บค 56 ที่มีอยู่ในจังหวัดนครพนม และจังหวัดใกล้เคียง  จนพบว่ารถยนต์ต้องสงสัย ที่ชนคนตายในคดีนี้ คือ รถยนต์ ยี่ห้ออีซูซุ สีเขียว หมายเลขทะเบียน บค 56 มุกดาหาร  ซึ่งหลักฐานทางทะเบียนมี นายสับ วาปี  เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์   นอกจากนี้ นายวิจิตรยังได้บอกให้นายสับยอมรับสารภาพผิดแทนครูจอมทรัพย์เพราะมีหลักฐานหมดแล้ว  โดยในครั้งแรกนายสับได้ปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ขับรถชนในคดีนี้  เนื่องจาก ได้ขายรถไปแล้วก่อนเกิดเหตุ  
   - นายวิจิตรได้พาครูอ๋องมาเจรจาตกลงกับนายสับเพื่อให้รับผิดแทนนางจอมทรัพย์  ซึ่งต่อมานายวิจิตรได้นัดให้นายสับ  ครูอ๋อง และกลุ่มเพี่อนครูจอมทรัพย์มาเจรจาตกลงกันที่บ้านของ พ.ต.ท.จิตต์  ศรีโยหะ  มุกดาธนพงศ์  สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมุกดาหาร  เพื่อจะได้มีคนกลางในการเจรจา และให้คำปรึกษาทางคดี  โดยในระหว่างการเจรจา ครูอ๋องได้เสนอเงินค่าจ้าง 500,000 บาท เพื่อให้นายสับยอมรับสารภาพ ว่าเป็นคนขับแทนครูจอมทรัพย์  โดยมีเงื่อนไขว่า ศาลจะต้องรับฟ้องก่อนจึงจะจ่ายเงินให้  แต่นายสับเห็นว่าตนเองไม่ได้เป็นคนขับและกลัวจะติดคุก  จึงปฏิเสธไป  
   - นายสับให้ข้อมูลว่า ครูอ๋องเคยตกลงว่าจ้างนายเสริฐ หรือประเสริฐ  ไม่ทราบนามสกุล  และไม่เคยรู้จักมาก่อน  เป็นเงิน 200,000 บาท  ให้มารับสารภาพว่าเป็นคนขับแทนครูจอมทรัพย์  โดยสร้างเรื่องขึ้นว่า นายเสริฐซื้อรถยนต์กระบะ คันหมายเลขทะเบียน บค 56 มุกดาหาร จากนายสับ โดยไม่มีการโอนทะเบียน และได้ขับรถไปชนคนตายในที่เกิดเหตุ และให้นายสับเป็นพยานรู้เห็นในการขายรถเท่านั้น   และต่อมาครูอ๋องได้พานายเสริฐและนายสับ ไปพบพนักงานสอบสวน สภ.เรณูนคร เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน  แต่พนักงานสอบสวนทราบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง จึงไม่ลงบันทึกประจำวันให้  จึงได้ยกเลิกแผนดังกล่าวไป
   - ครูอ๋องได้ขอให้นายเสน่ห์ ซึ่งเคยเป็นครูในพื้นที่หมู่บ้านเดียวกับนายสับและสนิทกับนายสับ มาช่วยพูดเกลี้ยกล่อมให้นายสับยอมรับผิดแทนครูจอมทรัพย์  โดยบอกกับนายสับว่า เป็นเพียงอุบัติเหตุรถชนกันทั่วไป ไม่ใช่ความผิดร้ายแรง  เชื่อว่าน่าจะได้รับโทษแค่รอลงอาญา  และในช่วงที่มีการเจรจาตกลงกันนั้น  ครูอ๋องได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นายสับหลายครั้ง โดยเฉพาะเคยให้เงินช่วยเหลือเรื่องหนี้สินของนายสับจำนวน 60,000 บาท  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงทำให้นายสับใจอ่อน  และยอมรับผิดแทนครูจอมทรัพย์  โดยครูอ๋องรับประกันว่าจะจ่ายเงินค่าจ้างให้ 500,000 บาท เมื่อศาลได้รับฟ้องแล้ว
   - เมื่อวันที่ 19 พ.ค.57 ครูอ๋องได้พานายสับไปลงบันทึกประจำวันที่ สภ.นาโดน จ.นครพนม  เพื่อให้มีหลักฐานแสดงว่านายสับยอมรับสารภาพด้วยตนเองว่าเป็นคนขับ  และยังได้ให้นายสับไปให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กระทรวงยุติธรรม  พร้อมทั้งไปนำชี้สถานที่เกิดเหตุจริงประกอบคำให้การด้วย
   - นายสับรับสารภาพว่า ตนเองไม่เคยนำรถไปซ่อมที่อู่ ชื่อ อ.เจริญยนต์  ซึ่งมีนายโอด หรือนายเวช ฯ เป็นเจ้าของแต่อย่างใด  
   - เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.57 นายสับยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครพนม เพื่อขอเข้ามาในคดี โดยขอเป็นผู้ชำระเงินค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน จำนวน 170,000 บาท แทนนางจอมทรัพย์  และรับสารภาพว่าเงินดังกล่าวไม่ใช่ของตนเอง แต่เป็นของครูอ๋อง

3. นายสุริยา  ฯ  ยินยอมเข้ารับการจับเท็จด้วยความสมัครใจของตนเอง และเป็นผู้มีร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพปกติ  โดยนายสุริยา ฯ ให้ถ้อยคำยืนยันเกี่ยวกับประเด็นที่จะทำการพิสูจน์มีใจความสำคัญว่า  นายสับ ฯ ได้ออกมารับสารภาพด้วยตนเองว่าเป็นคนขับรถยนต์ชนนายเหลือ ซึ่งขี่จักรยานสวนทางมาเสียชีวิต ที่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม  เมื่อปี พ.ศ.2548  นายสุริยา ฯ ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นคนไปจัดหาหรือว่าจ้างให้นายสับ ฯ ออกมารับสารภาพผิดแทนนางจอมทรัพย์ ฯ แต่อย่างใด
   ผลการจับเท็จ พบปฏิกิริยาตอบสนองทางสรีระวิทยา ที่สำคัญ บ่งชี้ว่า คำตอบเป็นเท็จ
   นายสุริยา ฯ จึงยอมรับสารภาพ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
   - ครูอ๋องและครูจอมทรัพย์ มีความสัมพันธ์กัน โดยเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูจอมบึงเช่นเดียวกัน และหลังจากจบการศึกษาแล้วยังได้บรรจุเป็นข้าราชการครูอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน จึงมีการติดต่อไปมาหาสู่และนัดเลี้ยงสังสรรค์กันอยู่เสมอ
   - ครูจอมทรัพย์ ได้มาปรึกษาครูอ๋องเรื่องการต่อสู้คดีที่ครูจอมทรัพย์ ขับรถยนต์ชนนายเหลือ เสียชีวิต  โดยครูจอมทรัพย์ยืนยันว่าไม่ได้ขับขี่รถยนต์ชนคนตายในคดีนี้  โดยเบื้องต้นครูจอมทรัพย์ได้ตรวจสอบรถยนต์กระบะ หมายเลขทะเบียน บค 56 ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียงแล้ว  พบว่ามีหลายคัน โดยมีรถกระบะ ยี่ห้ออีซูซุ สีเขียว คันหมายทะเบียน บค 56 มุกดาหาร  มีนายสับ วาปี เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์  เป็นรถคันที่น่าสงสัย
   - ครูอ๋องและครูจอมทรัพย์ ได้ไปตรวจสอบรถยนต์ คันหมายเลขทะเบียน บค 56 มุกดาหาร  เพิ่มเติมที่สำนักงานขนส่งจังหวัดมุกดาหาร  พบว่า รถยนต์คันดังกล่าวไม่ได้ต่อภาษีมาแล้ว 3 ปี  โดยมีนายสับเป็นผู้ต่อภาษีครั้งสุดท้าย  จึงทำให้ครูอ๋องเชื่อว่านายสับน่าจะเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีนี้จริง  ประกอบกับรถคันหมายเลขทะเบียน บค 56 สกลนคร ซึ่งเป็นของครูจอมทรัพย์ ไม่มีร่องรอยเฉี่ยวชน  และมีพยานในที่เกิดเหตุให้การว่าผู้ขับรถชนคนตายในคดีนี้เป็นผู้ชาย  นอกจากนี้ ครูจอมทรัพย์ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของตนไม่น่าจะพูดโกหก  จากนั้นครูอ๋องและครูจอมทรัพย์จึงไปขอตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของนายสับ จึงได้ทราบชื่อ ที่อยู่ และรูปถ่ายของนายสับ  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.52 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องในคดีนี้ จึงไม่ได้ติดตามข้อมูลดังกล่าวเพิ่มเติมอีก
   - ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.พ.56  ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  ทำให้ครูจอมทรัพย์ถูกคุมขับตามคำพิพากษา  ครูจอมทรัพย์ ฯ จึงได้ขอให้ครูอ๋องสืบหาข้อมูลในคดีนี้แทน  ซึ่งในขณะนั้นครูอ๋องเชื่อว่านายสับเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีนี้
   - ครูอ๋อง ได้ให้นายวิจิตร หรือนายเพื่อน  คำลือไชย  ซึ่งเป็นเพื่อนของครูอ๋องที่เคยติดต่อซื้อขายไม้กัน และเป็นญาติสนิทของนายสับ  เข้าไปสอบถามนายสับ ฯ เกี่ยวกับคดีดังกล่าว  ต่อมานายวิจิตร ฯ ได้มาบอกครูอ๋องว่านายสับ ยอมรับสารภาพว่าเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีนี้จริง  ครูอ๋อง ฯ จึงขอร้องให้นายวิจิตร ฯ ช่วยพูดเกลี้ยกล่อมให้นายสับฯ ออกมารับสารภาพ โดยจะมีค่าจ้างให้กับนายวิจิตร จำนวน 100,000 บาท แต่จะจ่ายให้เมื่อคดีเสร็จสิ้นแล้ว
   - ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ.2556 นายวิจิตร ฯ ได้นัดนายสับและครูอ๋อง มาเจรจาตกลงกันที่บ้านของ พ.ต.ท.จิตต์  ศรีโยหะ  สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดมุกดาหาร  ซึ่งมีความสนิทสนมกับนายวิจิตร ฯ เพื่อเป็นคนกลางในการเจรจาตกลงและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการเจรจาตกลง  นายวิจิตร ฯ ได้ขอเพิ่มค่าจ้างเป็นเงิน 300,000 บาท  สำหรับจ่ายให้กับนายสับและนายวิจิตร  แต่ในวันดังกล่าวนายสุริยามีเงินสดของตนเองเพียง 100,000 บาท  และไม่สามารถหาเงินเพิ่มเติมเพื่อจ่ายให้กับนายสับและนายวิจิตรได้  การเจรจาในวันดังกล่าวจึงไม่สามารถตกลงกันได้
   - พ.ต.ท.จิตต์ แนะนำว่าควรตกลงชดใช้ค่าเสียหายกับญาตผู้ตายให้เรียบร้อยก่อน  ซึ่งครูอ๋องได้เข้าเจรจากับญาติของผู้ตาย โดยญาติของผู้ตายเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงิน 150,000 บาท  และส่วนที่จะต้องจ่ายให้กับนายวิจิตรและนายสับเป็นเงินอีกจำนวน 300,000 บาท  โดยครูอ๋องจ่ายให้หลังคดีเสร็จเรียบร้อยแล้ว  แล้วจึงได้นัดไปลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน ที่ สภ.เรณูนคร จ.นครพนม ในวันที่ 2 ธ.ค.56  แต่เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวนายสับกลับไม่ยอมไปและปฏิเสธว่าตนไม่ได้เป็นคนขับรถชนในคดีนี้
   - นายสับได้พาครูอ๋องไปหานายนิรันดร์  โทนแก้ว  อดีตผู้ใหญ่บ้านนันทวัน ซึ่งเป็นญาติฝ่ายภริยาของนายสับ  เพื่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับรถยนต์ ทะเบียน บค 56 มุกดาหาร   ซึ่งนายนิรันดร์ได้ขายต่อให้กับนายอุบล  ไชยบัน  ไปนานแล้ว  จากนั้น ครูอ๋อง และนายนิรันดร์ จึงได้เดินทางไปบ้านนายอุบล  ซึ่งนายอุบลจำไม่ได้ว่าซื้อมาเมื่อใด  โดยรถมีสภาพเก่ามากและใช้งานไม่ได้  จึงต้องใช้รถลากมา และในภายหลังได้นำเครื่องยนต์รถไถ (คูโบต้า) มาใส่แทนเครื่องยนต์เดิมเพื่อให้พอใช้งานได้
   - ครูอ๋องได้ให้ความช่วยเหลือนายสับหลายเรื่อง โดยเฉพาะในปี พ.ศ.2548  ซึ่งเป็นช่วงที่นายสับถูกจับกุมดำเนินคดีข้อหาค้าไม้โดยผิดกฎหมาย  ครูอ๋องได้ช่วยเหลือเงินค่าจ้างทนายความเป็นเงิน 10,000 บาท  นอกจากนั้น ครูอ๋อง ยังช่วยจ่ายหนี้ที่นายสับค้างค่าผ่อนงวดรถไถอีกเป็นเงิน 60,000 บาท  การที่ครูอ๋องได้ให้เงินช่วยเหลือนายสับดังกล่าว จึงทำให้นายสับใจอ่อนและยอมช่วยรับผิดแทนครูจอมทรัพย์  แต่นายวิจิตรและนายสับได้ขอเพิ่มเงินค่าจ้างเป็นเงิน 500,000 บาท  โดยจะจ่ายหลังจากที่สามารถรื้อฟื้นคดีได้แล้ว
   - ต่อมานายสับรู้สึกกลัวว่าจะติดคุก  ครูอ๋องจึงได้ว่าจ้างให้นายประเสริฐ หรือเสริฐ  ซึ่งเป็นลูกน้องที่ช่วยงานเลื่อยไม้ มาเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีนี้แทนนายสับ ฯ โดยสร้างเรื่องขึ้นว่า นายเสริฐซื้อรถมาจากนายสับ แล้วขับรถไปชนคนตายในคดีนี้  โดยครูอ๋องว่าจ้างนายเสริฐ เป็นเงิน 20,000 บาท  พร้อมยกรถจักรยานยนต์ให้อีก 1 คัน  ต่อมาครูอ๋องจึงได้พานายสับและนายเสริฐไปที่ สภ.นาโดน จ.นครพนม  เพื่อลงบันทึกประจำวันเรื่องดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน  แต่ระหว่างที่ พ.ต.ท.อดิศักดิ์  ชมศรีหาราช  พนักงานสอบสวน กำลังพิมพ์บันทึกอยู่นั้น  ครูอ๋องได้บอกกับ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ฯ ว่านายสับเป็นคนกระทำผิดตัวจริง แต่นายสับกลับรู้สึกกลัว ไม่ยอมมาลงบันทึกประจำวันเพื่อรับสารภาพ  จึงได้ให้นายเสริฐเป็นคนมาลงบันทึกประจำวันเพื่อรับผิดแทน  เมื่อ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ฯ ทราบเรื่องจึงไม่ยอมลงบันทึกประจำวันดังกล่าวให้  
   - เมื่อวันที่ 19 พ.ค.57  ครูอ๋องได้พานายสับเข้าพบกับ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ฯ  อีกครั้ง  และได้ลงบันทึกประจำวันเป็นหลักฐานเพื่อแสดงว่านายสับ ฯ ได้ยอมรับสารภาพด้วยตนเองว่าเป็นคนขับรถชนคนตายในคดีนี้
   - สำหรับค่าเสียหายทางแพ่งที่ญาติผู้ตายเรียกร้องเอาจากครูจอมทรัพย์นั้น  ครูอ๋องเห็นว่าเป็นเงินที่ต้องชดใช้ให้กับฝ่ายผู้ตายอยู่แล้ว  เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทางคดี  เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.57 ครูอ๋องจึงได้นำเงินของตนเอง จำนวน 170,000 บาท มอบให้กับนายสับ นำมายื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดนครพนมเข้ามาเป็นผู้ชำระค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทน แทนครูจอมทรัพย์  เพื่อใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษให้กับนายสับเมื่อต้องถูกดำเนินคดี

   - ครูอ๋องรู้สึกสำนึกผิดที่ได้ใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องในการไปจัดหาและตกลงว่าจ้างนายสับมารับสารภาพผิดแทนครูจอมทรัพย์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรื้อฟื้นคดีอาญา ทั้ง ๆ ที่ในภายหลังได้รู้ความจริงว่านายสับไม่ใช่คนขับรถชนคนตายในคดีนี้







0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น