นายเลิศปัญญา กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาการค้าประเวณีของสังคมไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีรูปแบบที่สลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น แอบแฝงการขายบริการทางเพศในผับ บาร์ สถานอาบอบนวด สปา คาราโอเกะ โรงแรม รวมทั้งธุรกิจท่องเที่ยว และมีวิธีการที่ทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน มีการขายบริการทางเพศผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต การใช้สื่อออนไลน์ เช่น Facebook หรือ Line ในการล่อลวงผู้หญิงและเด็กไปค้าประเวณี
อีกทั้งการมีค่านิยมที่ผิดๆคิดว่ายอมเสียตัวเพื่อแลกกับเงินหรือสิ่งของฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องปกติ นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการให้หญิงไทยแต่งงานกับชายต่างชาติเพื่อได้ไปทำงานต่างประเทศ และในที่สุดก็ถูกหลอกไปค้าประเวณี ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์โดยพบว่าผู้ขายบริการทางเพศมีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็กหญิง เด็กชาย รวมทั้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และแนวโน้มของผู้ที่ขายบริการทางเพศมีอายุค่อนข้างน้อย และมีในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์มิเรอร์ สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่าเมืองพัทยามีผู้หญิงขายบริการทางเพศ มากถึง 27,000 คน แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชายจากทั่วโลกมาเที่ยวเมืองพัทยาปีละมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองแห่ง “เซ็กส์โลก”
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวด้วยว่า พม. โดย สค. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงได้ปรับวิธีการทำงานและการป้องกันแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับรูปแบบและวิธีการค้าประเวณีที่เปลี่ยนไป โดยได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้าประเวณีและการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดจากบริการทางเพศขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเครือข่ายทางสังคมในการคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้าประเวณี และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ปลอดจากบริการทางเพศ รวมถึงมุ่งสร้างเครือข่ายโดยใช้กลไกเพื่อแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการทำงาน ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองกลุ่มเสี่ยง เช่น ตำรวจ บ้านพักเด็ก เครือข่ายอาสาสมัครช่วยเหลือหญิงไทยในต่างแดน และที่เกี่ยวกับสถานประกอบการ ที่ท่องเที่ยว พื้นที่เสี่ยงที่จะมีการค้าประเวณี
ทั้งนี้ สค. ได้ใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นเครื่องมือด้านกฎหมายในการดำเนินงาน และมีกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ คณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ (ก.ค.อ.ชาติ) และคณะกรรมการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพประจำจังหวัด (ก.ค.อ.จังหวัด) และนโยบายในการขับเคลื่อนใช้มาตรการ 4 ด้าน (4Ps) ได้แก่ 1) การป้องกัน (Prevention) 2) การคุ้มครอง (Protection) 3) การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) และ 4) ด้านนโยบาย (Policy) นอกจากนี้ สค. ยังได้ดำเนินการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเองของเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา โดยผลิตสื่อการ์ตูนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง และได้เผยแพร่ออกไปทั่วประเทศแล้ว และในระดับพื้นที่ สค. ได้ใช้กลไกศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนการดำเนินงาน และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การสร้างพลังเครือข่ายประชารัฐ เพื่อหาแนวร่วมในการทำงาน โดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง ป้องกันกลุ่มเสี่ยง ตรวจตราพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งให้การคุ้มครอง ช่วยเหลือ และพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้เสียหายจากการค้าประเวณี ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยการประชุมฯ ในวันนี้ มีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนาในหัวข้อ “เครือข่ายประชารัฐร่วมใจ ป้องภัยผู้ถูกแสวงประโยชน์จากการค้าประเวณีและกลุ่มเสี่ยง” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีความรู้ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมโรงแรมไทย กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ และกลุ่มอาสาสมัครหญิงไทยในต่างแดน และการร่วมกันแสดงสัญลักษณ์และเดินรณรงค์ยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและสตรี
"ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมทุกอย่างในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในนามประชารัฐ และขอขอบคุณทุกท่านที่เป็นพลังสำคัญในการคุ้มครองป้องกันเด็กและเยาวชนของเราไม่่ให้ตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณี รวมถึงร่วมกันส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของประเทศไทยให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่น่าภาคภูมิใจ ปลอดจากคำครหาว่าเป็น “เมืองเซ็กซ์โลก”นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น