pearleus

วันอาทิตย์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2560

“เบสทริน”อึ้งวิธีประมูลรถ NGV สุดพิสดาร ตั้งข้อสังเกตขสมก.ได้ทีอ้างนายกฯหวังอุ้มอี-ทิคเก็ต ประธานสหภาพฯ เล็งเข้าพบบอร์ดถามถึงความเหมาะสม


หลังจาก ขสมก.เปิดให้เอกชนเข้ายื่นข้อเสนอโดยวิธีการคัดเลือกโครงการจัดซื้อรถโดยสาร NGV พร้อมซ่อมบำรุง 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท หลังล้มประมูลมาแล้วถึง 6 ครั้ง จนต้องเปลี่ยนมาเป็นการประมูลด้วยวิธีการคัดเลือก ปรากฏว่ามีเอกชนเพียงรายเดียวคือกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO ประกอบด้วยบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)และบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด(มหาชน)ยื่นเสนอราคา พนักงานขสมก.หมดศรัทธา ช ทวี แค่อี-ทิคเก็ต ยังไปไม่รอดจี้บอร์ดพิจารณาถี่ถ้วน
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อบ่ายวันที่ 10 ธ.ค. 60  นายสุนทร ชูแก้ว ที่ปรึกษากฏหมายของบริษัทเบสทริน กรุ๊ป จำกัด  แสดงความคิดเห็นว่า  ไม่แปลกใจที่การประมูลจัดซื้อรถ NGV.ของ ขสมก.จะมาถึงจุดนี้ จุดที่ใช้วิธีการคัดเลือกแบบแปลกๆและก็เป็นไปตามคาดหมายที่มีเอกชนรายเดียวคือบริษัท ช ทวี ยื่นเสนอราคาที่สูงกว่าราคากลาง 10 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 4,400 ล้านบาท ทั้งๆที่ก่อนหน้าครั้งนี้ก็ไม่มีเอกชนรายใดเข้ายื่นเสนอราคาแม้แต่รายเดียว โดยเฉพาะบริษัท ช ทวี จำกัด(มหาชน)ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าประมูลแต่กลับลำไม่เข้าร่วมดื้อๆ จนเป็นเหตุให้ ขสมก. ใช้อ้างเป็นเหตุผลเปลี่ยนมาใช้การประมูลด้วยวิธีการคัดเลือกแบบแปลกๆนี้ขึ้นมา

ทนายเบสทรินกล่าวอีกว่า หลังผ่านการเสนอราคาด้วยวิธีคัดเลือกเพียงวันเดียว นายณัฐชาติ จารุจิดา  ประธานบอร์ด ขสมก.ร้อนรนต่อรองราคาผลปรากฏว่า เอกชนลดราคาให้ 5 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณ 4,200 ล้านบาท พร้อมทั้งประกาศจะนำเข้าเสนอบอร์ดทั้งคณะในวันที่ 20 ธ.ค.60  แต่ปรากฏว่ามีแรงผลักดันเร่งเวลาให้สั้นลงมาเป็นวันที่ 13 ธ.ค. นี้
"ผมเชื่อเหลือเกินว่าวิธีนี้คือ การใช้ระเบียบเป็นข้ออ้างทุจริตเอื้อต่อเอกชนทำให้รัฐเสียหาย ต้องมีบริษัทเอกชน  ยื่นร้องเรียนต่อปปช.แน่นอน"นายสุนทร กล่าวและว่า ตนฝากคำถามไปยัง ขสมก.ดังนี้ 1.เมื่อครั้งที่ เอกชนรายนี้ชนะการประมูลเมื่อปี 2558 ด้วยราคา 3,800 กว่าล้านบาท ขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูเอสดอลล่าห์อยู่ที่ 35 บาท มาวันนี้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32 บาท ขณะที่รถบัสเอ็นจีวี.ที่นำเข้ามาส่งมอบให้ ขสมก.ก็เป็นยี่ห้อเดิม โรงงานเดิมที่ประเทศจีน จะอ้างมาว่า โรงงานขอขึ้นราคาก็อาจเป็นไปได้แต่คงไม่มากถึง 600 กว่าล้านบาท แถม ขสมก.ยังมีเงื่อนไขพิเศษกว่าเก่ามากมายหลายข้อ เช่นขยายระยะเวลาส่งมอบจากเดิม  90 วันเป็น 180 วัน การจ่ายเงินใช้วิธีจ่ายเป็นงวดๆตามจำนวนรถที่ส่งมอบเป็นงวดๆเช่นกันโดยไม่ต้องรอจนส่งมอบครบ 489 คันเหมือนแต่ก่อน "ผมเรียกว่าเงื่อนไขหมูๆแบบนี้ใช่มั้ยและราคาที่สูงโอเวอร์แบบล้างผลาญประเทศชาติแบบนี้ใช่มั้ยที่ ขสมก.ต้องการ"

2.ไม่แน่ใจว่า ขสมก.ได้ส่งหนังสือเชิญบริษัท สแกนอินเตอร์ จำกัด(มหาชน)หรือไม่  เพราะบริษัทนี้ไม่ได้ซื้อซองประกวดราคามาก่อนจะผิดระเบียบหรือไม่  เพราะเท่าที่รู้มาบริษัทนี้อยู่ในแวดวงกลุ่มพลังงานภายใต้การดูแลของ ปตท. มันน่าแปลกตรงที่ ขสมก.มีประธานบอร์ดมาจาก ปตท.และยังมีรัฐมนตรีช่วยคมนาคมคนใหม่ก็มาจาก ปตท.คงต้องฝากสื่อมวลชนจับตาด้วย เพราะจะบังเอิญอะไรขนาดนั้น

3.ขสมก.ควรย้อนกลับไปดูคำสั่งที่ 901/2560 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 นางพนิดา ทองสุข ประธานกรรมการกำหนดราคากลางได้กำหนดราคากลางเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 ผ่านมาแค่ 17 วันมานี้เอง นางพนิดาและกรรมการทั้งคณะอีก 6 คนได้อ้างถึงแหล่งที่มาของราคากลางตามคำสั่งที่ 717/2560 ลว.25 ส.ค.60 กำหนดไว้ตามหนังสือที่ ฝรอ.227/2560 ลว.2 ต.ค.60 ซึ่ง ผู้อำนวยการได้อนุมัติแล้ว
โดยการสืบราคาจากท้องตลาด มีผู้เสนอราคาทั้งหมด 5 รายที่สำคัญหนึ่งในห้าบริษัทฯมี กิจการร่วมค้า เจวีซีซี.หรือ ช ทวี รวมอยู่ด้วย โดยราคากลางที่สรุปเมื่อ 171 วันที่ผ่านมาคือ 4,020,158,000 บาท ตรงนี้ถามว่า ราคากลางที่เอกชนรายนี้เห็นพ้องด้วยคือราคานี้ แต่กลับเสนอราคาสูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ คำถามจึงอยู่ที่ การสรุปราคากลางของนางพนิดาและกรรมการ เอกชนสามารถเสนอราคาที่สูงกว่าได้
หรือไม่? "ผมอยากให้กลับไปอ่านระเบียบอีกครั้งว่า ทำได้หรือไม่ ที่สำคัญหาก ขสมก.ยอมให้ราคาสูงกว่าราคากลางที่กำหนด ทำไมไม่ตั้งราคากลางขึ้นมาใหม่ให้สูงกว่าเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ ทำแบบนี้ถือว่าจงใจปิดโอกาสเอกชนรายอื่นๆเข้าร่วมประมูลด้วยหรือไม่"

4.บริษัท ช ทวี ยังมีปัญหากับ ขสมก.เรื่องส่งมอบติดตั้งระบบ อี-ทิคเก็ต ซึ่งจะมีการพิจารณาในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ว่าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ตามที่นายณัฐชาติ แถลงข่าวไปเมื่อไม่นานนี้ ถ้าถูกยกเลิกสัญญาขึ้นมาจริงๆจะทำยังไง แต่ขสมก.ก็อาจอ้างว่าเป็นคนละ Consortium กันแต่อย่าลืมว่าทั้งอี-ทิคเก็ตและจัดซื้อรถ NGV บริษัท ช ทวี เป็นบริษัทหลักทั้ง 2 สัญญา ตรงนี้ถือว่าเหมาะสมแล้วหรือ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากที่พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. มี นสพ.ฉบับหนึ่ง พาดหัวข่าว “บิ๊กตู่ ห่วง ขสมก.สั่งเบรกแผนลดคน” มีเนื้อหาแบบย่อว่าว่า นายณัฐชาติ อ้างคำพูดนายกฯว่าเป็นห่วงแผนลดต้นทุนของ ขสมก.ที่จะต้องลดจำนวนพนักงาน ขสมก.จากจำนวนที่มีปัจจุบัน 13,000 คนให้ลดลงเหลือ 7,500 คน โดยเฉพาะพนักงานเก็บค่าโดยสาร 2,000 คัน  ทำให้ ขสมก.ต้องทบทวนปรับแผนการติดตั้งเครื่องหยอดเหรียญหรือ  Cash Box บนรถเมล์ 2,600 คัน โดย ขสมก.จะยึดตามสัญญาที่ทำไว้กับ บริษัท ช ทวี จำกัด ที่ต้องติดตั้งให้ครบ 800 คันภายในวันที่ 12 ธ.ค.60 นี้   ส่วนที่เหลืออีก 1,800 คัน ให้ชะลอ                                                             
ทั้งนี้แหล่งข่าวจากขสมก.ระบุว่า พนักงาน ขสมก.ต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่า นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงใยพนักงาน ขสมก.จริงๆ แต่สำหรับผู้บริหารขสมก.  น่าจะถือโอกาสเปิดช่องช่วยเอกชนมากกว่าเพราะถ้า บริษัท ช ทวี มีปัญหาส่งมอบอี-ทิคเก็ต และ Cash Box ไม่ทันวันที่ 12 ธ.ค.60 นี้ อาจต้องยกเลิกสัญญา "แต่พอบริษัทนี้เสนอราคาจัดซื้อรถเอ็นจีวี.พวกเราขอถามว่า ท่านเป็นห่วงพวกเราจริงๆหรือเป็นห่วงว่าเอกชนรายนี้เมื่อถูกยกเลิกสัญญาอี-ทิคเก็ตแล้วจะมีปัญหาเรื่องการจัดซื้อรถเอ็นจีวี. พวกเราอยากขอให้ทบทวนว่า ขนาดงานติดตั้งเครื่องอี-ทิคเก็ต ซึ่งเป็นงานเล็กๆระยะเวลาผูกพันสั้นๆไม่กี่เดือนเอกชนรายนี้ยังไม่มีความสามารถ แล้วโครงการใหญ่ๆมูลค่าสูงกว่า 4,400 ล้านบาท ระยะเวลานาน 10 ปีจะไปรอดหรือ”

ด้านนายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพฯ ขสมก.กล่าวว่าตนจะเข้าพบคณะกรรมการประกวดราคาเพื่อสอบถามถึงความเหมาะสมที่จะอนุมัติให้บริษัท ช ทวี ชนะโครงการจัดซื้อในครั้งนี้ เนื่องจากบริษัทดังกล่าวยังติดปัญหางานสัญญาจัดซื้อและติดตั้ง อี-ทิคเก็ต ที่มีปัญหามากมาย

*******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น