นายเศรณี อนิลบล เกษตรจังหวัดสมุทรสาคร
กล่าวว่าในปัจจุบันยังมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายอยู่ และในขณะนี้มีสภาพอากาศแห้งแล้ง
ซึ่งสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว ดังนั้น
เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดที่รุนแรง สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว
และกระจายพื้นที่เพิ่มมากขึ้น
จึงขอความร่วมมือเกษตรกรร่วมกันสำรวจ ติดตามสถานการณ์ระบาดอย่างต่อเนื่อง
และร่วมแรงร่วมใจกันป้องกันกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสมแบบผสมผสาน
ตามระดับความรุนแรงของการระบาดให้คลอบคลุมพื้นที่
วิธีการควบคุมหนอนหัวดำมะพร้าว โดยวิธีผสมผสานตามวงจรชีวิต มี ระยะ 4ดังนี้
1. ตัดทางใบมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายมาเผาไฟทันที
เพื่อตัดวงจรการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว เป็นการกำจัดทั้งระยะไข่ ระยะหนอน
และระยะดักแด้
2. ใช้เชื้อแบคทีเรีย (BT)
ฉีดพ่นบริเวณใบมะพร้าว เพื่อกำจัดระยะหนอน อัตรา 80 - 100 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร
ผสมสารจับใบตามอัตราที่แนะนำในฉลาก ฉีดพ่น 3 ครั้ง ห่างกัน ๕ วัน ในตอนเย็น
3. ปล่อยแตนเบียนเพื่อควบคุม กำจัด และสร้างความสมดุลทางธรรมชาติ
3.1 ปล่อยแตนเบียนไข่ตริโกรแกรมม่า
ทำลายระยะไข่ อัตราไร่ละ 20,000 ตัว 12 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 15 วัน
3.2
ปล่อยแตนเบียนบราคอน (Bracon hebetor) ปล่อยเพื่อควบคุมกำจัดระยะหนอน
อัตรา อย่างน้อย 200 ตัว /ไร่
ปล่อยทุก 15 วัน ติดต่อกัน 6 เดือน ถ้ามีการระบาดรุนแรง และสามารถผลิตแตนเบียน บราคอนได้มาก
ให้ “ปล่อยแบบท่วมท้น”
3.3 ปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัสนีแฟนติดิส
เพื่อกำจัดระยะหนอน อัตรา 50 - 100 ตัว/ไร่ ปล่อยติดต่อกัน 3 ครั้ง แต่ละครั้ง ห่างกัน
1 เดือน
4. ใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบ โดยกรมวิชาการเกษตรได้แนะนำสารเคมีเพื่อการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวโดยวิธีการฉีดพ่นทางใบ
ดังนี้
4.1
สารคลอแรนทรานิลิโพร์ล 5.17% SC อัตรา 20
มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
4.2 สารฟลูเบนไดเอไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร
สำหรับการใช้สารเคมี อิมาเม็กตินเบนโซเอท 1.92% อีซี โดยวิธีฉีดเข้าลำต้น เพื่อกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวนั้น
กรมวิชาการเกษตรแนะนำ ให้ใช้เฉพาะมะพร้าวแก่ที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร เท่านั้น
ทั้งนี้ “ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ”
ข้อเสนอแนะ
ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว
๑.
เกษตรกรควรตระหนักถึงภัยของหนอนหัวดำมะพร้าว โดยให้มีการสำรวจ
ติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งต้องเข้าใจวงจรชีวิตของหนอนหัวดำมะพร้าว
เพื่อให้การป้องกันกำจัดเป็นไปอย่าง มีประสิทธิภาพ
๒.
เกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ ต้องร่วมมือกันในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวแบบผสมผสานให้ครอบคลุมพื้นที่
เพื่อลดปริมาณการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว
๓.
ในการควบคุมตามลักษณะวงจรชีวิตของหนอนหัวดำมะพร้าวต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากใบมะพร้าวที่โดนหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายแล้วจะไม่กลับมาเขียวเหมือนเดิม
ดังนั้น จึงต้องใช้การปรับปรุงบำรุงดินเพื่อให้ ต้นมะพร้าวดึงธาตุอาหารไปใช้ในการสร้างใบใหม่
โดยใช้เวลาอย่างน้อย ๕ - ๖
เดือน จึงเห็นผลชัดเจน
๔.
เกษตรกรควรเลี้ยงแตนเบียนบราคอน เพื่อปล่อยกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง
และเพียงพอในอัตราอย่างน้อย ๒๐๐ ตัวต่อไร่
ปล่อยทุก ๑๕ วัน ติดต่อกัน ๖ เดือน ให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกมะพร้าว
๕. ต้องมีการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมพื้นที่
กลุ่มอารักขาพืช
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น