pearleus

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

เปิดดัชนีทุนมนุษย์ปี59ไทยรั้งลำดับ48 ชี้เด็กไทยขาดทักษะด้านแรงงาน สสค. จับมือสอศ. ขับเคลื่อนไทยแลนด์4.0

บรรยากาศการประชุม
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เปิดเวทีการประชุมวิชาการ “การยกระดับกำลังคนของไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0” พร้อมเปิดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยปี  2559 ที่ผ่านมา  โดยเวทีเศรษฐกิจโลกหรือเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติด้วย “การจัดการศึกษา” ให้สอดรับกับความต้องการแรงงานและการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และการเตรียมความพร้อมของอาชีวศึกษา ในการพัฒนากำลังแรงงานรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่หลากหลายเพื่อยกระดับจากไทยแลนด์ 2.0 สู่ 4.0
 ดร.ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่าการยกระดับกำลังคนของไทยตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 นั้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เชิงนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศหรือ “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานให้สอดรับกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนไทยและแรงงานรุ่นใหม่ โดยสอศ.  รับนโยบายการพัฒนากำลังคนให้ตอบโจทย์ทั้งของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ  ให้เพิ่มทั้ง ปริมาณและคุณภาพของนักเรียนและนักศึกษาอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือเถ้าแก่น้อย  รวมทั้งการแนะแนวการศึกษาและความเป็นไปได้ที่จะเปิดโปรแกรมเตรียมอาชีวศึกษาเอง  ให้นำเด็กชั้นป.6  มาเรียนพื้นฐานในวิทยาลัยอาชีวศึกษา เมื่อจบ ม.3 เด็กจะรู้ตัวเองว่าจะเรียนต่อสายใด
 ดร.ประชาคม ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ถือว่าเป็นการร่วมกันวางแผนการผลิตกำลังคนในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับพื้นที่ ถือเป็นโจทย์สำคัญในการสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น โดยเฉพาะการเปิดข้อมูลดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ไทยปี 2559และข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ระบุว่าแรงงานไทยมีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาร้อยละ 39 และ 1 ใน 4 ของเด็กเยาวชนไทย เลิกเรียนก่อนจบมัธยมศึกษาตอนต้น และเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยขาดทักษะที่จำเป็น
 "สะท้อนให้เห็นว่าแรงงานระดับล่างของไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้   ล่าสุด สสค. หารือกับท่านเลขาสอศ.เพื่อหาแนวทางในการทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มจำนวนเด็กและเยาวชนเรียนต่อในสายอาชีวะ สอศ.ยินดีให้วิทยาลัยอาชีวะในพื้นที่ทั้ง  10 จังหวัด ที่ สสค. ดำเนินโครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพเป็นฐานการพัฒนาศักยภาพเด็กเยาวชนให้เกิดทักษะสอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจในยุค 4.0 ร่วมกัน”
 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว  ผช.รองอธิการบดี ส่วนงานวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เปิดผลสำรวจและการจัดอันดับดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยประจำปี2559 และแนวทางการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุค 4.0ว่าประเทศไทย ว่าติดลำดับ 48 จาก130 ประเทศ โดยในกลุ่มช่วงอายุ 25-54 ปี มีสัดส่วนการจ้างงานทักษะสูง ประเทศไทยติดอันดับ 92 จาก 130 ประเทศ ขณะที่ความหลากหลายทางทักษะ (Skill Diversity) ติดอันดับ 106 จาก 130 ประเทศ ซึ่งหากเทียบกับทักษะแรงงานจากประเทศมาเลเซีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวันจะพบว่า ทั้ง 5 ประเทศล้วนแล้วมีผลิตภาพที่สูงกว่าแรงงานไทยตั้งแต่ 1.6- 3 เท่า
 “ผลสำรวจ สะท้อนให้เห็นว่าทุนมนุษย์ที่ประเทศไทยมี ยังไม่ได้ถูกใช้ไปในการสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดีเท่าประเทศมาเลเซีย จีน  และสิงคโปร์ เมื่อรายได้ต่อหัว ไทยเรายังติดอยู่ในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจยุค 2.0-3.0 ดังนั้นแนวทางการพัฒนากำลังคนหรือการปรับตัว ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ ต้องมีการสร้างแรงงานรุ่นใหม่ในระดับอุดมศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงานจำนวน 3.32 ล้านคน  โดยแบ่งเป็นระดับอาชีวะศึกษา 1.99 ล้านคน และระดับมหาวิทยาลัย 1.33 ล้านคน"ดร.เกียรติอนันต์ กล่าวและว่า  นอกจากนี้การยกระดับทักษะแรงงาน หากเทียบกับประเทศที่มีค่าทุนมนุษย์สูงเช่น  ฟินแลนด์  สิงคโปร์  สวีเดน  เยอรมนี  จะพบว่าประเทศไทยต้องเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะ จากเดิมที่มีประมาณ 5.47 ล้านคนไปเป็น 18.28 ล้านคน ด้วยการยกระดับทักษะแรงงานปัจจุบันด้วยโมเดล 3 ประสานคือ จะต้องเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย โดยมีภาคเอกชนเสริม เพื่อพัฒนาแรงงานที่มีทักษะให้ได้ 2.56 ล้านคนต่อปีภายใน 5 ปีข้างหน้า จึงจะช่วยนำพาให้ประเทศไทยก้าวออกจากเศรษฐกิจ 2.0 ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้

 ดร.เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านแบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับการติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้  วิเคราะห์จากมุมมองด้านปัจจัยการผลิต จะเห็นความ   ท้าทายด้านโครงสร้างทั้งด้านคนและเทคโนโลยีใน 3 ด้านหลักดังนี้ 1. คือด้านคน กำลังแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศสูงวัยและมีทักษะขั้นพื้นฐาน
 ดังนั้นตลาดแรงงานไทยต้องเผชิญกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงทักษะแรงงานจาก Labour เป็น Intelligence Worker 2. คือด้านทุนและเทคโนโลยี ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นกลาง พึ่งพาความได้เปรียบในการแข่งขันจากการใช้แรงงานค่าแรงต่ำเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายด้านค่าเสื่อมราคาของทุน (Depreciation) ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนว่าเครื่องจักรได้ถูกใช้งานอย่างหนักในการผลิตรวมทั้งการสึกหรอหรือเสื่อมสภาพ สัญญาณบอกว่าถึงจุดที่เราต้องลงทุนเพิ่ม เปลี่ยนเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิตแล้ว 3. ด้านการกระจุกตัว การลงทุนส่วนใหญ่กระจุกตัวไปในภาคบริการโดยเฉพาะสาขาโทรคมนาคม และมีส่วนน้อยไปยังภาคบริการอื่นๆ
 "เราเห็นการกระจุกตัวของการลงทุน R&D ของบริษัทไทยชั้นนำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรูปแบบนำเข้าจากต่างประเทศ แสดงถึงความตื่นตัวในการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตมากขึ้น แต่ยังไม่กระจายแบบ broad-based ไปยังทุกกลุ่มนัก ซึ่งวันนี้กำลังเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีคนทำงานน้อยลง แรงงานที่ทำงานในสายการผลิตกว่าร้อยละ70 มีการศึกษาในระดับมัธยมหรือต่ำกว่าและมีรายได้น้อย ทำให้รายได้ในภาพรวมของประเทศเติบโตช้าส่วนหนึ่งมาจากแรงงานในกลุ่มนี้ที่มีรายได้แทบไม่เติบโตเมื่อเทียบกับรายได้ตอนเริ่มเข้าทำงานกับรายได้เมื่อเกษียณอายุ"
  ดร.เสาวณี  กล่าวต่อว่า ขณะที่แรงงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางสาขาต่างๆ เรายังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้และความชำนาญ  และผู้มีทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการทำงานและสร้างนวัตกรรมในโลกยุคใหม่ที่ต้องพึ่งพาการเติบโตด้วยความรู้และนวัตกรรม ดังนั้นแนวทางการพัฒนากำลังคนทั้งในส่วนของแรงงานเดิมจะต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้มีผลิตภาพสูงโดยต้องส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมทักษะต่างๆ ที่บริษัทต้องการ และทักษะใหม่ๆ ที่จำเป็น เป็นแรงงานที่มีความยืดหยุ่นสูงปรับตัวได้ง่าย เรียนรู้ต่อเนื่อง มีวินัยและคุณธรรม
 พร้อมระบุว่า สำหรับการเตรียมแรงงานในอนาคต ระบบการศึกษาของไทยควรปรับเปลี่ยนให้ตอบรับทันกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างคนที่สามารถเรียนรู้และปรับตัวได้ในโลกไร้พรมแดนที่การเข้าถึงความรู้มีข้อจำกัดน้อยลง ในส่วนของแรงงานนอกระบบ ซึ่งถือว่ามีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากอยู่แล้ว ควรสร้างรูปแบบเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานนอกระบบที่หลากหลายให้ตลาดแรงงานนอกระบบทำหน้าที่ช่วยพยุงและดูดซับแรงงานในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว เป็นตลาดแรงงานที่มีอิสระทางเลือกที่มีศักยภาพ และเป็นธุรกิจ  Start-up ที่เข้มแข็ง เช่น Stakeholders   นอกจากนี้ควรจัดตั้งศูนย์ One Stop Service ให้ความรู้เทคโนโลยี เงินทุน รวมถึงสร้างเครือข่ายสำหรับแรงงานที่ต้องการประกอบอาชีพอิสระ รวมทั้งธุรกิจ SMEด้านการพัฒนาทุน  ส่งเสริมกลไกความร่วมมือการใช้ประโยชน์ขององค์ความรู้ และเชื่อมต่องานวิจัยในสถาบันการศึกษาสู่งานเชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกระจายในทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง โดยเน้น Sector ที่มีการจ้างงานสูง
 ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  กล่าวว่า จากบทเรียนเชิงพื้นที่ที่ทาง สสค. ได้ดำเนินงาน “โครงการจัดการศึกษาเพื่ออาชีพระดับจังหวัด” และ “โครงการเตรียมความพร้อมของนักเรียนระดับมัธยมต้นสู่โลกของการทำงาน” ภายใต้การขับเคลื่อน “โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้” กับพื้นที่นำร่องจำนวน 10จังหวัดว่า แนวทางที่ สสค.ได้ดำเนินงานในพื้นที่มีโจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ผู้เรียนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาในช่วงมัธยมต้นระหว่าง ม.1- ม.3 ให้มีทักษะอาชีพหรือมีอาวุธติดมือ คือมีความรู้แล้วสามารถนำเอาไปใช้ทำงานได้
 “การที่เราเอาความรู้เรื่องทักษะอาชีพต่างๆ เข้าไปอยู่ในสายสามัญ ก็เพื่อทำให้เด็กได้มองเห็นเส้นทางเลือกในการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพ ดังนั้นถ้าเราให้เด็กที่อยู่ในสายสามัญแล้วมีพื้นฐานความรู้ด้านอาชีพก็จะช่วยตอบโจทย์เรื่องของไทยแลนด์ 4.0 ได้  การทำงานในเชิงพื้นที่จะมีข้อได้เปรียบมากกว่า เพราะว่าพื้นที่จะสามารถหาจุดความต้องการในเรื่องของแรงงานหรือตลาดแรงงานในพื้นที่ได้ง่ายกว่าการมองในภาพใหญ่ระดับประเทศ "ศ. ดร.กล่าวและว่า สำหรับประเทศไทยาพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ต้องออกจากระบบการศึกษาไปก่อนด้วยเหตุผลนานาประการ จึงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องปรับยุทธศาสตร์ลงมาในระดับล่างก่อน เพื่อให้สามารถออกไปประกอบอาชีพสักระยะหนึ่ง ซึ่งต้องสร้างระบบการศึกษาและหลักสูตรให้สามารถรองรับคนเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในวัยทำงานที่จะกลับเข้ามาศึกษาต่อ ทำให้เกิดการพัฒนาเพิ่มพูนทักษะและความสามารถของแรงงานไทย อาชีวศึกษาจึงข้อต่อสำคัญในการเตรียมความพร้อมแรงงานคุณภาพในอนาคตของไทย
 น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ นักวิชาการ สสค.ระบุว่า ข้อมูลชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการจัดการศึกษาและการจ้างงาน การเตรียมความพร้อมกำลังแรงงานทั้งที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตและกำลังแรงงานในปัจจุบันทั้งในและนอกระบบมีความสำคัญ โดยการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตลอดช่วงชีวิตเป็นยุทธศาสตร์การทำงานที่สอศ. และกระทรวงแรงงานเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ  เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาเยาวชนสู่โลกของการทำงาน โดยสสค. ได้จัดทำโครงการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อสร้างความพร้อมในการประกอบอาชีพให้แก่เยาวชนที่อยู่ในระบบการศึกษาใน 10 จังหวัดนำร่องร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์โดยเป็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ใช้พื้นที่เป็นฐานผ่านกลไกการทำงานระดับจังหวัดระหว่างภาคการศึกษาทุกสังกัดและภาคเศรษฐกิจทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  การศึกษาวิจัยสำรวจข้อมูลตลาดแรงงาน และการเตรียมความพร้อมนักเรียนสู่โลกของการทำงานผ่านกิจกรรมและแผนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแก้ปัญหาเยาวชนออกกลางคัน ช่วยค้นพบตนเองบนเส้นทางอาชีพ เป็นต้น

ดร.ประชาคม จันทรชิต

 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น