ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ณ Hall 5 - 8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานมหกรรม Thailand Social Expo 2018 โดยมี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวง พม. และองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมงาน
โดยการจัดงานดังกล่าวเป็นการแสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาลและงานมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ด้านสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 90 องค์กร/หน่วยงาน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป




นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ได้มีการดำเนินงานในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสตรี และขจัดความรุนแรงต่อสตรี ซึ่งสืบเนื่องมาจากที่ประเทศไทยรับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือ CEDAW ทำให้รัฐบาลต้องมีการออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งแก้กฎหมายต่างๆ ในการสร้างความเท่าเทียม สร้างความเป็นธรรมและขจัดการเลือกปฏิบัติด้วย โดยรัฐบาลได้ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 โดย สค. มีกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการระดับชาติ (คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ครอบครัวแห่งชาติ) และยังมีคณะอนุกรรมการในระดับจังหวัด (คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาสถาบันครอบครัว) ด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ก็ยังมีศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทุกจังหวัด และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ที่เป็นกลไกระดับพื้นที่ในการร่วมกันขับเคลื่อนงานเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและขจัดความรุนแรงในครอบครัว อีกทั้ง ยังมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมมือกัน ช่วยกันในการรณรงค์และผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในสังคมในการยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย




คุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) กล่าวต่ออีกว่า ทัศนคติของสังคมที่มองว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง เนื่องมาจากการแต่งตัวของผู้หญิงและการที่ผู้หญิงคนนั้นพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์เสี่ยงแบบนั้นเอง ซึ่งคุณซินดี้มองว่า การกระทำดังกล่าวเป็นสิทธิของบุคคล/ของผู้หญิงคนนั้น ที่เค้ามีสิทธิที่จะแต่งตัวแบบนั้น และมีสิทธิที่จะไปได้ในทุกที่ คนทุกคนไม่มีสิทธิที่จะไปกระทำหรือล่วงละเมิดบุคคลอื่นทั้งสิ้น ซึ่งเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้น สังคมกลับมองว่าเป็นความผิดของผู้หญิง แต่ไม่มีมุมมองอื่นๆ หรือมองว่าเป็นความผิดของผู้กระทำ และเรียกผู้กระทำมาตักเตือนเลย จึงทำให้ผู้หญิงเป็นฝ่ายที่จะต้องคอยระวังตัวเองตลอดเวลา ทังนี้ ยังมีผลศึกษาของ UN ที่แสดงให้เห็นว่าสังคมจะไม่มีการลงโทษผู้ชายหากผู้ชายกระทำผิด จึงทำให้เกิดการกระทำซ้ำ เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่มีความผิด จากมายาคติในสังคมที่ว่า ผู้หญิงถูกข่มขืนเพราะการแต่งกายของผู้หญิง และการข่มขืนจะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนอกบ้านและจากคนที่ไม่รู้จัก แต่จริงๆ แล้วนั้น มีสถิติ 90% ของการข่มขืน คือ เกิดขึ้นในบ้าน และเกิดจากคนรู้จัก แต่เนื่องจากผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะออกมาพูดหรือเปิดเผยเนื่องจากเป็นคนรู้จักนั่นเอง
การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การที่เราต้องมีความคิดว่า “เราไม่มีสิทธิที่จะไปทำร้ายผู้อื่น” และ “เราต้องไม่กระทำต่อผู้อื่น” โดยเราต้องให้เกียติซึ่งกันและกัน และ ห้ามไปจับต้องร่างกายบุคคลอื่นหากเขาไม่ยินยอม “ฝากให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติงานในเรื่องดังกล่าว โดยต้องรับฟังข้อมูลจากผู้ถูกกระทำ ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามว่า แต่งตัวยังไง และไปอยู่ในสถานการณ์นั้นทำไมหรืออย่างไร และต้องไม่ดูที่หลักฐานแค่ภายนอกเท่านั้น เนื่องจากหลายๆ การกระทำ ไม่มีหลักฐานที่ปรากฎชัดเจนได้ รวมทั้ง ต้องการให้มีการลงโทษผู้กระทำความรุนแรงหรือกระทำผิดด้วย ไม่ใช่จบลงแค่การไกล่เกลี่ย ยอมความ ซึ่งจะทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง” คุณสิรินยา บิชอป (ซินดี้) กล่าวในตอนท้าย
*******
___________________
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น