pearleus

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

ชาวบ้านเกาะร้องหนวดชี้ชัด ฯ ถูกทวงหนี้กองทุนสตรี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กู้


ชาวบ้านเกาะร้องหนวดชี้ชัด ฯ
ถูกทวงหนี้กองทุนสตรี ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กู้   

                     ชาวบ้านหมู่ 4 ตำบลบ้านเกาะ ร้องของความเป็นธรรมจาก หนวดชี้ชัดเจาะลึก บรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ชี้ชัดเจาะลึก พร้อมกับเข้าทวงถามความจริงกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ถึงเอกสารตามทวงหนี้ ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ส่งไปยังชาวบ้าน 50 คน แต่ชาวบ้านบอกว่า ไม่รู้ไม่เห็น และไม่เคยขอกู้ยืมเงินกองทุนตรงนี้เลย อยู่ดีๆก็เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัว  
โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านจากหมู่ 4 ตำบลบ้านเกาะจำนวนราว 20 คน ได้เดินทางมาเพื่อขอพบกับเจ้าหน้าที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ที่ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับมาให้ข้อมูลกับ นายมานพ เทียนมณี หรือหนวดชี้ชัด   บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ชี้ชัดเจาะลึก เนื่องจากพวกเขาได้รับเอกสารติดตามทวงหนี้จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อแจ้งให้ทราบว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเขาต้องชำระหนี้คืน เนื่องจากได้มีการขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเพื่อมาจัดตั้งกลุ่มในการประกอบอาชีพ  ซึ่งชาวบ้านที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ถึงกลับต้อง งง เพราะพวกเขายืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยขอกู้เงินจากกองทุนนี้เลย แล้วอยู่ดีๆมาเป็นหนี้ได้อย่างไร
  จากนั้นจึงมีการขอดูเอกสาร บางส่วนจากสำนักงาน ก็พบว่า มีการขอกู้เงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปเมื่อช่วงปี 2556  โดยมีกลุ่มที่ของบไปจำนวน 10 กลุ่ม กลุ่มละ 5 คน เท่ากับมีผู้เป็นหนี้ทั้งหมด 50 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่ 4 ตำบลบ้านเกาะ รวมเป็นเงินกู้ไป 1,936,000  บาท   ซึ่งจากการสอบถามจากชาวบ้านที่มาขอความกระจ่าง บอกว่า แต่ละคนไม่เคยเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเลย และกลุ่มที่ตั้งขึ้นมาก็ไม่มีใครประกอบอาชีพตามชื่อในกลุ่มนั้น อย่างเช่น เลี้ยงปลาดุก ปลูกมะพร้าว ทำสวนมะม่วง สวนพุทรา สวนฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มพวกนี้ไม่มีอยู่จริง ชาวบ้านจึงสงสัยว่า ใครเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ แล้วเอกสารหลักฐานที่มากู้ก็เป็นสำเนา  ลานเซ็นต์บางคนเจ้าตัวก็ยืนยันว่า เป็นการปลอมขึ้นมา จึงสงสัยว่าจะต้องมีผู้แอบเอาชื่อลูกบ้านไปแอบอ้างในการขอเงินจากกองทุนดังกล่าวนี้
นางสาวธัญญานันท์ น้ำดอกไม้ หนึ่งในผู้เสียหาย ที่บอกว่า ในหนังสือนั้น มีชื่อตนเองเป็นผู้รับเงิน แต่ความจริง ตนเองไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย และย้ายไปทำงานต่างจังหวัดหลายปีแล้ว แต่อยู่ดีๆก็มาได้รับหนังสือทวงถามหนี้ และลายเซ็นในเอกสารก็ยืนยันว่าไม่ใช่ของตน   จึงแปลกใจว่าทำไมชื่อของตนจึงมาอยู่ในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีได้ และผู้ที่ได้รับเงินไปเป็นใคร อยากให้ออกมารับผิดชอบ

ทางด้านนางสาวเข็มทอง แซ่โง้ว ชาวบ้านอีกหนึ่งรายที่กลายเป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวบอกว่า ตั้งแต่ได้รับเอกสาร ก็สงสัยว่าทำไมชื่อตนจึงเข้าไปอยู่ในกองทุนนี้ และราชการนำเอกสารของตนไปได้อย่างไร จึงได้ไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เนท จนทราบว่า การสมัครเข้ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีสามารถสมัครผ่านอินเตอร์เนทได้ จึงได้ลองนำเลขบัตรประชาชนของตนไปกรอก จึงทราบว่า ข้อมูลของตนได้ถูกสมัครผ่านระบบทางอินเตอร์เนทไปเมื่อวันที่4 ธันวาคม 2555ในเวลา ตี2 51 นาที จึงทำให้สงสัยว่าต้องมีผู้ทราบเลขประจำตัว 13 หลักของตนแล้วนำไปกรอก ส่วนการเข้าไปมีส่วนร่วมกับกองทุนของหมู่บ้านหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เคยเข้าร่วมกองทุนใดๆของหมู่บ้านเลย แต่เคยนำหลักฐานไปขอรับเงินณาปนกิจของบิดาเมื่อ2-3ปีก่อน ซึ่งก็จำไม่ได้แน่ชัดว่าตอนนั้นต้องใช้สำเนาบัตรประชาชนของตนเองหรือไม่ จึงทำให้หลักฐานหลุดไปอยู่ในมือของบุคคลอื่น

ทั้งนี้จากเอกสารที่อยู่ในมือของเจ้าหน้าที่ตอนนี้มีเพียงหลักฐานการกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ว่าใครเป็นผู้ให้กู้ และใครเป็นผู้กู้ โดยในเอกสารปรากกฎชื่อนาง ชดาภา โพธิ์อบ เป็นประธานกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีตำบลบ้านเกาะ เป็นผู้ให้กู้

ทางด้านนางสาวเมธิดา หิรัญบูรณะ นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสมุทรสาคร ได้ชี้แจ้งว่า ในช่วงการกู้เงินของประชาชนกลุ่มนี้คือ ปี 2556 ตอนนั้น ชาวชุมชนจะบริหารจัดการกันเอง ตั้งกลุ่ม ตั้งประธานกันขึ้นมา และพิจารณาอนุมัติกันเอง เมื่อผ่านจึงส่งเรื่องเข้าจังหวัด และจังหวัดเป็นผู้จ่ายเงินลงไปยังกลุ่ม ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะภาครัฐไม่ได้เข้าไปใกล้ชิด ต่างจากเมื่อหลังปี 2559 ที่สำนักนายกได้โอนเรื่องนี่ให้ทางกระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนดูแล จึงต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการเป็นลำดับชั้น ตั้งแต่ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด โดยส่วนราชการจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงดูแลใกล้ชิด ซึ่งปัญหาที่เกิดนี้ ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนก็ต้องทำไปตามบทบาทหน้าที่ เมื่อมีหนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีหน้าที่ในการทวงถามหนี้ เพื่อไม่ให้ภาครัฐขาดทุน เพราะนั่นคือเงินหมุนเวียน แต่เรื่องที่ว่า ชาวบ้านจะเป็นหนี้จริง หรือไม่จริงนั้น ก็ต้องมีการสืบกันเป็นลำดับขั้น ต้องดูจากพยานหลักฐานทั้งหมดที่มี ทั้งเอกสารต่างๆ สอบถามจากบุคคล ซึ่งถ้าปรากฏว่าชาวบ้านไม่ได้เอาไปจริง ก็ต้องตามต่อไปว่าผู้ที่ได้รับเงินไปตอนนั้นเป็นใคร ก็ต้องฟ้องร้องกันไปตามกระบวนการ
สำหรับปัญหานี้ในสมุทรสาครเพิ่งจะเจอเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ลูกหนี้ยังไม่จ่ายหนี้ตามเวลาเสียมากกว่า ซึ่งในช่วงปี 2556 สมุทรสาครได้รับเงินจากสำนักนายกของกองทุนบทบาทสตรีมา 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินหมุนเวียนให้กู้เพื่อไปประกอบอาชีพ 50 ล้านบาท และตอนนี้ก็ยังมีหนี้ที่ค้างจ่ายอีก 20 กว่าล้านบาท







 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น