pearleus

วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

นพ.สสจ.จังหวัดร้อยเอ็ด ชี้แจง สตรีตั้งครรภ์เป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงจนเสียชีวิตทั้งแม่และลูก

วันที่ 22 กันยายน 2558 เวลา 09:30 น. นายปิติ ทั้งไพศาล นพ.สสจ.จังหวัดร้อยเอ็ด  ได้จัดแถลงข่าวชี้แจง กับสื่อมวลชนจังหวัดร้อยเอ็ดและหน่วยงานสาธารณสุข 20 อำเภอ ใน สตรีตั้งครรภ์เป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงจนเสียชีวิตทั้งแม่และลูก ว่า ตนรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมี หญิงตั้งครรภ์ อายุ ๑๗ ปี ท้องแรก อาชีพแม่บ้าน อาศัยอยู่ที่อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด  สิทธิการรักษา บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษา ม. 3 ตรวจพบว่าท้องแฝดโดยการอัลตราซาวด์ เมื่อตั้งท้องได้ 4เดือน วันที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 00.33 น. มาโรงพยาบาลด้วยอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอมา 1 วัน ซึ่งตั้งท้องได้ 8 เดือน ปฏิเสธโรคประจำตัว ตรวจพบมีไข้สูง หมอบอกว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและให้ยากลับไปกินต่อที่บ้านและให้มาฝากท้องตามนัดในตอนเช้า ซึ่งในตอนเช้าตรวจซ้ำไม่มีไข้ จึงให้ยาบำรุงครรภ์กลับบ้านไป ต่อมาเวลา 20.30 น. มีไข้ ไอ เจ็บคอและเจ็บครรภ์ จึงกลับมาโรงพยาบาล พบมีไข้สูง ความดันเริ่มสูง 144/81 มม.ปรอท จึงให้นอนรักษาในโรงพยาบาลในห้องรอคลอด เวลา 21.00 น. ตรวจภายในปากมดลูกเปิด 3 ซม. เนื่องจากท้องแฝด และยังไม่ครบกำหนดคลอด หมอได้คุยกับญาติจะส่งต่อโรงพยาบาลร้อยเอ็ดซึ่งมีความพร้อมทั้งคนและเครื่องมือ ในตอนนั้นตรวจคลื่นหัวใจทารกในท้องพบเต้นเร็ว 170-180 ต่อนาที จึงให้น้ำเกลือและใส่หน้ากากออกซิเจนช่วย และโทรปรึกษาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด เวลา21.30 น. ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เหนื่อยหอบมาก นอนราบไม่ได้ จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาใส่ท่อหายใจที่ห้องฉุกเฉินและต่อเครื่องช่วยหายใจ พบความดันสูงมาก 200/120 มม.ปรอท จึงได้ให้ยาลดความดัน และสังเกตอาการจนคงที่แน่ใจว่าสามารถส่งต่อได้ เวลา 22.40 น. ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ถึงเวลา 23.45 น. ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น จึงได้ทำการกู้ชีพ พบหัวใจกลับมาเต้นปกติ จึงย้ายเข้าหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม ภาพรังสีปอดพบปอดขวาเกือบทั้งหมดอักเสบและหัวใจโต ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นอีกครั้งเวลา 01.37 น. ทำการกู้ชีพประมาณ 30 นาที ไม่ตอบสนอง ปรึกษาญาติ ญาติไม่ประสงค์ให้กู้ชีพต่อผู้ป่วยเสียชีวิตเวลา 02.02 น. หลังเสียชีวิต ญาติขอให้ผ่าเด็กออก พบเป็นแฝดสาม
*ผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื้อเยื่อปอดและเนื้อเยื่อหัวใจ พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ไทพ์ เอช 3 ( Influenza A virus typing H3 )
**ข้อประเด็นข้อสงสัยของญาติ
ถาม วันแรกที่มาทำไมไม่ได้นอนโรงพยาบาล
ตอบ เพราะตรวจและประเมินอาการ ผู้ป่วยไม่มีข้อบงชี้ในการนอนโรงพยาบาล และญาติไม่แสดงความจำนง
ถาม ตอนเช้านัดมาฝากท้องตามนัด ใช้เวลานานขณะรอมีอาการหนาวสั่น แต่หมอบอกว่าไม่มีไข้
ตอบ นานเนื่องจากรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับตรวจร่างกายไม่มีไข้
ถาม หมอบอกจะส่งต่อโรงพยาบาลร้อยเอ็ดตั้งแต่เวลา 21.00 น. รถพร้อม ญาติพร้อม แต่กว่าจะได้ไปก็เวลา 22.40 น. ทำอะไรอยู่?
ตอบ เพราะคนไข้มีอาการแย่ลงหายใจหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือโดยใส่ท่อช่วยหายใจและรอสังเกตอาการจนกระทั่งมันใจว่าสามารถส่งต่อได้
ถาม ทำไมโรงพยาบาลโพนทองไม่ทำการเอ็กซเรย์ปอดจะได้รู้ว่าป่วยเป็นอะไร
ตอบ เพราะขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการหนักเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน การเอ็กซเรย์ปอดจึงไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษา และสามารถรอมาทำที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดได้
ถาม ญาติบอกว่า ไอ่คนที่ 3 แลนมาจุกยุคอหอย” (เนื่องจากฝากครรภ์ตรวจพบแฝด 2หลังผ่าพบเป็นแฝด 3 จึงมีความคิดว่าทำให้แม่หายใจไม่ได้)
ตอบ ที่แม่หายใจไม่ได้เป็นเพราะน้ำท่วมปอดจากภาวะปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง
ถาม ญาติบอกว่า ตอนมายังยางเองได่ บ่กี่ชั่วโมงคือตาย
ตอบ ไข้หวัดใหญ่ในสตรีตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้
ถาม มีแนวทางป้องกันอย่างไร? ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียอีก
ตอบ มีนโยบายการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มสตรีตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่มีปัญหาความครอบคลุมและจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ ทั้งจังหวัดได้รับวัคซีนจำนวน 51,280 โด๊ส สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์
ถาม -การเยียวยาจะช่วยเหลือญาติและครอบครัวอย่างไร?
ตอบ- บันทึกยื่นขอความช่วยเหลือตามช่องทาง มาตรา 41 แล้วคณะกรรมการจะพิจารณาอีกที
***ความรู้เกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)ไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A, B และ C โดยสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A ซึ่งจำแนกต่อโดยไกลโคโปรตีน คือ Haemagglutinin มี 18 ชนิด (H1 – H18) และ Neuraminidase   มี 11 ชนิด (N1-N11) ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี พ.ศ. 2552 คือ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่พบว่า หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ถึง 4 เท่าโรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะพบมากตอนช่วงฤดูฝน และพบต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว เชื้อไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี คนที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ เนื่องจากอาจป่วยจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนสายพันธุ์ไป และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีส่วนประกอบของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยเป็น Type A จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ H1N1 และ H3N2 และ Type B 1 สายพันธุ์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสายพันธุ์ไวรัสที่จะบรรจุในวัคซีนทุกปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ในปัจจุบัน 
****แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ในทุกช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์แล้ว ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะผ่านรกจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้เมื่อคลอด ลูกจะมีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่แรกเกิดโดยไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องรอให้ครบตามเกณฑ์ปกติคือ 6 เดือนถึงจะให้วัคซีน การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการได้ประโยชน์สองต่อ คือหญิงตั้งครรภ์ได้รับประโยชน์โดยตรง ส่วนลูกได้รับประโยชน์โดยทางอ้อม

รายงานข่าวโดย เดช นาคราช/ร้อยเอ็ด




0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น