pearleus

วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

“เด็กจมน้ำ”ภัยร้ายในช่วงปิดเทอม

                                                                                     
       “เด็กจมน้ำ”ภัยร้ายในช่วงปิดเทอม
ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค กล่าวถึง ช่วงปิดเทอมนับว่าเป็นวันที่เด็กๆ แทบทุกคนตั้งหน้าตั้งตารอ เพราะนอกจากจะไม่ต้องตื่นแต่เช้าไปโรงเรียนแล้วยังไม่ต้องทำการบ้านอีก จึงเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เด็กๆได้มีเวลาเล่นซนกับเพื่อนบ้านที่มีทั้งรุ่นเดียวกันหรือเพื่อนต่างวัย และสิ่งที่เด็กๆ ทุกคนชอบมากคือการได้เล่นน้ำ ซึ่งในแต่ละชุมชนก็จะมีแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วยน้ำ หนองน้ำ แหล่งน้ำการเกษตร เช่น บ่อน้ำ สระน้ำ ที่ขุดไว้ใช้ทำการเกษตร แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่น่าจะมีความสนุกสนานแต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองควรตระหนักและร่วมกันป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นคือ การจมน้ำตายของเด็ก เพราะจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำตายมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับทุกสาเหตุ เด็กไทยจมน้ำตายเฉลี่ยปีละเกือบ 1,300 – 1,500 คนหรือกล่าวง่ายๆ ว่าเด็กไทยจมน้ำตายวันละเกือบ 4 คน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมหน้าร้อน 3 เดือน (มีนาคม – พฤษภาคม) มีเด็กจมน้ำตายเกือบ 500 คน ในช่วง 3 เดือนนี้ เดือนเมษายนเป็นเดือนที่มีเด็กจมน้ำตายมากที่สุด โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ จะพบว่า เด็กจมน้ำตายถึงวันละ 6 คน ช่วงอายุที่พบว่าจมน้ำมากคือช่วง 5 – 14 ปี ซางเป็นช่วงที่เด็กโตพอที่จะออกไปเล่นนอกบ้านได้ แหล่งน้ำที่พบจมน้ำมากคือ สระน้ำ/หนองน้ำภายในหมู่บ้านซึ่งมักไม้ไกลจากบ้านนัก  จากการสำรวจความสามารถ ในการเอาตัวรอดของเด็กไทย ปี 2556  พบว่า มีเด็กว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 23.7 สามารถว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดได้เพียงร้อยละ 4.4 เด็กที่เรียนหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดมีทักษะการเอาชีวิตรอดในน้ำมากกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนถึง 20.7 เท่า มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ถึง 3.4 เท่า มีทักษะการช่วยเหลือคนตกน้ำ/จมน้ำ และการแก้ปัญหาและเอาชีวิตรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน มากกว่า 2.7 เท่า และ 2.8 เท่า พื้นที่เสี่ยงสูงในเขตสุขภาพที่ 5 (อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนมากกว่าหรือเท่ากับ 8 หรือจำนวนคนเสียชีวิตตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป) มี 6 จังหวัดได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่เสี่ยงปานกลางในเขตสุขภาพที่ 5 (อัตราการเสียชีวิตต่อประชากรเด็กแสนคน เท่ากับ   5 – 7) มีจำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม
ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล กล่าวย้ำเตือนประชาชนว่า มาตรการป้องกันการจมน้ำมักขึ้นอยู่กับช่วงอายุของเด็กที่จมน้ำ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้น ส่วนมาตรการป้องกันที่สำคัญในช่วงปิดเทอมและเทศกาลสงกรานต์คือ การไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันตามลำพัง ขณะเล่นน้ำสงกรานต์อย่ายืนใกล้ขอบบ่อ/สระ เพราะอาจพลัดตกลงน้ำได้ ชุมชนควรกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก และจัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลความปลอดภัย รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำ และที่สำคัญชุมชนควรร่วมมือกันคอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง จากสถานการณ์เขตสุขภาพที่ 5 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 91 คน อันดับ 1 ได้แก่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ถึง 18 คน รองลงมาจังหวัดกาญจนบุรี 17 คน และ จังหวัดสุพรรณบุรี 14 คน จึงได้มอบหมายให้ นายพงศ์ธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี และคณะ เดินทางไปหารือกับ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันหาทางป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเตรียมจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ เพื่อให้ความรู้ในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และการช่วยเหลือผู้ตกน้ำ จมน้ำได้อย่างถูกต้อง โดยกำหนดจัดกิจกรรมในวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558 ณ สระว่ายน้ำองค์การบริหารส่วนจังหวัด สนามกีฬาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะมีการจัดนิทรรศการ จัดแสดงการให้ความรู้ในการเอาตัวรอดจากการจมน้ำ และการช่วยเหลือผู้ตกน้ำ จมน้ำได้อย่างถูกต้อง โดยได้เชิญผู้บริหารเทศบาล อบต.โรงเรียนในจังหวัดประจวบฯ และผู้สนใจให้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง
ดร.นพ.อนุพงค์ สุจริยากุล กล่าวเสริมอีกว่า เรามาร่วมกันเป็นหูเป็นตาให้แก่คนในชุมชน ช่วยกันดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดไม่ปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำกันตามลำพัง เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับครอบครัวหรือชุมชนของเราได้ การปฏิบัติเพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันการตกน้ำ จมน้ำได้แล้วครับ หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถาม หรือโทรปรึกษา สายด่วน กรมควบคุมโรค 1422  ตลอด 24 ชั่วโมง"
                                                                 รายงานข่าวโดย วิจิตรา ฤทธิ์ประภา กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดราชบุรี กรมควบคุมโรค  
20 กุมภาพันธ์  2558


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น