pearleus

วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

MTIสุดปลื้มเหล่าศิษย์เก่าร่วมใจแต่งหน้าโขนหน้าพระเมรุมาศ รัชกาลที่ ๙


หนึ่งในกิจกรรมสำคัญครั้งประวัติศาสตร์ชาติในงาน “พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ ๙)” คือ “การแสดงมหรสพสมโภชตามโบราณราชประเพณี” จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น. ถึงเวลา ๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น โดยหนึ่งในการแสดงโขนหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ที่เรียกว่า “โขนหน้าพระเมรุมาศ” หรือ “โขนหน้าไฟ” เรื่องรามเกียรติ์  แสดงโดย นาฏศิลปิน สำนักการสังคีต นักเรียน นักศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลป์ ๑๒ แห่งทั่วประเทศ และสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์  ในโอกาสนี้ได้มี ๔ ช่างแต่งหน้ามืออาชีพวิทยากรและศิษย์โรงเรียนสอนศิลปการแต่งหน้า MTI ได้มีส่วนร่วมในการแสดง โดยการแต่งหน้าให้กับนักแสดงโขน
อ.มัม- พงศ์รัต  กิจบำรุง  ศิษย์รุ่นที่ ๓๕ และวิทยากรโรงเรียนสอนศิลปการแต่งหน้า MTI รวมทั้งเมคอัพอาร์ตทิสต์อิสระ มือรางวัล กล่าวว่า นับเป็นเกียรติประวัติของอาชีพช่างแต่งหน้าเมื่อมีโอกาสได้รับการคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในทีมงานแต่งหน้าโขนพระราชทานสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และสืบสานการแสดงโขนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๗ กับการแสดงโชนเรื่องรามเกียรติ์ ชุดนางลอย ,ชุดศึกมัยราพณ์ ,ชุดจองถนน ,ชุดโมกขศักดิ์และ ชุด ศึกอินทรชิต ตอน นาคบาศ ทั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

สำหรับการแต่งหน้าการแสดงโขนหน้าไฟครั้งนี้นับเป็นครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต คือทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จะขอใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดมาใช้อย่างเต็มสุดความสามารถ การแสดงโขนเป็นศิลปะชั้นสูงฉันใด การแต่งหน้าโขนก็ย่อมเป็นศิลปะการแต่งหน้าชั้นสูงไปด้วย ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อนและปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหารูปหน้า เพราะแต่ละคนมีโครงหน้าที่แตกต่างกันออกไป อาทิ เบ้าตาลึก,โหนกคิ้วสูง และขมับยุบ รวมทั้งการลงสีสันบนใบหน้าที่นักแสดงชายเน้นสีส้มแดง ส่วนนักแสดงหญิงที่เน้นสีแดงสด

“ขอบคุณเอ็มทีไอที่เปรียบเสมือนคลังแห่งความรู้ด้านศิลปะและเทคนิคการแต่งหน้าทุกประเภท ผลิตบุคลากรออกมาสู่วงการช่างแต่งหน้ามืออาชีพนับไม่ถ้วน ซึ่งการแต่งหน้าโขนพระราชทานเอ็มทีไอ โดย อาจารย์ขวด-มนตรี วัดละเอียด และทีมงานได้เข้ามาทำงานรับสนองพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ นับตั้งแต่เริ่มจวบจนถึงปัจจุบันและจะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่”


อ.ต้น-ภูดิท อินทร์ทองปาน ศิษย์และวิทยากรโรงเรียนสอนศิลปการแต่งหน้า MTI และช่างแต่งหน้าที่มากประสบการณ์กว่า ๒๐ ปี กล่าวว่า ที่ผ่านมาหลังจากที่พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้นอนหลับ คนไทยทุกคนได้ตื่นขึ้นมารักและสามัคคี จะเห็นต่างคนต่างทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด โดยที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน สำหรับตนเองได้ทำจิตอาสาต่าง ๆ มากมาย อย่างที่ไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ครั้งนี้หนึ่งในจิตอาสาที่สำคัญคือ การได้แต่งหน้าให้กับการแสดงโขนหน้าไฟ หลังจากที่เคยได้แต่งหน้าโขนพระราชทานมาแล้วประมาณ 4 ครั้ง เมื่อได้รับแจ้งข่าวดีใจจนน้ำใจไหลที่จะได้ทำงานให้กับพ่อหลวงเป็นครั้งสุดท้าย จะขอทุ่มเทความรู้ความสามารถได้รับจากคณาจารย์เอ็มทีไอที่ประสิทธิ์ประสาทวิชา ทั้งด้วยวิชาการและประสบการณ์ของแต่ละท่าน
“ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และพระราชินี ทรงมีความห่วงใยในศิลปะและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมาก ทรงเป็นแบบอย่างในการเป็นผู้อนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยทุกแขนง โดยเฉพาะโขน ที่ถึงวันนี้ได้มีการปรับเปลี่ยน ประยุกต์ และดัดแปลง ให้เกิดความร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาทิ เครื่องแต่งกาย เนื้อหา แสง สี เสียง การแต่งหน้า เทคนิคทันสมัย ที่มีความสอดคล้องและลงตัวกัน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนได้เปิดใจเข้ามาสัมผัสกับโขน โดยเฉพาะการแสดงโขนหน้าไฟในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในหลวง รัชกาลที่ ๙ ในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๐”   


นัจ-ลัทธ์กมล จิราพัทธ์ ศิษย์เอ็มทีไอรุ่น ๒๙๔ และช่างแต่งหน้าอิสระ กล่าวว่า ได้รับโอกาสจาก อ.มนตรี กับ อ.พงศ์รัต คัดเลือกให้เข้ามาเป็นทีมงานแต่งหน้าโขนพระราชทาน ตั้งแต่ครั้งแรกในปี ๒๕๕๓ จนถึงครั้งล่าสุด ปี ๒๕๕๗ สำหรับการแต่งหน้าการแสดงโขนหน้าไฟในครั้งนี้นับว่าเป็นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะต้องจดจำไปจนวันตาย โดยน้อยคนนักที่จะได้รับโอกาสแบบชั่วชีวิตนี้ก็หาไม่ได้อีกแล้ว การแสดงโขนถือว่าเป็นศิลป์และศาสตร์ของแผ่นดินมีมาแต่โบราณ และเชื่อว่าจะเป็นมรดกของชาติไปตราบชั่วลูกชั่วหลาน กว่าจะมายืนอยู่ตรงจุดช่างแต่งหน้ามืออาชีพนั้น คณาจารย์จากเอ็มทีไอเคยกล่าวไว้ว่า จะต้องมีทั้งความรักและความชื่นชอบในงานศิลปะ อีกทั้งต้องมีความรู้รอบตัว เราจึงจะทำงานอย่างมีความสุข ทำด้วยความเข้าใจ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรคใด ๆ เราก็จะสามารถก้าวข้ามผ่านพ้นไปด้้วยดี  “ศิลปะการแต่งหน้านั้นมีความแตกต่างจากการศิลปะแขนงอื่น ๆ ตรงที่เรารังสรรค์งานศิลป์ลงบนสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ โดยเฉพาะการแต่งหน้าโขนแบบฉบับไทยเป็นการลงสีสันที่ต้องวางลายเส้นไว้อย่างลงตัว แม้ว่าโครงหน้าแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป แต่ก็มีการควบคุมให้ทุกหน้าออกมามีความกลมกลืนและลงตัวที่สุด อยากให้ทุกคนช่วยกันอนุรักษ์โขนไว้ให้เป็นมรดกแห่งแผ่นดินสืบต่อไป” 

ทริป-อรการ ศิลตระกูล  ศิษย์รุ่น ๓๓๘ และช่างแต่งหน้ามืออาชีพ กล่าวว่า เพิ่งได้รับโอกาสเข้ามาร่วมงานแต่งหน้าโขนพระราชทานจากทีมงานเอ็มทีไอไม่กี่ปี ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่มีความรู้สึกภาคภูมิภาคใจที่มีความส่วนร่วมในการอนุรักษ์การแสดงโขน ที่อาจกล่าวได้ว่าไม่เพียงแต่จะเป็นมรดกไทยเท่านั้น ยังกลายเป็นมรดกโลกอีกด้วย ถ้าไม่มีในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระราชินี โขนก็คงจะไม่เข้าถึงคนไทยทุกเพศทุกวัย และคงจะเงียบไปในที่สุด การแต่งหน้าโขนหน้าไฟในครั้งนี้นอกจากเป็นการแสดงความจงรักภักดีแล้วยังเป็นพิสูจน์ฝีมือของคนรุ่นใหม่ให้เป็นที่เป็นประจักษ์ว่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยสนองพระราชดำริล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ และจะขอตั้งมั่นทำต่อไป
“การแต่งหน้าโขนถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้สมาธิและความสามารถสูงมาก ต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีให้เพียงหน้าละ ๑ ชั่วโมงเศษ  รวมถึงแข่งกับตัวเองด้วย ต้องบอกว่าถึงวันนี้ตัวเองมาไกลเกินฝัน โดยเฉพาะการทำงานถวายในหลวงรัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระราชินี จะเป็นความทรงจำที่ไม่รู้ลืม ขอบคุณเอ็มทีไอที่ส่งต่อโอกาสแบบไม่มีที่สิ้นสุดจากรุ่นสู่รุ่น” 

 เหล่าอาจารย์กับ อนุรี อนิลบล กรรมการบริหาร MTI  



***********************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น