เหตุเกิดจากกรณี "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ทำให้บริษัทโอเอ ถูกจับกุมในข้อหา มีการกระทำเป็นอั้งยี่ มีความผิดตามกฏหมายฟอกเงิน ถูกอาญัติทรัพย์สิน ถูกคุมขังในเรือนจำกว่า 5 เดือน แต่แล้วสุดศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องแบบไร้มลทินให้ครอบครัวโรจน์รุ่งรังสี แต่ที่ต้องจับตากันต่อเมื่อทายาทกำลังเดินหน้า เพื่อพิสูจน์ความจริงให้สังคมและผู้บริหารสูงสุดของประเทศได้เห็นว่า ครอบครัวโรจน์รุ่งรังสี เองต่างหากที่เป็นผู้ถูกกระทำทั้งจากอำนาจมืดและกลุ่มคนผู้ถืออำนารัฐอยู่ในมือกลั่นแกล้งแจ้งข้อหาที่เลื่อนลอยไร้ซึ่งมูลเหตุข้อเท็จจริงจนนำไปสู่การแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับพนักงานสอบสวนเจ้าของคดี และอาจมีกลุ่มบุคคลที่ต้องการล้มธุรกิจเครือโอเอ.
หากยังจำได้เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมาที่สำนักงานท่องเที่ยวแห่งชาติของจีน ประจำประเทศไทย หรือ CNTA ตึกโอลิมเปียไทยทาวเวอร์ บิ๊กตำรวจท่องเที่ยวได้เข้าพบนางจาง ซิน หง ผอ. สำนักงานท่องเที่ยวแห่งชาติของจีนหรือ CNTA และ นางตู้ จิง เลขานุการ ผอ. สำนักงานท่องเที่ยวแห่งชาติของจีน หรือ CNTA เพื่อประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทย
ตามกระแสข่าวที่สร้างขี้นในวันนั้นคล้ายๆกับว่า นางจาง ซิน หง ผู้อำนวยการท่องเที่ยวจีน มีความต้องการขอความช่วยเหลือจาก ตำรวจท่องเที่ยวไทยเพราะจากการสำรวจของกระทรวงการท่องเที่ยวจีน พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ถึงวันที่ 20 กันยายน 2560 เมื่อนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวประเทศไทยและกลับไปยังประเทศของตน ได้ร้องเรียนที่ประเทศจีนทั้งหมด 2,671 คดี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.97 ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่เดินทางออกนอกประเทศ และมีการชดใช้แล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 5,064,500 หยวน หรือประมาณ 25 ล้านบาท จากร้านค้าในประเทศไทย
โดยคดีส่วนใหญ่จากมาจากมณฑลเจียงซู จำนวน 377 คดี ปักกิ่ง จำนวน 303 คดี และเซี่ยงไฮ้ 301 คดี ทันทีที่กระแสข่าวออกไป กระแสสังคมต่างเข้าใจกันไปในทิศทางเดียวกันคือ ทัวร์ศูนย์เหรียญยังเป็นผู้ร้ายที่ปราบปรามยังไงก็ไม่หมดยังกัดกินเศรษฐกิจประเทศ ต้องหวังพึ่งตำรวจกวาดล้างทัวร์ศูนย์เหรียญให้สูญพันธุ์ไปเลย แต่จริงๆแล้วเนื้อหาการประชุมในวันนั้น กลับไม่ได้เป็นไปตามความเข้าใจของสังคม
เรื่องดังกล่าวเปิดเผยขึ้นเมื่อ นางจาง ซิน หง ผอ.ท่องเที่ยวจีน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนจีน โดยนางกล่าวว่า การมาเยือนของ ตำรวจท่องเที่ยวไทยในวันนั้นทางตำรวจเป็นฝ่ายขอเข้าพบเพื่อหารือเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งตนก็ได้ให้ข้อมูลไปว่าเรื่องร้องเรียนที่พบมากที่สุดคือ 70% ของเรื่องที่ร้องเรียนมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) ที่ประสบปัญหาที่มีต่อโรงแรม ร้านอาหาร และแท็กซี่ ส่วนที่เหลืออีก 30 % ของเรื่องร้องเรียนนั้น มาจากนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกรุ๊ปทัวร์ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาที่มาจากเรื่องของราคาของการจ่ายโปรแกรมทัวร์ที่ขายเพิ่ม(ออปชั่น)การบังคับซื้อสินค้าและบริการตามร้านค้าชายหาดท้องถิ่นเช่น การเช่าเจ็ทสกี เป็นต้น ไม่มีการพูดถึงเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ ไม่เข้าใจว่าไปโยงเกี่ยวกับทัวร์ศูนย์เหรียญไม่มีนักท่องเที่ยวจีนร้องเรื่องเรียนเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแปลเจตนาไม่ตรงจะด้วยตั้งใจหรือมีใครกลุ่มใดมีเจตนาปั้นแต่งเรื่องจนนำไปสู่การสั่งปิดและแจ้งข้อหาอั้งยี่ให้โอเอ.ไม่ใช่พึ่งเคยเกิด เมื่อครั้งที่สำนักงานท่องเที่ยวจีน มาตั้งที่ประเทศไทยเมื่อต้นปี 2559 ทาง สำนักงานท่องเที่ยวจีนได้มีโอกาสเข้าไปแนะนำตัวและหารือนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ทางสำนักงานการท่องเที่ยวจีนประจำประเทศไทย ไม่เคยร้องขอให้ทางการไทยปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญหรือกลุ่มธุรกิจเครือบริษัทโอเอ.เลยแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งเรื่องนี้อาจมีใครหรือกลุ่มใครมีเจตนาแอบแฝงหยิบยกสร้างเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำลายล้างกันทางธุรกิจมากกว่า
นางจาง ซิง หง กล่าวด้วยว่า สำหรับหน่วยงาน CNTO หรือกระทรวงการท่องเที่ยวจีนประจําประเทศไทย มีที่ตั้ง ตึกโอลิมเปีย ทาวเวอร์ ชั้น 22 ซึ่ง CNTO เปรียบเสมือนเป็นหน่วยงานที่เป็นสาขาของ CNTA (กระทรวงการท่องเที่ยวจีน) ซึ่ง CNTO จะมีประจำอยู่ทั่วโลก เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวจีน ในแต่ละประเทศ ขณะนี้ทางการท่องเที่ยวจีนประจำประเทศไทยหรือ CNTA ได้ยกโมเดลของประเทศไทยที่บังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มธุรกิจที่ประกอบกิจการทัวร์ไม่ได้คุณภาพมาใช้ โดยบูรณาการร่วมกับกรมสรรพากร กรมศุลกากร กรมธุรกิจการค้าของจีนในการตรวจสอบคุณภาพของบริษัททัวร์ในจีนเช่นกัน
ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า วิกฤตอุตสากรรมท่องเที่ยวไทย เกิดจากวาทกรรมของตำรวจท่องเที่ยวที่กล่าวอ้างเรื่อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" "คนจีนครอบครองธุรกิจท่องเที่ยวไทย" และประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว ฯลฯ มีการกระทำที่เป็นอั้งยี่และมีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน ตำรวจท่องเที่ยวได้ขอให้ ปปง. อายัดทรัพย์สินของบริษัทโอเอกว่าหมื่นล้านบาท รถทัวร์กว่า 1,000 คัน ถูกอายัดไว้เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่กฎหมาย ปปง. ให้อำนาจเพียง 90 วันเท่านั้นแต่นี่เป็นปีแล้วยังไม่มีการพูดถึงหรือถอนอาญัติ
ดร.สังศิต ระบุด้วยว่า โชคดีที่ความยุติธรรมยังมีอยู่จริงในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องบริษัทโอเอ เพราะไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทโอเอมีพฤติกรรมเป็นอั้งยี่ หรือการฟอกเงินตามที่ตำรวจท่องเที่ยวกล่าวหาผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนายกสมาคมท่องเที่ยวและอดีตนายกสมาคมจิวเวลรี่ นักธุรกิจด้านท่องเที่ยวพวกเขามองว่า 1) นโยบายการตั้งกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวของรัฐบาลอาจจะก่อปัญหาให้กับธุรกิจท่องเที่ยวมากกว่าประโยชน์ เพราะต้นทุนด้านธุรกรรม (transaction cost) ในการทำธุรกิจที่ไม่มีใบเสร็จจะสูงขึ้น และพวกเขาอาจต้องผลักภาระไปให้นักท่องเที่ยวต่างชาติแทน 2) นักธุรกิจรู้สึกสับสนกับการทำธุรกิจในอนาคตว่าควรวางตัวอย่างไร? การเป็นอั้งยี่เป็นอย่างไร? การฟอกเงินหมายความว่าอะไร? พวกเขาเกรงว่าถึงแม้ว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลแล้ว แต่ถ้าหากตำรวจและ ปปง. สามารถอายัดทรัพย์สินของพวกเขาต่อไปได้ เขาจะเสี่ยงลงทุนทำธุรกิจต่อไปเพื่ออะไร?
3) พวกเขาเห็นว่ารัฐบาลควรทบทวนนโยบายด้านการท่องเที่ยวใหม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทโอเอคือบริษัทแรกสุดของคนไทยที่ไปดึงนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมหาศาล ถ้าคนดีถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ขนาดศาลตัดสินแล้ว ตำรวจและสื่อมวลชนต้องหยุดเรียกเขาว่าทัวร์ศูนย์เหรียญได้แล้ว ถ้าเป็นแบบนี้แล้วพวกเขาจะต้องทนทำธุรกิจบนความเสี่ยงที่ไม่อาจคาดการณ์ได้จากนโยบายของรัฐบาลและตำรวจท่องเที่ยวไปทำไม และ 4) นักธุรกิจท่องเที่ยวมองว่ารัฐบาลอยากได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลบางส่วนตระเวณเก็บส่วยจากนักธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ทั่วไป
**********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น