pearleus

วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

มหาดไทยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่...

มหาดไทยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เน้นย้ำต้องทำงานเชิงรุกเข้าถึงพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความรับรู้กับประชาชนให้เข้าใจถึงการทำงานของภาครัฐ เพื่อลดช่องว่างการสร้างความเข้าใจผิดหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร

     วันนี้ (29 เม.ย.60) ที่กระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทย ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการบริหารงานในระดับพื้นที่ (Area-based) โดยเฉพาะเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การร้องเรียนเรื่องทุจริต ตลอดจนปัญหาที่มีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อน  
     เพื่อให้การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการร้องเรียนเข้ามาที่ส่วนกลาง กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการกำชับให้ทุกจังหวัด เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารงานในระดับพื้นที่ (Area-based) ด้วยการบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน  ดังนี้
     1. เรื่องการบริหารงบประมาณในพื้นที่ เน้นย้ำต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาของพื้นที่ (Area-based) เป็นไปอย่างโปร่งใส ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน  โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการบริหารงบประมาณตาม "แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด" งบประมาณพัฒนาพื้นที่ภูมิภาค งบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และงบประมาณส่วนราชการ (function) โดยยึด "แผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด" และยุทธศาสตร์ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เป็นเป้าหมายในการดำเนินงาน 
     2. ด้านการดูแลพี่น้องประชาชน ได้กำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะผู้รับผิดชอบประจำพื้นที่ หมั่นตรวจเยี่ยมดูแลประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดเป็นประจำ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาจากประชาชนโดยตรง เพี่อให้พี่น้องประชาชนมีความอุ่นใจเมื่อได้ทราบว่าส่วนราชการหรือหน่วยงานรัฐให้ความเอาใจใส่ต่อสภาพปัญหา 
     และเพื่อเป็นการเตรียมการในเชิงป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอ ต้องวางแผน/คาดการณ์หรือประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ อาทิ ปัญหาสาธารณภัย และราคาผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลตกต่ำ เป็นต้น
     3. ให้ใช้กลไก "ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด" และ "ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ" เป็นหน่วยบูรณาการกับส่วนราชการทุกหน่วยในพื้นที่ โดยมอบหมายรองผู้ว่าราชการจังหวัดรับผิดชอบงานของศูนย์ดำรงธรรมโดยตรง เพื่ออำนวยการและติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ของศูนย์ดำรงธรรมอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 7 วัน 
     ในกรณีที่มีเรื่องร้องเรียนหรือเกิดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานรองรับในจังหวัดและอำเภอ หรือเกินอำนาจหน้าที่ภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่ ให้รวบรวมเรื่องดังกล่าวเสนอมายังกระทรวงมหาดไทย และกระทรวง หรือหน่วยอื่นๆ ในส่วนกลางที่มีอำนาจหน้าที่และภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาการร้องเรียนหรือความเดือดร้อนนั้น เป็นผู้พิจารณาดำเนินการแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ จังหวัดต้องทำหลักฐานแจ้งประชาชน ผู้ร้องเรียนทราบถึงผลการดำเนินการในระดับจังหวัดด้วยว่า ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหรือข้อร้องเรียนนั้นไปแล้วอย่างไรบ้าง
     นอกจากนี้ ให้จังหวัดสร้างการรับรู้ (Perception) ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐที่ได้แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ ทุกช่องทางอย่างกว้างขวาง เช่น การออกรายการวิทยุ โทรทัศน์ภูมิภาคหรือท้องถิ่น การแจ้งข่าวสารผ่านเสียงตามสายในหมู่บ้าน ชุมชน และสื่อสังคม - โซเชียลมีเดีย เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์เรื่องราวข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในพื้นที่ทราบ และป้องกันการบิดเบือน หรือขยายความข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง
     4. ด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำชับ ตรวจสอบ และติดตามการปฏิบัติงานตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหาทางป้องกันแก้ไขมิให้เกิดการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ปัญหาร้องเรียนเรื่องที่ดิน การออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินประเภทต่างๆ การบุกรุกที่สาธารณะ และการเรียกรับผลประโยชน์จากการอนุมัติ อนุญาต รวมทั้งการเรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบจากธุรกิจผิดกฎหมาย เป็นต้น
     ซึ่งในเรื่องดังกล่าว กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญและถือเป็นนโยบายเน้นหนักในการป้องกันและต่อต้านการทุจริต ภายใต้แนวคิด “มหาดไทยใสสะอาด” จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำชับ และตรวจสอบติดตามการปฏิบัติงานตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหาทางป้องกันแก้ไขมิให้เกิดการทุจริตหรือประพฤติมิชอบอย่างเด็ดขาด ด้วยการสร้างจิตสำนึกของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ให้ยึดมั่นในแนวทางการปฏิบัติงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และโปร่งใส โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมหรือมีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาครัฐด้วยการแต่งตั้งตัวแทนประชาชนในพื้นที่เป็นคณะกรรมการตรวจรับงานตามโครงการในพื้นที่ตำบล หมู่บ้าน รวมทั้งการจัดทำป้ายแสดงรายละเอียดของโครงการให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบ และประสานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจังหวัด (ป.ป.ช.จังหวัด) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค (สตง.ภูมิภาค) หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าติดตามการดำเนินงานโครงการในพื้นที่เป็นประจำด้วยฯ และย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานจะต้องแสดงภาวะผู้นำและวางตนอย่างมุ่งมั่น แข็งขันและชัดเจนในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่กระทำการที่อาจเป็นช่องทางให้ถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบได้
     สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการบริหารงานในระดับพื้นที่ เพื่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด และมุ่งมั่นปรับปรุงการบริหารงานของภาครัฐให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริงต่อไป

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น