pearleus

วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สค. เดินหน้าต่อยอดพัฒนาทักษะแกนนำเครือข่ายชมรมริบบิ้นขาวอย่างต่อเนื่อง มุ่งแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ให้ครอบคลุมระดับพื้นที่ทั่วประเทศ

         
เมื่อ  26 พ.ย. 59  เวลา 09.00 น. ณ บ้านฟ้าใสรีสอร์ท อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาทักษะแกนนำเครือข่ายชมรมริบบิ้นขาว (White Ribbon Club) พื้นที่ 15 จังหวัดภาคกลาง ประจำปีงบประมาณ 2560 เพื่อพัฒนาทักษะแกนนำและจำนวนเครือข่าย ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เครือข่ายชมรม ขยายผลการดำเนินงาน ส่งเสริมการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และการขับเคลื่อนตามนโยบายของกระทรวงฯ เพื่อให้การบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่สัมฤทธิ์ผล ซึ่งเป็นการต่อยอดโครงการที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ให้การสนับสนุนโรงเรียนจัดตั้งชมรม “ริบบิ้นขาว” เป็นต้นแบบในระดับท้องถิ่นหรือจังหวัด ส่งเสริมเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ในโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาเมื่อปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา
          นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาช้านานและเกิดขึ้นในทุกประเทศ ทุกชนชั้น ทุกมิติของสังคม ทั้งในระดับครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา       และสถานที่ทำงาน ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อน โดยจะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนมีความมุ่งมั่นและพยายามร่วมมือกันเพื่อดำเนินงานด้านการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง สค. เองได้ขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปีงบประมาณ 2559 ที่ผ่านมา ได้นำร่องดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายในสถาบันการศึกษา 15 จังหวัดภาคกลางแล้ว ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง สร้างระบบเครือข่ายยุติความรุนแรง และส่งเสริมกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวในระดับท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง แก่เยาวชนอายุตั้งแต่ 14 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป                ในสถาบันการศึกษา จำนวน 15 แห่ง (แห่งละ 100 คน) ในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคกลาง รวม 1,500 คน จนสามารถขยายจำนวนสมาชิกเครือข่ายชมรมริบบิ้นขาวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็น 12,000 คน ในช่วงระยะเวลา 2 เดือนเศษ ที่ได้ดำเนินการจัดตั้ง “ชมรมริบบิ้นขาว” ขึ้น เพื่อเป็นช่องทางให้เครือข่ายสมาชิกชมรมได้มีส่วนร่วมเป็นต้นแบบในระดับท้องถิ่นหรือจังหวัดของตนเอง รวมถึงส่งเสริมการสร้างภาคีเครือข่ายป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ตามแนวคิด “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่ทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว” ซึ่งถือเป็นการรวมพลังของชมรมริบบิ้นขาว ด้วยการสร้างเสริมพลัง (Empowerment) ให้เกิดการเรียนรู้ สร้างสรรค์ผลงาน และพัฒนาศักยภาพของตนเองและสถาบันร่วมกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการดำเนินงาน อีกทั้งยังเกิดระบบการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง สำหรับเป็นกลไกในการป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2560 ได้ดำเนินการต่อยอดโครงการจากปีงบประมาณ 2559 อย่างต่อเนื่อง ในการจัดกิจกรรมรวมพลังชมรมริบบิ้นขาวภายใต้โครงการ พัฒนาทักษะแกนนำเครือข่ายชมรมริบบิ้นขาว (White Ribbon Club) ขึ้น เพื่อให้แกนนำเครือข่ายชมรมริบบิ้นขาวในพื้นที่ 15 จังหวัดภาคกลางดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมกันถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อนำผลที่ได้รับไปใช้ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานต่อไป ให้เป็นต้นแบบในการนำไปสู่การจัดตั้งชมรมริบบิ้นขาวให้ครอบคลุมระดับพื้นที่ทั่วประเทศ โดยผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับพื้นที่ในสังกัด สค. เพื่อจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนด้วยความพร้อมเพรียงและบรรลุเป้าหมายการดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน
          ซึ่งในปีนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดแนวคิดในการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “ก้าวกล้า...พ้นความรุนแรง” โดยนำข้อความรณรงค์ของโครงการรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง (UNiTE) ประจำปี 2559 คือ The brave are not violent กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของสังคมไทย แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะก้าวเดินด้วยความกล้าหาญ โดยกล้าทำในสิ่งดีงาม เข้าใจคนในครอบครัว ปรับเปลี่ยนตนเอง อันจะนำไปสู่การหลุดพ้นออกจากความรุนแรง ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว โดยมีรายละเอียดของความกล้าหาญ 9 ประการ ได้แก่ 1) กล้า...จะไม่นิ่งเฉย 2) กล้า...ยอมรับความแตกต่าง 3) กล้า...เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน 4) กล้า...พูดคุยด้วยเหตุผล 5) กล้า...ยกย่องชมเชยและไม่ทำร้ายด้วยคำพูด 6) กล้า...จะไม่ใช้กำลังบังคับ 7) กล้า...ปฏิเสธและก้าวออกจากความรุนแรง 8) กล้า...แลกเปลี่ยนบทบาทในบ้าน 9) กล้า...จะชนะไปด้วยกัน
          กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการในวันนี้ ได้แก่ คณะกรรมการชมรมริบบิ้นขาว เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พมจ.) และเจ้าหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว รวมจำนวน ๒๐๐ คน โดยรูปแบบการจัดกิจกรรมประกอบด้วย กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ การจัดแสดงผลงาน การถอดบทเรียนการดำเนินงาน และการพัฒนาองค์ความรู้และทักษะ ทั้งนี้ นายเลิศปัญญา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการแสดงผลงานของชมรมริบบิ้นขาวโรงเรียนต่างๆ และได้ร่วมแปลอักษรเป็นเลข ๙ กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และโบกธงสัญลักษณ์รณรงค์ยุติความรุนแรง



















--------------------------------

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น