pearleus

วันศุกร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

สุราษฎร์ฯ จัดมหกรรมการเรียนรู้สู่อาชีพ เตรียมเปิด “ตลาดนัดสัมมาชีพ” เดินหน้าจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ

               

คณะทำง านสมัชชการศึกษาสุราษฎร์ฯ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) จัด “มหกรรมการเรียนรู้สู่อาชีพจังหวัดสุราษฎร์ธานี” นำเสนอผลงานและนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านต่างๆ พร้อมเปิดเวทีเสวนา “การจัดเรียนรู้สู่อาชีพสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี” เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาของจังหวัดและเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งเป้าจัด “ตลาดนัดสัมมาชีพ” เปิดมุมมองใหม่การศึกษาและเปิดโลกของอาชีพให้กับเยาวชนต้นปี 60
 นายทนงศักดิ์ ทวีทอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฏร์ธานี กล่าวว่าการจัดการศึกษาที่ผ่านมานั้นได้สร้างให้เกิดคนเก่งจำนวนมาก เก่งเพราะแย่งกันเรียนและวัดกันที่ผลคะแนนสอบ แต่กลับไม่สามารถที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปทำงานได้ กลายเป็นความรู้ท่วมหัวแต่เอาตัวไม่รอด
  “วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่จะได้เดินหน้าไปพร้อมกันในเรื่องของการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณสมบัติ ซื่อสัตย์ขยันประหยัดและมีวินัย และมีทักษะวิชาชีพและความรู้ในการประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ประกอบการ ให้ตอบโจทย์การพัฒนาจังหวัด ซึ่งการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำนั้นไม่ได้เป็นแค่เป้าหมายของจังหวัดสุราษฎร์ธานีเท่านั้น แต่ยังเป็นเป้าหมายของการศึกษาทั้งประเทศด้วยเช่นกัน”
 ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวในระหว่างการบรรยายพิเศษในหัวข้อการศึกษาความต้องการของตลาดแรงงานเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่ออาชีพ โดยนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาตลาดแรงงานในจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และตราด ที่ทำร่วมกับ สสค. ที่พบว่าแนวโน้มของผู้ที่จบอาชีวะศึกษาในวุฒิ ปวช. ปวส. ทั้ง 3 จังหวัดนั้นมีรายได้ที่สูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่จบอาชีวะนั้นสามารถเป็นเจ้าคนนายคนได้โดยมีตำแหน่งทางราชการสูงเทียบเท่าผู้ที่จบปริญญาตรี และยังมีโอกาสเป็นเจ้าของธุรกิจหรือเจ้าของกิจการของตนเองที่มากกว่า
 “วันนี้โลกเปลี่ยนไปแล้วเราต้องการกำลังคนที่แตกต่างไปจากเดิม ปริญญาตรีเรียนได้เมื่อพร้อมและรู้ว่าเราอยากจะเรียนรู้ในเรื่องอะไร ซึ่งธุรกิจสมัยใหม่ในปัจจุบันไม่ได้สนใจเรื่องของวุฒิการศึกษาแต่สนใจทักษะที่จำเป็นและสอดคล้องกับธุรกิจนั้นๆ มากกว่า ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำนับจากนี้ก็คือการเปลี่ยนทัศนคติของเด็กและผู้ปกครองในเรื่องของการเรียนสูงแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคนว่าไม่จำเป็น และการทำงานในส่วนของครูและโรงเรียนว่าจะทำอย่างไรให้ลูกหลานของคนสุราษฎร์ฯ ที่เข้าโรงเรียนในวันนี้เมื่อจบออกมาแล้วจะต้องเก่งกว่าเดิม 2 เท่า เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจนับจากนี้จะไม่ได้เติบโตเพราะการทำงานหนักเหมือนคนรุ่นก่อนที่ผ่านมา แต่เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นได้เพราะคนที่มีศักยภาพ”
 ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล ผู้ทรงคุณวุฒิ สสค. ผู้จัดทำโครงการการเตรียมความพร้อมของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นสู่โลกของการทำงานร่วมกับ สสค. ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต และตราด กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านทักษะอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนของจังหวัดสุราษฏร์ธานีว่า ทุกวันนี้เราเรียนไปโดยไม่มีเป้าหมายชีวิต เรียนไปโดยไม่รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดก็คือต้องใช้เวลาในชั้นเรียนมาบูรณาการกับเรื่องการเรียนรู้อาชีพ เอาชีวิตจริงๆ มาให้เด็กเรียนรู้
 “วันนี้คุณครูทุกท่านจะต้องพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ โดยครูจะต้องเป็นผู้มองหาว่าในเด็กแต่ละคนนั้นมีพัฒนาการอะไรที่เขาขาดหาย แล้วจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้เข้าไปเสริมในด้านต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ แล้วก็ต้องมองเห็นว่าเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของเรานั้นต้องการๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อก้าวออกไปสู่โลกของการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองในวันนี้ลูกหลานเราก็จะก้าวไม่ทันโลกในวันหน้า”
 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระบว่า ในช่วงต้นปี 2560 ทางสมัชชาการศึกษาจังหวัดสุราษฎร์ธานี จะร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัด จัดงานตลาดนัดสัมมาชีพขึ้น เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในด้านการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพ เปลี่ยนทัศนคติในการเรียนรู้ของผู้ปกครองและเยาวชน รวมถึงข้อมูลตลาดแรงงานให้กับเยาวชน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกหลานของคนสุราษฏร์ธานีทุกคน เพื่อตอบโจทย์การจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ

นายทนงศักดิ์ ทวีทอง

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว

ศ.ดร.สุมาลี ตั้งประดับกุล
เวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ด้านอาชีพ








0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น