นายเลิศปัญญา กล่าวภายหลังการประชุมว่า ตามที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ผลักดันให้มีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขึ้น ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) โดยมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวปฏิบัติในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคม ขจัดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2558 เป็นต้นมานั้น สทพ. ได้มีการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน พ.ร.บ. ดังกล่าวอย่างเป็นระยะ ๆ มาโดยตลอด
อธิบดีกรมฯสค.ระบุด้วยว่า การประชุมในวันนี้ ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ สทพ. ประชุมติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) และคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ทั้ง 5 คณะ ซึ่งประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการด้านนโยบาย มาตรการ และแผนปฏิบัติการ 2) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย 3) คณะอนุกรรมการด้านการช่วยเหลือ ชดเชยและเยียวยา หรือบรรเทาทุกข์ 4) คณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมการศึกษาและวิจัย 5) คณะอนุกรรมการด้านการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้ วันนี้ยังได้ประชุมเพื่อพิจารณาแนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อจะได้นำมาผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศในสังคมไทยต่อไปอีกด้วย
“แนวปฏิบัติด้านการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ที่ได้ผ่านความเห็นชอบของ สทพ. ในวันนี้ มี 6 ข้อ ได้แก่ 1) การแต่งกาย 2) การจัดพื้นที่ที่เหมาะสม 3) การประกาศรับสมัครงานและการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครงาน 4) การใช้ถ้อยคำ ภาษา และกิริยาท่าทาง 5) การสรรหาคณะกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในหน่วยงาน และ 6) การป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน” นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย
********************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น