pearleus

วันเสาร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2560

แอมเนสตี้เรียกร้องเมียนมาหยุดปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อชาวโรฮิงญา

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลระบุว่าการที่ทางการเมียนมาปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศเข้าสู่รัฐยะไข่กำลังทำให้ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงภัย เรียกร้องเมียนมาอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่างๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่และปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ยากผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือเปิดเผยว่าสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกองทัพได้มีปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ นับแต่การโจมตีหน่วยปฏิบัติการความมั่นคงหลายสิบแห่งเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นการโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธกองทัพปลดแอกชาวโรฮิงญาแห่งรัฐอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army)

ทีรานา ฮัสซัน (Tirana Hassan) ผู้อำนวยการแผนกรับมือภาวะวิกฤต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า สภาพด้านมนุษยธรรมในรัฐยะไข่เป็นอยู่อย่างหายนะ ไม่ควรมีเหตุผลมาอ้างเพื่อการปฏิเสธไม่ให้ประชาชนที่กำลังเดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิตพวกเขาได้ การที่ทางการเมียนมาปิดกั้นการเข้าถึงของหน่วยงานด้านมนุษยธรรม ส่งผลให้ชีวิตประชาชนหลายหมื่นคนเสี่ยงภัย และแสดงถึงความเพิกเฉยอย่างร้ายแรงต่อชีวิตมนุษย์

“การปิดกั้นเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งหมดในรัฐยะไข่ รัฐบาลต้องเปลี่ยนแผนการโดยทันที และอนุญาตให้หน่วยงานด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของรัฐได้อย่างเต็มที่และปราศจากการแทรกแซง ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ยาก”

รัฐบาลยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงด้วยการกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้ความสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญา หลังกล่าวหาว่า ได้พบเสบียงอาหารที่มีฉลากขององค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศติดอยู่ ในค่ายของกลุ่มติดอาวุธเหล่านี้ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่

“ข้อกล่าวหาต่อองค์กรมนุษยธรรมระหว่างประเทศว่าเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในรัฐยะไข่ เป็นข้อกล่าวหาที่ทั้งเกินจริงและขาดความรับผิดชอบ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวเมียนมา โดยให้ทั้งความช่วยเหลือและความสนับสนุนในสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเป็นภารกิจที่รัฐบาลมักไม่สามารถกระทำได้ ทางการเมียนมาต้องหยุดเผยแพร่ข้อมูลผิด ๆ เช่นนี้ และหยุดการเผยแพร่ข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริงและเป็นการยั่วยุโดยทันที” ทีรานา กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้มีประชาชนหลายหมื่นคนถูกบังคับให้อพยพหลบหนีออกจากบ้านเรือนของตนนับตั้งแต่ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้น ตามข้อมูลล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ คาดว่ามีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 90,000 คน หลบหนีข้ามพรมแดนไปยังบังคลาเทศ ในขณะที่รัฐบาลเมียนมาได้อพยพประชาชนกว่า 11,000 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยอีกกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ประชาชนหลายพันคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา เชื่อว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามป่าเขาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ โดยหน่วยงานสหประชาชาติและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศไม่สามารถประเมินความต้องการด้านที่อยู่อาศัย อาหาร และความคุ้มครองของพวกเขาได้


******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น