ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย 60 เวลา 09.00 น. นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานมอบวุฒิบัตรแก่ผู้สำเร็จการฝึกอบรมอาชีพ รุ่นที่ 55 ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่น กล่าวรายงาน โดย นายบรรณรัตน์ เก่งกสิกิจ ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีฯ ซึ่งมีผู้สำเร็จการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เข้ารับวุฒิบัตร จำนวน 236 คน ในการนี้ ได้ทำพิธีเปิดป้ายศูนย์ฯ อย่างเป็นทางการ และเยี่ยมชมบูธแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพที่ได้รับการฝึกอบรมจากศูนย์ฯ พร้อมทั้งมอบรางวัลรัตนาภาเกมส์ครั้งที่ 1 การแข่งขันกีฬาเปตองด้วย
นายเลิศปัญญา กล่าวว่า กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานการสร้างความเข้มแข็งของสตรีและครอบครัว เป็นภารกิจที่ พม. ให้ความสำคัญมาก เพราะนอกจากสตรีจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว สตรียังเป็นกลุ่มพลังที่ช่วยในการขับเคลื่อนสังคมในหลายมิติ และในปัจจุบันสตรีไทยเข้ามามีบทบาทด้านเศรษฐกิจมากขึ้น ทั้งในระดับชุมชน ระดับประเทศ หรือแม้แต่ในระดับนานาชาติ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวทั้ง 8 แห่ง ทั่วประเทศ เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการป้องกันความเสี่ยงแก่เด็ก และสตรี หรือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตลอดจนใช้พัฒนาศักยภาพสตรีในระดับพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้สตรีไทยมีโอกาสที่จะได้ใช้ศักยภาพของตนเอง ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการดูแลสวัสดิการด้านต่าง ๆ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และได้รับการฝึกอาชีพตามความสนใจ หรือตามความถนัด และเมื่อจบหลักสูตรการฝึกอบรมแล้ว ยังดูแลเรื่องการหางานทำเพื่อหารายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจำนวนมาก สามารถสร้างธุรกิจเป็นของตนเองรวมถึงประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และบุคคลเหล่านี้ก็กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้อง ๆ ผู้รับการฝึกอบรมรุ่นหลัง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
นายเลิศปัญญา กล่าวต่ออีกว่า ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา จังหวัดขอนแก่นแห่งนี้ เป็นสถานที่ฝึกอบรมวิชาชีพแก่สตรีและครอบครัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๑๐ จังหวัดตอนบน(อีสาน) มีการดำเนินการฝึกอบรมอาชีพภายในศูนย์ฯ รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 55 ซึ่งได้ดำเนินการฝึกภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่พร้อมทั้งได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถและศิษย์เก่ามาถ่ายทอดความรู้เรื่องใหม่ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นแต่งหน้า ทรงผม สักคิ้วถาวร การฝึกอบรมพิเศษ เช่น คุณธรรม จริยธรรม มารยาทไทย การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การส่งเสริมเรื่องจิตอาสา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ออกบำเพ็ญประโยชน์ตาม บ้าน วัด โรงเรียน และร่วมกับจังหวัดเคลื่อนที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอสว. หน่วยอำเภอยิ้ม เพื่อบริการประชาชนเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และทักษะให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย โดยในส่วนของการจัดหางานได้เชิญสถานประกอบการทั้งในจังหวัดขอนแก่น นอกจังหวัดขอนแก่น มาสัมภาษณ์งาน รับสมัครงาน จนทำให้ผู้สำเร็จการฝึกอบรมอาชีพได้งานทำ คิดเป็นร้อยละ 90 ส่วนที่เหลือไปประกอบอาชีพอิสระที่ภูมิลำเนาตนเองและศึกษาต่อโดยการบูรณาการจากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่าง ๆ ได้แก่ หน่วยงานในสังกัด พม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 4 จังหวัดขอนแก่น สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดขอนแก่น สำหรับการดำเนินการฝึกอบรมภายนอกในชุมชนให้แก่สตรีและครอบครัวในพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ 1) โครงการสร้างชีวิตใหม่ให้สตรีและครอบครัว จำนวน 27 รุ่นๆ ละ 30 คน รวม 810 คน 2) โครงการสนับสนุนกลุ่มประกอบอาชีพ 110 วัน 13 กลุ่ม จำนวน 150 คน 3) โครงการเสริมสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจแก่สตรี จำนวน 1 รุ่น 50 คน 4) โครงการ “เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเพิ่มทางเลือก สร้างรายได้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และการถูกล่อลวง” (ฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น 10 วัน) จำนวน 25 รุ่นๆละ 20 คน รวม 500 คน และ 5) โครงการ “ส่งเสริมอาชีพสตรีในชุมชนเพื่ออนาคตอันสดใสและยั่งยืน” (ฝึกอาชีพระยะสั้น 5 วัน) จำนวน 15 รุ่นๆละ 25 คน รวม 375 คน
"ผมขอให้ทุกท่านนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอาชีพไปประกอบอาชีพด้วยความตั้งใจ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ควบคู่คุณธรรม จริยธรรม ตลอดทั้งยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม เศรษฐกิจ อีกทั้งสื่อ social media เข้ามามีบทบาทในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก ตลอดจนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะต้องปรับตัว ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และอยากจะฝากแนะนำว่าเมื่อมีรายได้แล้ว ต้องรู้จักวิธีการใช้เงินให้ถูกต้อง ควรจะเก็บออมไว้ส่วนหนึ่ง เมื่อเวลาที่ทุกข์จะได้นำมาใช้ และต้องคิดหาความรู้เพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลาเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะในการทำงาน เช่น ทรงผมแบบต่าง ๆ การเพ้นท์เล็บ และภาษาอังกฤษ เพราะจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ เมื่อออกไปจากศูนย์ฯนี้แล้ว ทุกท่านยังคงสามารถกลับมาเยี่ยมเยียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับรุ่นน้องๆต่อไปเพื่อเป็นอานิสงฆ์ต่อตัวเองด้วย หรือหากประสบหรือพบเห็นปัญหาสังคมสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน1300 ตลอด 24 ชั่วโมงเลยนะครับ" นายเลิศปัญญากล่าวในตอนท้าย
*******************
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น