pearleus

วันอาทิตย์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2560

มท.1 มอบนโยบาย

รมว.มท. เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

     24 ก.ย.60  เวลา 10:00น. ณ ห้องปรินซ์บอลรูม 3 โรงแรมปรินซ์พาเลส กรุงเทพมหานคร พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมี นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย อธิบดี ผู้ว่าการรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังรวมจำนวน 170 คน
     ในวาระแรก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวขอบคุณข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ช่วยกันปฏิบัติราชการในปีที่ผ่านมาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สร้างประโยชน์สุขให้กับพี่น้องประชาชน ตามปณิธาน บำบัดทุกข์ บำรุงสุขและแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดใหม่ที่จะได้สานงานต่อและขับเคลื่อนงานใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
     จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องขับเคลื่อนงานตามแผนที่นำทาง (Roadmap) ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ซึ่งแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จะต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้บัญชาการพื้นที่แทนรัฐบาล (Area Manager) จะต้องบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ให้ครบถ้วน เน้นการทำงานเชิงรุก เข้าถึงปัญหา รอบรู้ รับผิดชอบภารกิจทั้งในเชิง Agenda Function และ Area Based เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจทั้งท้องที่ ท้องถิ่น และมวลชนในพื้นที่ โดยต้องมีการดำเนินการตรวจติดตามเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ (Achievement Monitoring System) อย่างต่อเนื่อง
     ในส่วนประเด็นเน้นย้ำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล (Agenda) ดังนี้
ด้านการปกป้องและเชิดชูสถาบันหลักของชาติ
     1. การเตรียมการจัดงานพิธีถวายดอกไม้จันทน์ในส่วนภูมิภาค โดยเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดดำเนินการอย่างสมพระเกียรติ เป็นไปตามราชประเพณี 
     ในเรื่องโครงการจิตอาสาเฉพาะกิจงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ให้ดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และสร้างความสามัคคีของคนในชาติเพื่อน้อมถวายรัชกาลที่ 9 รวมทั้งโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ โดยเน้นย้ำให้จังหวัดที่เป็นพื้นที่เป้าหมายดำเนินการตามห้วงเวลาที่กำหนด และสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ให้เตรียมพร้อมดำเนินการในช่วงเวลาถัดไป ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยจะได้แจ้งแนวทางให้ทราบต่อไป
     ในเรื่องการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่การปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต (Way of Life) ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเข้าใจกรอบแนวคิดหลักของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงว่าสามารถนำไปแก้ไขปัญหาได้ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและสิ่งแวดล้อม ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการน้อมนำมาปฏิบัติทั้งการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงาน โดยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิด (Mind Set) ด้วยการใช้กลไกครู ก. ระดับอำเภอและตำบล ไปสอน ไปขยายผลตั้งแต่ในระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและนำไปใช้ให้ได้
     2. การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ด้วยการเสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ ต้องสร้างการรับรู้ การยอมรับ สัญญาประชาคมความเห็นร่วมฯ ภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
     3. การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดต้องถือเป็นวาระสำคัญของจังหวัด และต้องดำเนินการในทุกมิติทั้งการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา บูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ภายใต้กลไก ประชารัฐโดยมุ่งเน้นการลด Demand side และSupply side โดยมุ่งขยายหมู่บ้าน/ชุมชนไม่มีปัญหายาเสพติดให้เพิ่มขึ้น และลดหมู่บ้าน/ชุมชนที่มีปัญหาให้น้อยลง
     4. การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ และการทำประมงผิดกฎหมาย ต้องถือเป็นวาระสำคัญของจังหวัด และกำชับการปฏิบัติผ่านเวทีต่าง ๆ ในจังหวัด ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมควบคุมดูแลสถานบริการ สถานประกอบการต่าง ๆ ไม่ให้เกิดการลักลอบค้ามนุษย์ หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
     5. การแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) โดยน้อมนำยุทธศาสตร์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาเป็นแนวทางดำเนินงาน โดยนายอำเภอซึ่งเป็นผู้นำขับเคลื่อนในพื้นที่ต้องเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลพื้นที่ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย
     6. การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ต้องวางระบบติดตามและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทุกเรื่องที่มีขั้นตอนการดำเนินงานจะต้องแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนผู้รับบริการทราบ
     7. การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนภายใต้นโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดให้ความสำคัญในเรื่องการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน โดยจะต้องเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในทุกขั้นตอนตามกฎหมาย
     8. การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร (พืชผลทางการเกษตร) โดยกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่เกษตรกร และต้องพัฒนาใช้กลไกหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในจังหวัดดำเนินการพัฒนาต่อยอดเกษตรกรในพื้นที่เป็น Smart Farmer ต่อยอดสนองนโยบายประเทศไทย 4.0
     9. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาล ด้วยการสนับสนุนสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ เน้นการบูรณาการของทุกภาคส่วนในการสร้างอาชีพชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์  จะต้องสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการนำระบบ E-Commerce และระบบอื่น ๆ มาใช้ขยายตลาดให้มากขึ้น
     10. การสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำหน้าที่เป็น Coordinator/Area Manager ขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานการใช้ประโยชน์ที่ดินและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนนำเสนอความต้องการเชิงพื้นที่
     11. การบริหารจัดการขยะมูลฝอย ต้องกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการจัดการขยะอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทาง (แหล่งกำเนิด) กลางทาง (ระบบการเก็บและขนส่ง) และปลายทาง (ระบบกำจัด) และดูแลความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่สาธารณะโดยขยายผลจากระดับจังหวัดไปสู่อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน "พื้นที่สาธารณะของทุกจังหวัดต้องสะอาด" รวมถึงเร่งสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2560
     12. การแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ด้วยการศึกษาแนวทางการดำเนินงานในการจัดการน้ำเสีย และต้องรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบำบัดน้ำเสียให้แก่ผู้ประกอบการในร้านอาหาร/ตลาด ชมชน และประชาชน ให้ตระหนักและมีจิตสำนึกร่วมรับผิดชอบในการบำบัดน้ำเสีย ณ แหล่งกำเนิดต้นทางให้มีคุณภาพดีก่อนจะระบายลงสู่แหล่งน้ำทั่วไป
     13. การบูรณาการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจและกำจัดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งให้ประสานบูรณาการการดำเนินการกับกรุงเทพมหานครด้วย
     14. การปรับปรุงผังประเทศ ผังภาค ผังเมืองรวมจังหวัด ผังพื้นที่เฉพาะ และผังชุมชน จะต้องดำเนินการตามกรอบแนวทางการพัฒนาผังเมือง เพื่อนำไปสู่เมืองอัจฉริยะ คือ เมืองที่ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี
     15. การเตรียมความพร้อมในการจัดการสาธารณภัยในพื้นที่ ด้วยการเตรียมความพร้อมซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เพื้อก้าวสู่การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 4.0
     16. การแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ ต้องเร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่สาธารณประโยชน์ของจังหวัด จัดทำขอบเขตของที่สาธารณประโยชน์ให้ชัดเจนเพื่อป้องกันการบุกรุกตามระเบียบกฎหมาย
     17. การพัฒนาระบบบริการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้ทุกหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการให้บริการประชาชนต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน โดยนำอุปกรณ์เครื่องมือที่มีอยู่มาใช้พัฒนาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมทั้งการเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูล (Linkage Center) กับทุกหน่วยงาน
     18. การจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะ ต้องจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าและริมชายหาด จะต้องศึกษารูปแบบการพัฒนาพื้นที่จำหน่ายอาหารบนทางเท้า ไปสู่ Street Food โดยบนทางเท้าต้องมีที่เดินของประชาชน
     19. การทำ MOU บ้านพี่เมืองน้องกับประเทศเพื่อนบ้าน  จะต้องประมวล MOU ที่ผ่านมา และจะมีแผนเดินต่อไปอย่างไร
     20. การพัฒนาบุคลากรพื้นที่แนวชายแดน ขอให้นำเสนอแนวทางการพัฒนาเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนาต่อไป
     สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เน้นย้ำว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินตามโครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินในทุกด้าน และร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจด้วยความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเกิดความผาสุกแก่ประชาชน









0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น