เมื่อ 4 เม.ย. 59 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา
ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 เรื่อง
การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค และคำสั่งที่ 11/2559 เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค สั่ง ณ วันที่ 21 มีนาคม 2559 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด
รองผู้ว่าราชการจังหวัด คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง 76 จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนภูมิภาค
เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (video conference)
สำหรับการประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษา
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางการศึกษาแก่ประชาชน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษาของประเทศ
โดยได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 10/2559 และคำสั่งที่ 11/2559 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว
และได้กำหนดให้มี “คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค” โดยมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
และในแต่ละจังหวัดให้มี “คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด” เรียกโดยย่อว่า “กศจ.” โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
ดังนั้น เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา
ให้แก่ส่วนราชการ หน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
กระทรวงมหาดไทย จึงได้ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ จัดการประชุมในวันนี้ขึ้น
โดยวาระแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงที่มาของการปฏิรูปการศึกษา
ซึ่งเป็นเรื่อง ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา
และการบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาคให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเอกภาพ
สามารถประสานเชื่อมโยงและบูรณาการภารกิจในเรื่องการศึกษาของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย เพื่อช่วยสนับสนุนการ “บริหารการศึกษา” และ “การบริหารงานบุคคล” โดยมี
"กศจ." ทำหน้าที่บูรณาการการปฏิบัติงานทั้งหมดในพื้นที่ ดังนั้น
จึงขอเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการตามกรอบการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการที่ได้กำหนดไว้
อย่างเคร่งครัด
ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายสำคัญ
ดังนี้ 1. เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้มาตรา 44 เนื่องจากปัญหาด้านการบริหาร การขาดคุณภาพการศึกษาโอกาสการศึกษา
การผลิตและพัฒนานักเรียน
ให้ตรงตามความต้องการของท้องถิ่นเพื่อการมีงานทำ 2. ได้ชี้แจงถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธาน
กศจ. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดการศึกษา
(โอนหน้าที่ของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเดิม) กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทางการศึกษา
รวมถึงให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัด และกำกับ เร่งรัด
ติดตามวางแผนจัดการศึกษา การบริหารงานบุคคล และอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด 3. และภารกิจเร่งด่วนที่จะต้องมีการสรรหากรรมการ กศจ. (7 ตำแหน่ง) ซึ่งเป็นผู้แทนภาคประชาชนในท้องถิ่น ข้าราชการครูในท้องถิ่น
และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด
โดยเฉพาะด้านการบริหารงานบุคคลที่จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 4. การจัดทำแผนยุทธศาสตร์การศึกษาระดับจังหวัด
การประกาศรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเด็กเข้าเรียนในสถานศึกษา
และการจัดสรรโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียน และ 5. การสร้างความเข้าใจและสร้างขวัญกำลังใจให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา
จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำอีกครั้งในเรื่องการปฏิบัติงานในหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดด้านการจัดการศึกษา
โดยเน้นการบูรณาการการทำงานในพื้นที่และการกำกับติดตาม โดยอาศัยอำนาจ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 มาตรา 57 และบทบาทการประสานเชื่อมโยงองค์กรทุกภาคส่วนแบบบูรณาการ
ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด จะต้องเป็นจุดเชื่อมโยงการบริหารราชการแผ่นดินทุกระดับให้เป็นไปตามแนวทางปฏิรูปการศึกษาและกรอบยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ
และยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่ต้องการเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพคน
สุดท้าย ปลัดกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมสรุปแนวทางการปฏิรูปการศึกษาตามคำสั่ง
คสช. และมอบแนวทางการทำงาน
โดยเน้นย้ำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนยึดถือปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
โดยขอให้ร่วมกันขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าวและมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด
เพื่อพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพมาตรฐาน
อันจะส่งผลต่อการพัฒนาคนไทย
โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนของชาติให้มีความพร้อมทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้
และคุณธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น