เมื่อ 4 เม.ย.59 เวลา 13.30 น.
ณ ห้องประชุม 1 อาคารศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย
กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์
จัดการประชุมมอบนโยบายการดำเนินงานตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร
ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (video conference) โดยมี พลเอก
อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นางอภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมในการประชุมฯ
เพื่อมอบนโยบายและชี้แจงแนวทางการปฏิบัติตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร
ให้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด (ยกเว้นภูเก็ต)
ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการผลิตและการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด
คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการผลิตและการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด
ซึ่งประกอบด้วย ปลัดจังหวัด พาณิชย์จังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด
ธ.ก.ส. จังหวัด
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด
นายอำเภอ
ตัวแทนผู้ประกอบการส่งออก โรงสี ชาวนา เกษตรอำเภอ
และเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน
สำหรับที่มาของการประชุมในวันนี้ สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว
(นบข.) ได้เห็นชอบแผนการผลิต และการตลาดข้าวครบวงจร
โดยกำหนดเป้าหมายควบคุมปริมาณการเพาะปลูกในปี
2559/60 จากเดิม
29 ล้านตัน ให้อยู่ที่ 27 ล้านตันข้าวเปลือก
และใช้พื้นที่เพาะปลูก จากเดิม 65 ล้านไร่ ให้เหลือ 61
ล้านไร่ โดยได้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร”
มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และ “คณะทำงานกำกับติดตามแผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร”
มีผู้ตรวจราชการกระทรวงทั้ง 3 กระทรวง
เป็นหัวหน้าคณะทำงาน รวมทั้งหมด 28 คณะ เพื่อเป็นกลไกในการติดตามกำกับดูแลและแก้ไขปัญหาการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่เป็นรายพื้นที่
(จังหวัด)
ซึ่งจะเป็นประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดอย่างใกล้ชิดในฐานะประธาน
คณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด โดยทั้ง 3 หน่วยงานได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การวางแผน
การปฏิบัติ และการตรวจติดตาม
ในวาระแรก พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้ชี้แจงถึงที่มาและกรอบการทำงาน เรื่องการบริหารจัดการข้าวอย่างครบวงจร
ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)
ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบ “แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร”
เพื่อแก้ไขปัญหาข้าวในเรื่องการตลาด ผลผลิตที่ล้นตลาด
โดยได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้ราคาข้าวไม่ตกต่ำ โดยวางแผนการผลิตข้าวปีการผลิต 2559/2560
ให้ครบวงจร สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปรับโครงสร้างการผลิตให้เหมาะสมกับพื้นที่
และสร้างความเป็นธรรมให้กับเกษตรกรทุกราย ดังนั้น
จึงต้องสร้างความเข้าใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
และจะต้องเร่งดำเนินการตามแผนที่กำหนดเนื่องจากขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกข้าวแล้ว
จากนั้น นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว ว่า
นบข. ได้เห็นชอบแนวทาง “การตลาดนำการผลิต” เน้นการควบคุมปริมาณผลผลิตข้าว ดังนั้น
จึงต้องเตรียมความพร้อมในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก
ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวคุณภาพดี
มีมูลค่าสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และบูรณาการทุกภาคส่วน
รวมทั้งนำนวัตกรรมมาแปรรูปผลผลิต เป็นสินค้าเชิงพาณิชย์มากขึ้น
เพื่อยกระดับรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมทั้งจะผลักดันให้ภาคเอกชน
ทำตลาดล่วงหน้าเพื่อให้มีตลาดรองรับที่แน่นอน
ด้าน พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กล่าวว่า การทำงานของทั้ง 3 กระทรวง
จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ฤดูกาลผลิตนี้เป็นต้นไป
ซึ่งแผนการบริหารจัดการข้าวครบวงจรเป็นงานที่ นบข. ได้มอบหมายให้ทั้ง 3 กระทรวง ร่วมกันดำเนินการและติดตามการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด
เพื่อปรับแผนการทำงานให้เกิดความเหมาะสม ซึ่งแผนการผลิตและการตลาดในครั้งนี้
จะดำเนินการเฉพาะในฤดูกาลผลิต 2559/2560 เท่านั้น
เพราะจะต้องมีการประเมินสถานการณ์ข้าวโลกประกอบด้วย
ปัจจุบันเรามีพื้นที่เพาะปลูก ทั้งประเทศ 130 ล้านไร่
มีพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่ประมาณ 67% ที่เหลือ
33% ไม่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก
ขณะนี้เรามีฐานข้อมูลแผนที่การเกษตรแล้ว โดยจำแนกเป็นรายจังหวัด อำเภอ
ซึ่งจะได้นำข้อมูลทั้งหมดมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อนำไปใช้
ประโยชน์ในการปรับแผนการเพาะปลูกข้าว รวมทั้งให้ข้อแนะนำแก่เกษตรกรในการเพาะปลูกให้เหมาะสมด้วย
สุดท้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ได้เน้นย้ำถึงการทำงานในระดับพื้นที่
ซึ่งปัจจัยความสำเร็จขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดในการตรวจติดตาม
โดยหัวใจสำคัญของแผนนี้ คือ “การควบคุมพื้นที่การเพาะปลูกให้เป็นไปตามเป้าหมาย”
ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดจะเป็นจิกซอว์สำคัญที่ทำให้เป็นภาพที่สมบูรณ์
เพื่อทำให้ได้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้
โดยการตรวจติดตามจะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้
ซึ่งเป็นพื้นที่ข้าวนาปีของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมจึงจะเป็นพื้นที่ข้าวนาปีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบน
และภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน
และเพื่อให้การติดตามงานในพื้นที่เพาะปลูกมีความสะดวกและแม่นยำมากยิ่งขึ้น
การทำงานในครั้งนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีการติดตามจาก GISTDA มาใช้
เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูล และ การตรวจสอบให้เป็นไปอย่างถูกต้อง แม่นยำ
และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น