เมื่อ 10 เม.ย. 59 นายกฤษฎา
บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า
ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินภารกิจด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายรัฐบาล
ภายใต้แผน Road Map 7 ขั้นตอนมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะด้านการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ ได้มอบหมายให้กรมการปกครองจัด
"ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย" บูรณาการการทำงาน
ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐ เช่น กระทรวงยุติธรรม
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ หน่วยตำรวจ ทหารในพื้นที่
รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน และพนักงานสอบสวนฝ่ายปกครอง ดำเนินการปราบปราม จับกุม
ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์และผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง
โดยมีการลงพื้นที่ตรวจสอบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น โรงงาน สถานประกอบการ สถานบริการ
ร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะที่อาจมีการลักลอบกระทำผิดกฎหมาย
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา สามารถช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และจับกุมผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์
ส่งให้พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งในการดำเนินคดีดังกล่าวนั้น
จำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาในการสอบสวน
และฟ้องคดีตามขั้นตอนเพื่อนำตัวผู้ที่กระทำผิดจริงมาลงโทษตามกฎหมาย
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา
17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 29 มีนาคม 2559
จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้
1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง
การอนุญาตให้คนต่างด้าวซึ่งเป็นพยานที่สืบพยานก่อนการฟ้องคดี
หรือระหว่างการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
2. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง
การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
สำหรับผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 2 )
โดยสาระสำคัญของประกาศฯ คือ การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวก
อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ
คือคนต่างด้าวที่เป็นผู้เสียหายและพยานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ สามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน
1 ปี และหากมีความจำเป็นตามข้อเท็จจริงแห่งคดี
สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 1 ปี
โดยให้จัดทำทะเบียนประวัติ
และบัตรประจำตัวสำหรับคนไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
ตามเงื่อนไขและวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด
นอกจากนี้ ในระหว่างการดำเนินคดี ให้หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
เช่นกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
พิจารณาดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การดูแล คุ้มครอง
รวมทั้งสิทธิประโยชน์แก่ผู้เสียหาย และพยานในคดีค้ามนุษย์ อาทิเช่น
การขออนุญาตทำงาน การบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ เป็นต้น
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า
การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
ถือเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการมาอย่างเข้มข้นทั้งด้านการป้องกัน
การปราบปราม การดำเนินคดี
และการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์
โดยยึดหลักการปฏิบัติงานตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
ควบคู่ไปกับการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยธรรม ทั้งนี้
เพื่อให้กลไกในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทุกมิติ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น