เมื่อ 2 เม.ย. 59 พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า
ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินโครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของประชาชน
เพื่อก่อให้เกิดการจ้างงาน การบริโภค และการลงทุนในพื้นที่
เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง
โดยได้กำหนดกรอบการดำเนินโครงการว่าจะต้องมาจากความต้องการของพี่น้องประชาชนโดยตรง
เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 และเสร็จสิ้นโครงการในวันที่
31 มีนาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยจึงขอเรียนให้ทราบถึงผลการดำเนินงานภายหลังเสร็จสิ้นโครงการ
ดังนี้
1.โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
(ตำบลละ 5 ล้านบาท) จำนวน 7,255 ตำบล
มีโครงการที่ได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณ 121,238 โครงการ
เป็นเงิน 35,755ล้านบาท มียอดเบิกจ่ายงบประมาณและก่อหนี้ผูกพันในระบบภายในวันที่
31 มีนาคม 2559 รวมทั้งสิ้น 34,453
ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 98 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
ในจำนวนนี้มียอดที่มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 20,223 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 3 เป็นโครงการที่ขอใช้ที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
และอุทยานแห่งชาติ และเงินที่เหลือจ่ายจากการดำเนินโครงการ
2.โครงการมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจนในการเสริมสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน
(งบสร้างงาน สร้างอาชีพ) มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติจัดสรรงบประมาณ จำนวน 3,827
โครงการ เป็นเงิน 3,200 ล้านบาทมียอดเบิกจ่ายงบประมาณและก่อหนี้ผูกพันในระบบภายในวันที่
31 มีนาคม 2559 จำนวน 2,726 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 85 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร
ในจำนวนนี้มียอดที่มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 2,280 ล้านบาท
3.โครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
มีโครงการที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 421 รายการ เป็นเงิน 254
ล้านบาท ดำเนินการในพื้นที่ 21 จังหวัด
สามารถเบิกจ่ายงบประมาณและก่อหนี้ผูกพันในระบบได้เป็นจำนวน 230 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90 ของงบประมาณได้รับจัดสรร
ในจำนวนนี้มียอดที่มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 176 ล้านบาท
4.มาตรการส่งเสริมการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล
ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้รับการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่ส่วนราชการในสังกัด 6 หน่วยงาน จำนวน 4,105 รายการเป็นเงิน 2,286 ล้านบาทได้ก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายงบประมาณแล้วทั้ง 2,286 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 100 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร
รวมทั้ง 4 มาตรการมียอดการเบิกจ่ายแล้วภายใน
31 มีนาคม 2559 จำนวน 22,679 ล้านบาท และที่ได้ก่อหนี้ผูกพันในระบบเพื่อรอการเบิกจ่ายตามระเบียบ จำนวน 17,016
ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในเดือนเมษายนนี้อีกกว่า 1
หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดเล็ก
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559
อนุมัติขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ
โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล
โครงการมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและ คนยากจน
และโครงการสนับสนุนการจัดหาเครื่องจักรกลทางการเกษตรให้แก่กลุ่มสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร
ใน 2 กรณี คือ 1.ขยายระยะเวลาดำเนินโครงการและการเบิกจ่าย
เฉพาะโครงการที่ได้มีการก่อหนี้ผูกพันจนถึงขั้นจองเงินในระบบ (PO) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 จาก
“ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559”
เป็น “ดำเนินโครงการและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จตามสัญญา”(คาดว่าจะไม่เกินเดือนมิถุนายน 2559)และ 2.โครงการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล“เฉพาะโครงการที่จะต้องขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ
สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ในส่วนที่กำหนดให้ดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน
30 กันยายน 2559”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
กล่าวเพิ่มเติมว่าตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมา
กลไกของกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวข้องทุกระดับมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ
และพยายามอย่างเต็มกำลังความสามารถในการปฏิบัติงาน
ในครั้งนี้ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งได้มีการติดตามและแก้ไขปัญหา/อุปสรรคต่างๆ มาอย่างใกล้ชิด
เพื่อให้การทำงานทุกขั้นตอนเกิดความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส
ถูกต้องตามระเบียบกฎหมายของทางราชการ และตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ
อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัด อำเภอ ภาคเอกชน และที่สำคัญ
คือ ภาคประชาชนภายใต้การทำงานในรูปแบบ “ประชารัฐ” ที่เป็นพลังสำคัญในการทำงาน ในครั้งนี้จนสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาในท้องถิ่นและภูมิภาค
ก่อให้เกิดกิจกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับฐานรากมากมายกว่าแสนโครงการ
ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การซ่อมแซมหรือบูรณะทรัพย์สินสาธารณะ
การจ้างงานสร้างอาชีพการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรับปรุงแหล่งน้ำ
และการต่อยอดโครงการพระราชดำริเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกว่าหมื่นโครงการนำไปสู่การกระจายเม็ดเงินจำนวนกว่า
3.9 หมื่นล้านบาทลงไปในพื้นที่อย่างทั่วถึง
ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนไปในชุมชน
ช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกฝ่ายที่ได้ร่วมพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ภายใต้ “โครงการประชารัฐ”ซึ่งกระทรวงมหาดไทยจะเดินหน้าสานต่อพลังประชารัฐเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับฐานรากให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
และจะได้รวบรวมข้อมูลและประเมินผลความสำเร็จของโครงการทั้งก่อน ระหว่าง
และหลังดำเนินการนำเสนอต่อสาธารณชนให้ทราบต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น