วันนี้ (2 มิ.ย. 58) เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย
เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการในภาพรวม ซึ่งประกอบด้วย โครงการจัดการแก้ไขปัญหาขยะ
(พระนครศรีอยุธยา) งานก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะและงานขนย้ายขยะ
โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย
และโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่องจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
งานจัดซื้อครุภัณฑ์และวัสดุ รวมถึงรับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายไมตรี
อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า
ตามที่รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เพื่อเป็นต้นแบบในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาขยะอย่างเป็นระบบและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการเคลื่อนย้ายขยะสะสมค้างจากตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จำนวน 223,000 ตัน เสร็จเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานที่ฝังกลบแห่งใหม่และระบบกำจัดขยะด้วยเทคโนโลยีผลิตขยะเชื้อเพลิง
(RDF) ที่ตำบลมหาพราหมณ์ อำเภอบางบาล
โดยกระทรวงมหาดไทยได้รายงานผลความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
และรายงานความก้าวหน้าในการกำหนดพื้นที่ที่มีศักยภาพที่ใช้เป็นศูนย์กลางจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอย ในภาพรวมของประเทศที่จะรองรับปริมาณขยะมูลฝอยของทุกจังหวัดให้คณะรัฐมนตรีทราบ และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ
และร่วมกับกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาเตาเผาขยะให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่นต่อไปด้วย
สำหรับการประชุมในวันนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในภาพรวม
โดยในส่วนของการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะแห่งใหม่
มีผลงานความคืบหน้าเป็นไปตามแผนงานที่กำหนด อาทิ
งานก่อสร้างบ่อฝังกลบขยะมีผลงานคิดเป็นร้อยละ 80 งานก่อสร้างระบบบำบัด/เก็บกักน้ำเสีย มีผลงานคิดเป็นร้อยละ 72 เป็นต้น ในส่วนของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้จัดทำโครงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา
มีเป้าหมายในการกำจัดขยะชุมชนในพื้นที่เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ข้างเคียงได้ไม่น้อยกว่า 300 ตันต่อวัน โดยแปลงขยะชุมชนเป็นเชื้อเพลิงขยะ
(RDF)
ซึ่งคาดว่าจะทำให้การกำจัดขยะชุมชนเป็นไปอย่างเหมาะสมและแก้ไขปัญหาขยะล้นเมือง
นอกจากนี้
ยังได้ติดตามการดำเนินงานในเรื่องของการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การสร้างการส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอยของประชาชน
ซึ่งได้มีการจัดกิจกรรมมวลชนสัมพันธ์ จัดเวทีให้ความรู้
สร้างความเข้าใจแก่ชุมชนในพื้นที่ 6 ตำบล ใน 4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาขยะให้เกิดความยั่งยืน ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง “ต้นแบบ” ของการจัดการขยะและการรักษาสะอาดของบ้านเมือง
ซึ่งจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น