เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ประชาคมสมุทรสาครได้จัดให้มีการประชุมที่อาคารสระว่ายน้ำ ชั้น ๒ สโมสรสมฤดี
เพื่อติดตามความคืบหน้าของการคัดค้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดฯ
และปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินการในโอกาสต่อไป โดยที่ประชุมมีมติ ดังนี้
(๑) ยืนยันการใช้ประเด็น
“การคัดค้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
และสนับสนุนการขึ้นทะเบียนฐานรากป้อมวิเชียรโชฎกเพิ่มเติม
เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี” ในการทำงานต่อไป
เนื่องจากเป็นประเด็นหลักที่ประชาคมจังหวัดสมุทรสาครได้ดำเนินการมาแต่ต้น
(๒) กำหนดแนวทางในการดำเนินการในระยะต่อไป
เช่น ทำหนังสือถึงส่วนงานที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมศิลปากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
(ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล) หัวหน้า คสช. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ฯลฯ
จัดทำโครงการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับมวลชน
ด้วยการจัดทำซุ้มประชาสัมพันธ์ และเปิดเวทีอภิปราย ในวันที่ ๗ มีนาคม
ที่ข้างศาลเจ้าพ่อหลักเมือง รวมทั้งให้ความรู้กับนักเรียนและนักศึกษาด้วย
เหตุผลในการคัดค้านการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
ของกลุ่มประชาคมจังหวัดสมุทรสาคร มีดังนี้
๑. สำนักอัยการสูงสุด
จะทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
ในพื้นที่ราชพัสดุที่มีเนื้อที่เพียง ๓ งาน ๗๕ ตารางวา ซึ่งเป็นอาคารสูง ๗ ชั้น
มีความสูงประมาณ ๒๕ เมตร ในบริเวณพื้นที่
ที่อยู่ในชุมชนเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นอยู่แล้ว (ใกล้ทางเข้าตลาดมหาชัย)
จะทำให้เกิดการจราจรติดขัดเพิ่มขึ้นจนเป็นอุปสรรคในการคมนาคมของจังหวัด
๒. แม้ว่าภายในอาคารจะมีการออกแบบให้มีพื้นที่จอดรถ
แต่ก็มีพื้นที่เพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับข้าราชการ และเจ้าหน้าที่
รวมทั้งประชาชนที่จะต้องเดินทางมาติดต่องานกับเจ้าหน้าที่ในสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครที่จะสร้างขึ้นใหม่
ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คัน ทำให้ต้องไปหาที่จอดรถภายนอก
ซึ่งขณะนี้ในบริเวณใกล้เคียงก็ประสบปัญหาจารจรติดขัดและไม่มีพื้นที่จอดรถอยู่แล้ว
จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้น
๓. ข้อเท็จจริงปรากฎว่า
ในพื้นที่ราชพัสดุแปลงที่สำนักอัยการสูงสุด
จะทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร ได้มีการขุดพบฐานรากของกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก” ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
ขึ้นใหม่ โดยกรมศิลปากรจะต้องทำการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมจากแนวกำแพงป้อมฯเดิม
หากสำนักอัยการสูงสุด
จะทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครตามแบบเดิม
จะต้องสร้างทับซ้อนกับฐานรากของกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก”
ที่ขุดพบขึ้นใหม่นี้ ซึ่งหากยังดื้อดึงที่จะดำเนินการ
จะเป็นการกระทำที่
(๑) ขัดกับพระราชบัญญัติโบราณสถาน
โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔
(๒) ขัดกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
๑๖ เมษายน ๒๕๑๘ ที่ได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ
โดยพิจารณาเห็นว่าต่อไปหากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจใดมีการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใกล้เคียงโบราณสถานดังกล่าวขอให้หารือไปยังกรมศิลปากรก่อน
เพื่อประโยชน์ในการสงวนรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติให้ยืนยงตลอดไป
และได้อนุมัติในหลักการเพื่อให้กระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจทุกแห่งถือปฏิบัติต่อไป
(๓) ขัดกับมติคณะกรรมการวิชาการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน
เรื่องแนวทางในการควบคุมสิ่งก่อสร้างอื่นใดที่สร้างในบริเวณคูเมือง-กำแพงเมือง
ให้ดำเนินการ รวม ๓ ประการ
ที่ทั้งกรมศิลปากรและกรมธนารักษ์ได้ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการอนุรักษ์โบราณสถานและภาพลักษณ์ของเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานสืบต่อกันมา
(๔) ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่ดินราชพัสดุที่ได้ผู้แทนสำนักอัยการสูงสุดได้ลงนามในบันทึกรับทราบแนวเขตและยินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่ราชพัสดุ
ร่วมกับผู้แทนกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นส่วนราชการผู้อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุ
โดยยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกข้อโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะข้อ ๕ ที่กำหนดไว้
ดังนี้ “๕. กรณีที่จะดำเนินการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต
จะต้องประสานงานและตรวจสอบ
รวมทั้งปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้วย”
(๕) เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับส่วนราชการอื่นในการไม่เคารพกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี
รวมทั้งแนวทางในการควบคุมสิ่งก่อสร้างอื่นใดที่สร้างในบริเวณคูเมือง-กำแพงเมือง
(๖) ทำลายความรู้สึกและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสำนักอัยการสูงสุดและข้าราชการในสำนักงานที่เป็น
“ทนายของแผ่นดิน” ที่ควรเป็นผู้ที่เคารพกฎหมาย
และทำตนเป็นตัวอย่างให้กับประชาชน มากกว่าจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง
๔. การก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
ในพื้นที่ดินแปลงนี้
เป็นการทำร้ายความรู้สึกของประชาชนชาวสมุทรสาครและผู้ศรัทธาต่อศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ที่จะทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
เนื่องจากมีความสูงกว่าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองถึงเกือบ ๒๐ เมตร
ซึ่งมีลักษณะของการค้ำและข่มความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองที่ประชาชนมีความเคารพศรัทธามาช้านาน
อีกทั้งประชาชนเกรงว่าจะเกิดอาเพศในบ้านเมือง และอัปมงคลต่อประชาชนชาวสมุทรสาคร
เพราะอาคารสูงย่อมมีสิ่งปฏิกูลที่เกิดจากห้องน้ำต่างๆ
ที่อาจปลิวตกมายังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองอันเป็นที่เคารพบูชาของตน เนื่องจากในอดีต
เคยมีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นกับชาวสมุทรสาครหลายครั้ง เมื่อมีการย้ายเจ้าพ่อหลักเมืองไปตั้งในศาลหลักเมืองสมุทรสาครซึ่งสร้างขึ้นใหม่ในขณะนั้น
จนท้ายที่สุด ต้องมีการย้ายเจ้าพ่อหลักเมืองกลับมาตั้งยังศาลเดิม
เหตุอาเพศต่างๆจึงสงบลง นำมาซึ่งความสงบสุขให้กับชาวสมุทรสาครอีกครั้งหนึ่ง
ทำให้ประชาชนเชื่อว่า การก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาครสูง ๗
ชั้นในครั้งนี้
อาจนำมาซึ่งเหตุอาเพศใหม่ที่นำมาซึ่งความเดือดร้อนและความไม่สงบให้กับประชาชนและผู้อยู่อาศัยในจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้ง
๕. ชาวสมุทรสาครต้องการสร้างพื้นที่ในบริเวณ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” เพื่อพัฒนาให้เป็น
“อุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี” เพื่อเป็นปอดของเมือง
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ลานกิจกรรม
และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสมุทรสาคร
โดยต้องการให้มีการจัดสร้างกำแพงป้อมฯในส่วนที่ขาดหายไปทดแทนขึ้นใหม่อีกครั้ง
ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีการย้ายสิ่งก่อสร้างต่างๆที่อยู่ภายในออกไปแล้ว
มีการปรับภูมิทัศน์ และกำลังประสานงานให้ส่วนราชการที่มีอาคารในบริเวณใกล้เคียงกับ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” ให้รื้ออาคารและย้ายออกไปด้วย
เพื่อให้เห็นความสง่างามของกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก”
ดังเช่นในอดีต โดยไม่ถูกถูกปิดบังด้วยอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่
และเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติแห่งนี้ไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง
ซึ่งหากสำนักอัยการสูงสุดยังดื้อดึงที่จะดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสมุทรสาคร
จะตอบโจทย์หน่วยงานที่ได้ย้ายออกไปแล้วและกำลังประสานให้รื้ออาคารและย้ายออกไปอย่างไร
๖. สำนักอัยการสูงสุด
มีทางเลือกที่จะมีที่ทำงานที่เหมาะสมและเพียงพอต่อเจ้าหน้าที่ทั้งหมดได้
โดยมีทางเลือก ๒ ประการ คือ
(๑) ชาวสมุทรสาครได้เสนอพื้นที่อื่นที่มีขนาดกว้างขวางกว่าพื้นที่ราชพัสดุ
แปลงเลขที่ ๓๗ ให้เป็นทางเลือก แต่สำนักอัยการสูงสุดไม่สนใจที่จะพิจารณา
(๒) ขณะนี้
ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครกำลังพิจารณาหาสถานที่ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดหลังที่
๒ เพื่อเป็นสำนักงานให้กับส่วนราชการต่างๆที่ยังไม่มีสำนักงานของตนเอง
รวมทั้งปรับปรุงศาลากลางหลังเดิมให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ซึ่งสำนักงานอัยการจังหวัดสามารถที่จะใช้เป็นสำนักงานใหม่ได้
เหตุผลในการเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมฐานรากกำแพงในส่วนที่ค้นพบขึ้นใหม่
และพัฒนา “ป้อมวิเชียรโชฎก” ให้เป็น
“อุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี” ของกลุ่มประชาคมจังหวัดสมุทรสาคร
มีดังนี้
๑. เหตุผลในการเสนอให้มีการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมฐานรากกำแพงของ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” ในส่วนที่ค้นพบขึ้นใหม่
มีดังนี้
(๑) เนื่องจาก
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน “ป้อมวิเชียรโชฎก”
(กำแพงป้อมฯทั้งหมด) เป็นโบราณสถานของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม
๑๐๖ ตอนที่ ๒๒๐ วันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๒ โดยมีเนื้อที่ประมาณ ๑๔ ไร่ ๒ งาน ๑๐
ตารางวา โดยมีแผนที่แนบท้าย ที่ราชพัสดุแปลงที่ สค.๓๖
ซึ่งมิได้รวมส่วนที่ค้นพบขึ้นใหม่ (เอกสารแนบ ๑)
(๒) เนื่องจาก
กรมศิลปากรได้ขุดพบฐานรากกำแพงของ “ป้อมวิเชียรโชฎก”
ขึ้นใหม่ ในที่ราชพัสดุแปลงที่ สค.๓๗ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก” ที่ต่อเนื่องจากแนวกำแพงเดิมที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
ดังนั้น กรมศิลปากรจึงต้องขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก”ส่วนที่พบใหม่ เพื่อให้เกิดความครบถ้วนและสมบูรณ์ของกำแพงป้อมทั้งหมด
(เอกสารแนบ ๒)
๒. เหตุผลในการเสนอให้มีการพัฒนา
“ป้อมวิเชียรโชฎก” ให้เป็น “อุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี”
มีดังนี้
(๑) ชาวสมุทรสาครต้องการสร้างพื้นที่ในบริเวณ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” เพื่อพัฒนาให้เป็น “อุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี” ซึ่งเป็นการอนุรักษ์โบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติแห่งนี้ไว้ให้กับอนุชนรุ่นหลัง
โดยต้องการให้มีการจัดสร้างกำแพงป้อมฯในส่วนที่ขาดหายไปทดแทนขึ้นใหม่อีกครั้ง
มีการปรับภูมิทัศน์ เพื่อให้เห็นความสง่างามของกำแพง “ป้อมวิเชียรโชฎก”
ดังเช่นในอดีต โดยไม่ถูกถูกปิดบังด้วยอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่
(๒) ชาวสมุทรสาครต้องการให้พื้นที่ในบริเวณ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” นี้ เป็นปอดของเมือง
เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ และลานกิจกรรม ของคนสมุทรสาคร
โดยมีการปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน
(๓) ชาวสมุทรสาครต้องการสร้าง
“อุทยานประวัติศาสตร์สาครบุรี” เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของเมืองสมุทรสาคร
เป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของเมืองให้กับผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ
เนื่องจากเมืองสมุทรสาคร
เคยเป็นเมืองที่มีความสำคัญในอดีตทั้งทางการค้าระหว่างประเทศ
(เมืองท่าจีน-ท่าเรือขนถ่ายสินค้าจากเรือสำเภาเพื่อไปค้าขายที่อยุธยา) การประมงและการค้าสัตว์น้ำ
(การเสด็จมาทรงเบ็ดของพระเจ้าเสือ และการประมงยุคใหม่) การปกครอง
(ท่าฉลอมสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรก) ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม (วัดใหญ่จอมปราสาท)
อุตสาหกรรม (โรงหีบอ้อย-ปล่องเหลี่ยม) และความมั่นคงของชาติ
(การป้องกันประเทศทางเรือตั้งแต่สมัยอยุธยา) ฯลฯ
(๔) ผู้ว่าราชการจังหวัดในปัจจุบันได้สนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหน้าของ
“ป้อมวิเชียรโชฎก” ให้เป็นลานกิจกรรมของประชาชน
เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนา “อุทยานประวัฒิศาสตร์สาครบุรี”
ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและพักผ่อนหย่อนใจของบุคคลทั่วไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น