pearleus

วันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะกับ CAT เพาะพันธุ์ดี นำ IoT ส่งเสริมเยาวชน ณ โรงเรียนมัธยมหลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ

ความยั่งยืนในวิถีเกษตรเป็นสิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะเกษตรกรมุ่งหวังว่าจะช่วยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น โอกาสจึงไม่เกินเอื้อม


"CAT เพาะพันธุ์ดี’ เป็นโครงการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เลือกนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้าง Smart Farm หรือ‘พื้นที่เกษตรอัจฉริยะ’ เพื่อช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลา เพิ่มความสะดวก และเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ  โดยช่วงเริ่มต้นเน้นไปที่โรงเรียนเพราะสามารถต่อยอดสู่การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน  โดยอาจารย์และนักเรียนจะได้รับประสบการณ์จริงจากการทดลองทดสอบร่วมกัน"

หนึ่งในโรงเรียนต้นแบบที่ CAT พิจารณาเลือกจัดทำโครงการคือ ‘โรงเรียนมัธยมหลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ’ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โรงเรียนแห่งนี้เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดกลาง ที่มุ่งให้ความรู้ทางด้านวิชาการควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ที่หลากหลายเพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองได้ตามความสนใจ  โดยโครงการด้านเกษตรกรรมได้รับการจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียนไว้สำหรับส่งเสริมการเรียนรู้และฝึกให้ทำงานร่วมกัน
   
เมื่อโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ ก้าวเข้ามาเยี่ยมเยือน อาจารย์และนักเรียนที่นี่จึงพากันเปิดใจเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่าง IoT หรือ Internet of Things ว่าจะมาช่วยเติมความหวังและเปิดโอกาสให้กับพวกเขาได้อย่างไรบ้าง
   
การดำเนินงานเริ่มต้นขึ้นเมื่อทีมงาน CAT ลงสำรวจสภาพพื้นที่เพื่อพิจารณาการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาปรับใช้ในการพัฒนา Smart Farm จากสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่เดิม  จากนั้นร่วมกันพัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์
พร้อมทั้งเชื่อมโยงระบบต่าง ๆ ได้แก่ ระบบรดน้ำอัตโนมัติ  ระบบควบคุมอุณหภูมิ/ความชื้นในดินและอากาศ ให้กับแปลงเกษตรที่ใช้ปลูกผักสำหรับนำมาทำอาหารกลางวันให้นักเรียน  แล้วจึงจัดทำแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมและสั่งการระบบต่าง ๆ ที่ได้ติดตั้งไว้  รวมถึงทดลองใช้งานโดยมีการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำผลมาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการปลูกพืชแต่ละชนิด  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงและควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ที่จะช่วยเพิ่มทั้งคุณภาพและปริมาณของผลผลิต

“อาจารย์และนักเรียนตื่นเต้นที่ได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยและสนใจอยากเรียนรู้  โดยเฉพาะระบบรดน้ำอัตโนมัติที่มาช่วยควบคุมทำให้ไม่เปลืองน้ำและรดได้ตรงจุดที่ต้องการเพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง  เด็ก ๆ จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น  ซึ่งนอกเหนือจากความภูมิใจที่ได้รับประทานผลผลิตจากฝีมือตัวเองแล้ว ยังสามารถนำไปขายและมีรายได้เพิ่ม ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอีกด้วย  โอกาสแบบนี้ไม่ได้มีมากนักสำหรับโรงเรียน เพราะอาจารย์เองก็ไม่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีในด้านนี้  แต่เราอยากให้นักเรียนของเราได้เรียนรู้  เพราะสิ่งเหล่านี้คืออนาคตที่จะเข้ามาช่วยพวกเขาได้” นางสาววาสนา พรศิวกุลวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมหลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เล่าถึงความรู้สึกและผลที่ได้รับต่อการเข้าร่วมโครงการ CAT เพาะพันธุ์ดี

ขณะที่ ด.ช.ณัฐวัตร เทินสะเกช น้องโอม นักเรียนชั้น ม.2/2 และ น.ส.สุนิสา ทิขุนทด น้องเนย นักเรียนชั้น ม.4/1  ช่วยกันเล่าถึงการเข้าร่วมโครงการ CAT เพาะพันธุ์ดีว่า “ได้ลองใช้งานอุปกรณ์ IoT แล้วคิดว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาก ใช้งานได้ง่ายมาก เมื่อใช้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ช่วยให้กำหนดการทำงานได้เป็นระบบตามที่ต้องการ ไม่ต้องเดินรดน้ำหลายรอบเหมือนการดูแลแปลงผักแบบเดิม ผลผลิตมีคุณภาพดีกว่า ดีใจมากที่ได้เรียนรู้ อยากให้เกษตรกรทุก ๆ คน ได้เข้ามาเรียนรู้กันเยอะๆ เพราะมีประโยชน์จริง ๆ หากมีโอกาสก็อยากร่วมถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ ให้ขยายออกไปอีก”

ในการส่งมอบเทคโนโลยี ‘เกษตรอัจฉริยะ’ ในโครงการ CAT เพาะพันธุ์ดี ให้กับโรงเรียนแห่งนี้ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ผศ. อภิเนตร อูนากูล ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดีและส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสังคมและ พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT นำคณะผู้บริหารในสังกัดของทั้งสองหน่วยงานเข้าร่วม  แสดงถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการนำเทคโนโลยี IoT และองค์ความรู้สู่โรงเรียนในโครงการ

ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ กล่าวขอบคุณ CAT ที่เลือกโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่

“นครราชสีมาเป็นจังหวัดใหญ่ มีประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรจำนวนมาก การมีต้นแบบให้ได้เรียนรู้ภายในพื้นที่จะสะดวกต่อการขยายผลให้ทั้งในชุมชนเอง บริเวณพื้นที่ใกล้เคียง เด็กนักเรียนก็จะนำไปบอกผู้ปกครองให้ทราบด้วย อยากให้ CAT ขยายเพิ่มเติมไปยังโรงเรียนอีก 8-10 โรงเรียนตามที่เราแบ่งไว้เป็น 6 กลุ่ม เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนทั้ง 58 แห่งได้ศึกษาเรียนรู้ เพราะได้เห็นแล้วว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเหมาะสมนั้นช่วยให้ประชาชนสะดวกขึ้น ลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องจ้างแรงงาน  เราสามารถควบคุมการรดน้ำ การให้ปุ๋ย พืชผลที่ออกมามีคุณภาพดีขึ้นชัดเจน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้และจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”

ส่วนพันเอก สรรพชัย กล่าวถึงเจตนารมณ์ในการจัดทำ Smart Farm โดยใช้โครงข่าย LoRaWAN ในโครงการ CAT เพาะพันธุ์ดี ว่า CAT ดำเนินโครงการดังกล่าวในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลและให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลของประเทศ


“วัตถุประสงค์หลักของ CAT คือให้นักเรียนได้ใกล้ชิดและเข้าใจเทคโนโลยีในการนำมาใช้กับ Smart Farm เพราะบทบาทสำคัญของ CAT ประการหนึ่งก็คือการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและช่วยให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น  การนำความรู้เข้าสู่โรงเรียนจะช่วยขยายผลถ่ายทอดต่อไปยังชุมชนได้อีกทางหนึ่ง  โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการให้แก่โรงเรียนต้นแบบในทุกภาครวมจำนวน 7 แห่งตั้งแต่ปี 2562  และ CAT จะขยายต่อไปอีก เรื่อย ๆ รวมทั้งวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ  ขณะเดียวกันเราก็ยังคอยกลับมาดูแลโรงเรียนที่ดำเนินการไปแล้วให้สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง  ในอนาคต CAT ตั้งใจว่าจะพัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่ไม่ต้องใช้คนดูแล เพียงเราระบุชนิดของพืชที่ปลูก  ระบบก็สามารถควบคุมและสั่งการในการดูแลอย่างเหมาะสมได้เองเลย  และหวังว่าโครงการ CAT เพาะพันธุ์ดี จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคการเกษตรของประเทศมีความก้าวหน้าและยั่งยืนด้วยเทคโนโลยี IoT”

การดำเนินโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ จึงไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์ในการเรียนรู้ แต่ยังสัมผัสได้ถึงการนำมาซึ่งความหวังทั้งของอาจารย์และนักเรียนในโรงเรียนต้นแบบที่เข้าโครงการ  โดยขอเอาใจช่วยให้โครงการดี ๆ เช่นนี้เดินหน้าและกระจายโอกาสสู่พื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงตามที่ CAT ตั้งเป้าหมายไว้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น