pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

รมช.มท. ลงพื้นที่ท่าจีนตรวจเยี่ยมการบริหารจัดระบบบําบัดน้ำเสีย



วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 13.00 น. ที่บริเวณท่าเรือหน้าวัดชีผ้าขาว ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมนายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 5 และคณะ ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนที่เทศบาลตำบลท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายรังสรรค์ เจียระไน นายกเทศมนตรีตำบลท่าจีน นายอำเภอ ส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่นท้องที่ และภาคประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ ทั้งนี้ คณะของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหมาดไทย และคณะของจังหวัดสมุทรสาคร ได้ลงเรือเพื่อตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการน้ำเสียของเทศบาลตําบลท่าจีน ด้วยวิธีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเสียตลอดแนวลำน้ำท่าจีน และดูสภาพน้ำในแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่บริเวณวัดชีผ้าขาว วัดใหญ่จอมปราสาท วัดหลังศาลประสิทธิ์ จนไปถึงสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน
จากนั้น เดินทางไปสถานีติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชมขนาดเล็ก ที่หน้าวัดหลังศาลประสิทธิ์ ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง เพื่อมอบนโยบายและเยี่ยมชมการดำเนินงานและการบริหารจัดการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนขนาดเล็ก พร้อมดูการสาธิตการตรวจสอบคุณภาพน้ำหลังจากการบำบัด สำหรับ ระบบบําบัดน้ำเสียรวมของชุมชนที่เทศบาลตําบลท่าจีน เป็นระบบบําบัดน้ำเสียชุมชนขนาดเล็ก ออกแบบและก่อสร้างโดยองค์การจัดการน้ำเสีย กระทรวงมหาดไทย ซึ่งระบบบําบัดน้ำเสียรวมของชุมชนของเทศบาลตําบลท่าจีน มีความสามารถในการบําบัดน้ำเสีย จำนวน 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เริ่มเดินระบบรวมทั้งบริหารจัดการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา ซึ่งผลการดําเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ น้ำทิ้งที่ผ่านการบําบัดมีคุณภาพที่ดีขึ้นเป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบบําบัดน้ำเสียรวมของชุมชน
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เป็นต้นแบบของการจัดการน้ำเสียของชุมชนร่วมกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเทศบาลตำบลท่าจีน กับ องค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) กระทรวงมหาดไทย ที่ดูแลในเรื่องการการจัดการน้ำเสีย จะเห็นว่าถ้าชุมชนร่วมกันและก็การทำระบบขนาดเล็กบำบัดน้ำก่อนที่จะปล่อยน้ำลงสู่แหล่งธรรมชาติอย่างนี้จะเป็นต้นแบบช่วยให้คลองทุกคลองในประเทศไทยเป็นคลองน้ำใสได้ เพราะฉะนั้นการจัดการน้ำเสียของชุมชนจะก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นต้นแบบในความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ได้ขยายมากขึ้น เป็นต้นแบบให้ท้องถิ่นไปดูแลในพื้นที่ของแต่ละท้องถิ่นว่าจะทำอย่างไร จะให้มีระบบ ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม ในการที่จะมาแก้ปัญหาน้ำเสียร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือกับองค์การจัดการน้ำเสีย (อจน.) ด้วยก็ดี เป็นสิ่งที่กระทรวงมหาดไทย พยายามขับเคลื่อน พยายามผลัดดัน การจัดการน้ำเสียของประเทศเดินหน้า นั้นก็คือการลดน้ำเสียจากครัวเรือนต่างๆ ก่อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต้องให้มีการบำบัดเสียก่อน เราก็จะสามารถทำให้คลองทุกคลองในประเทศเป็นคลองน้ำใสได้ ต่อไป..
ข้อมูลจากสนง.ปชส.สมุทรสาคร


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น