pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

พม. จับมือม.มหิดล/ส.อนามัยฯ จัดประชุมวิชาการครั้งที่ 9 หัวข้อ “ครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคม (Thai Family in Social Transition)”



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 63 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 9 โดยปีนี้เป็นการประชุมในหัวข้อ “ครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคม (Thai Family in Social Transition)” ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือของ 3 องค์กร คือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมอนามัยครอบครัวประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานเปิดการประชุม และปาฐกถาเพ็ญศรี พิชัยสนิธ หัวข้อ “ครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน” และกล่าวรายงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พิทยา จารุพูนผล นายกสมาคมอนามัยครอบครัวประเทศไทย

จากนั้นได้ร่วมเสวนา เรื่อง สารพันปัญหาสู่การพัฒนาครอบครัวไทย ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พิทยา จารุพูนผล นายกสมาคมอนามัยครอบครัว ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ วงศ์อาษา ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการ ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับครอบครัว และภาคประชาสังคม สื่อมวลชน รวมทั้งสิ้น 350 คน




ศาสตราจารย์ฯ นพ. ปิยะสกล กล่าวว่า ครอบครัวเป็นสถาบันสำคัญที่เป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ มีหน้าที่หลักในการอบรมเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนให้เติบโตขึ้นเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่ปัจจุบันการแข่งขันทางเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดในสังคมทำให้พ่อแม่ต้องดิ้นรนออกทำงานนอกบ้าน จนไม่มีเวลาที่จะดูแลอบรมสั่งสอนลูกอย่างมีทิศทาง การพัฒนาความเป็นเมืองและโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร เพื่อความสะดวกสบายของคนในสังคม ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความเข้มแข็งและความอบอุ่นของครอบครัวไทยลดลง เกิดปัญหาที่หลากหลาย ได้แก่ ปัญหาครอบครัวแตกแยก การหย่าร้าง ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาเด็กวัยรุ่นติดยาเสพติด ติดเกมส์ ความก้าวร้าวและการยกพวกตีกันของอันธพาลวัยรุ่น และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่นำไปสู่การทำแท้งและหมดอนาคตทางการศึกษา นอกจากนี้ยังพบปัญหาการค้ามนุษย์ การล่อลวงและอาชญากรรมทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน



ภาควิชาอนามัยครอบครัว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสมาคมอนามัยครอบครัวประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความสำคัญดังกล่าว จึงจัดประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ขึ้น ในหัวข้อ“ครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านทางสังคม” โดยมีประเด็นของการประชุมที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนเชิงวิชาการในการทำงานด้านครอบครัวและเด็ก เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว และร่วมกันหาแนวทางส่งเสริมครอบครัวให้มีความพร้อมต่อการดูแลสมาชิกให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ศาสตราจารย์ฯ นพ. ปิยะสกล กล่าว
ด้านนายกันตพงศ์ กล่าวว่า สค. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความมั่นคงและเข้มแข็ง โดยการประชุมวิชาการอนามัยครอบครัวแห่งชาติในครั้งนี้ สค. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำให้เกิดการต่อยอด การบูรณาการงานด้านวิชาการ ในการทำงานด้านครอบครัว เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งในเรื่องการกำหนดนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้วิชาการ และการบูรณาการการทำงานเชิงประเด็นและพื้นที่ร่วมกันในอนาคต เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้เกิดครอบครัว ชุมชน และสังคมที่มีคุณภาพ

โดยประเด็นที่จะนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย

ปาฐกถาเพ็ญศรี พิชัยสนิธ ครั้งที่ 9 : ครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่กล่าวถึงพัฒนาการของครอบครัวในสังคมไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน โครงสร้างของครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวทางรับมือกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว
การเสวนาเรื่องสารพันปัญหาสู่การพัฒนาครอบครัวไทย ที่มีมุมมองจากผู้นำองค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบด้านครอบครัว รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านครอบครัว เพื่อนำไปสู่แนวทางการจัดการกับปัญหาครอบครัวที่หลากหลายอย่างเป็นระบบ และพัฒนาครอบครัวไทยให้มีความเข้มแข็ง โดย 1) นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสถาบันครอบครัว 2) ศาสตราจารย์ ดร. วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ 3) รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ พิทยา  จารุพูนผล นายกสมาคมอนามัยครอบครัว ประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ วงศ์อาษา




การอภิปรายเรื่องพหุปัจจัยที่เป็นภัยต่อครอบครัว ที่มีมุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับครอบครัว รวมถึงมุมมองของสื่อมวลชนที่พบเห็นปัญหาครอบครัวและเหตุปัจจัยที่มาในหลากหลายรูปแบบ เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันหาแนวทางป้องกันและแก้ไขสาเหตุเหล่านั้น โดย 1) พล.ต.ท.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ และ 2) นายพีรพล  อนุตรโสตถิ์ ผู้ประกาศข่าว อสมท. ดำเนินรายการโดย รองศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์สุรางค์  เตชะบุญเสริมศักดิ์

การบรรยายพิเศษเรื่อง ครอบครัวยุคพลิกผัน โดย รศ. ดร.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ที่จะกล่าวถึงรูปแบบของครอบครัวที่เปลี่ยนไปจากดั้งเดิมที่เคยมีในอดีต เช่นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวผสม ซึ่งครอบครัวเหล่านี้มีความอ่อนไหวต่อปัญหาของครอบครัวที่จะเกิดขึ้นได้ง่าย
การอภิปรายเรื่อง คุณภาพครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่านสังคมไทย ในประเด็นอภิปรายที่จะประกอบด้วยคุณภาพของครอบครัวที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน แนวทางการเสริมสร้างคุณภาพของครอบครัวให้เข้มแข็งและมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาสมาชิกให้มีศักยภาพและเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดย 1) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย 2) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ วงศ์อาษา และ 3) นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบัน RLG (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะธิดา ขจรชัยกุล

การเสวนาเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ พ.ร.บ. ชีวิตคู่ เป็นมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการผู้ทำงานคุลกคลีกับครอบครัวและกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ถึงการสร้างครอบครัวของคนที่มีเพศเดียวกัน ที่ปัจจุบันสังคมและพรบ. ชีวิตคู่เปิดทางเลือกให้กลุ่มคนเหล่านี้มากขึ้น โดย 1) นายวัลลภ  ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา 2) นายแพทย์ศุภฤกษ์ ศรีคำ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี และ 3) ดร. ระพีพันธ์  จอมมะเริง ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดย ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบรมราชชนนี จังหวัดนครราชสีมา


การบรรยายเรื่อง เลี้ยงลูกสไตล์เอ็ดตะโรโฟนีโดยสุกรี โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มากประสบการณ์ของการใช้ดนตรีเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาและกล่อมเกลาด้านจิตใจของเด็ก ให้มีสุนทรียภาพทางอารมณ์ ลดความก้าวร้าวขัดแย้งและมีความฉลาดทางอารมณ์ ที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ง่าย
นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยแยกเป็น 2 ห้อง ได้แก่ห้องที่ 1 ในประเด็นครอบครัวไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.กนิษฐา จำรูญสวัสดิ์ และห้องที่ 2 การส่งเสริมสุขภาพทุกช่วงวัย โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม  นันทมงคลชัย ทั้งนี้มีผู้สนใจหลายรายส่งบทความวิชาการและบทคัดย่อเพื่อนำเสนอในเวทีนี้


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น