ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 62 นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ชี้แจงในกรณีการนำเสนอข่าวของคุณวรสลัญช์ ทวิกาญจน์ รองอันดับสอง Miss Tiffany Universe 2018 ถูกปฏิเสธไม่รับเป็นครู เพราะเพศสภาพ นั้น
อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้ชี้แจงในเบื้องต้นว่า กรณีดังกล่าว ทางกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.)ได้รับการประสานงานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 เพื่อขอให้ช่วยเหลือและขอคำแนะนำในการจัดทำคำร้องเพื่อที่จะยื่นต่ออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ซึ่งเมื่อกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ได้รับคำร้องดังกล่าวแล้วจะนำคำร้องยื่นต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) เพื่อพิจารณาดำเนินการโดยด่วน โดยจะมี
การประชุมคณะกรรมการ วลพ. ในวันที่ 14 พ.ค.62 นี้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ออกมาและมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ย. 58 แต่ดูเหมือนว่าปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ยังไม่ทุเลาลงไป ดังนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งภายใต้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยมีอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวเป็นประธานกองทุนฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องปัญหาการเลือกปฏิบัติเนื่องด้วยเพศสภาพ หรือปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็น
ธรรมระหว่างเพศ จึงได้จัดทำแผนงานสร้างความตระหนักรู้เรื่อง “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” แผนงานระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2562 – 2564) ขึ้น เพื่อเร่งให้ความรู้และสร้างความตระหนักในเรื่องการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ให้กับหน่วยงานงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวกำลังเร่งจัดทำ (ร่าง) แผนขับเคลื่อนการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งหากทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการดำเนินงาน จะส่งผลให้ปัญหาการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศนี้ลดลงได้ทั้งนี้ หากบุคคลใดเห็นว่าตนเองถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ยังไม่เกินหนึ่งปี สามารถมายื่นคำร้องได้ที่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตามแบบฟอร์ม วลพ. 1 (ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำในการกรอกแบบฟอร์ม) ดังนี้
1. ผู้ร้อง/ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำร้องได้ที่ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด หรือศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 แห่ง (จังหวัดเชียงราย ลำพูน ลำปาง ขอนแก่น ศรีสะเกษ ชลบุรี นนทบุรี และสงขลา)
2. มายื่นด้วยตนเอง หรือส่งไปรษณีย์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ email : gidentity3@gmail.com 3. จากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่างๆ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ วลพ. พิจารณาไต่สวน ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง โดยการเรียกมาให้ข้อมูลทั้งสองฝ่าย และมีการลงพื้นที่เพื่อไต่สวนด้วย
4. คณะกรรมการ วลพ. จะดำเนินการพิจารณาเรื่องภายใน 90 วัน และหากไม่แล้วเสร็จจะขยายเวลาพิจารณาได้รวม 2 ครั้ง ๆ ละ 30 วัน รวมทั้งสิ้น 150 วัน และหากยังไม่เสร็จสิ้นประธานกรรมการ วลพ. จะพิจารณากำหนดมาตรการที่จะทำให้การพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
5. เมื่อกระบวนการวินิฉัยแล้วเสร็จ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจะมีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยให้ทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้องต่อไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินการวินิจฉัยในแต่ละกรณี หากผู้ร้อง ประสงค์จะรับการชดเชย เยียวยา ในรูปของเงิน (ซึ่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. จึงจะขอรับเงินชดเชยเยียวยาได้ ผู้เสียหายรายนั้น ๆ ต้องดำเนินการขอยื่นรับเงินชดเชยเยียวยาจากกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ตามแบบฟอร์ม กทพ. 3 ได้ ภายในเวลา 1 ปี นับจากได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น